แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 26เป็นของโจทก์หรือจำเลย ดังนี้ ประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวจึงคลุมไปถึงประเด็นตามคำให้การของจำเลยที่ให้การต่อสู้ว่า นิติกรรมการกู้ยืมเงินอำพรางนิติกรรมการซื้อขายที่ดินแล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาโต้แย้งว่า สัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมอำพรางการซื้อขายที่ดินพิพาท และเมื่อมารดาโจทก์ได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่มารดาจำเลยและจำเลยครอบครองต่อมา ที่ดินจึงตกเป็นของจำเลยแล้วนั้นเป็นฎีกาที่โต้เถียงข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง และที่จำเลยฎีกาว่า สัญญากู้เงินไม่สมบูรณ์เพราะไม่มีพยานลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของคู่สัญญาเป็นเอกสารที่รับฟังไม่ได้นั้น จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรของนางกิ้มฉุ้ย จำเลยเป็นบุตรของนางขิ้ม นางกิ้มฉุ้ยและนางขิ้มถึงแก่กรรมแล้ว นางกิ้มฉุ้ยมารดาโจทก์ยืมเงินนางขิ้มมารดาจำเลย 10,000 บาท และได้นำที่ดินนาตาม ส.ค.1 ให้ยึดถือไว้เป็นประกัน และยอมให้มารดาจำเลยทำนาต่างดอกเบี้ย เมื่อมารดาจำเลยถึงแก่กรรม จำเลยได้ทำนาแปลงดังกล่าวแทนดอกเบี้ยจนกระทั่งปัจจุบัน ต่อมาเดือนเมษายน 2532จำเลยไปยื่นเรื่องราวขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์โจทก์ไปคัดค้าน ที่นาทำนาได้เมื่อหักต้นทุนแล้วจะได้เงินปีละ1,000 บาท ขอให้พิพากษาว่าที่นาตามฟ้องเป็นของโจทก์ ให้จำเลยคืนที่นาให้โจทก์ พร้อมแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 26ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงินปีละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะคืนที่นาให้โจทก์
จำเลยให้การว่า สัญญากู้ยืมเงินระหว่างนางกิ้มฉุ้ยมารดาโจทก์และนางขิ้มมารดาจำเลยนั้นมิได้มีเจตนาผูกพันกัน หากแต่เป็นสัญญาอำพรางการซื้อขายที่ดินตามฟ้อง โดยมารดาโจทก์ขายที่ดินให้มารดาจำเลย 10,000 บาท เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2513 มารดาโจทก์ส่งมอบ ส.ค.1 และส่งมอบการครอบครองให้แก่มารดาจำเลยมารดาจำเลยได้ครอบครองทำประโยชน์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาถึงปี 2520มารดาจำเลยถึงแก่กรรม ที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นของจำเลยจำเลยได้ครอบครองและทำนาในที่ดินแปลงดังกล่าวในฐานะเจ้าของจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 12 ปีแล้ว จำเลยมิได้ทำนาต่างดอกเบี้ยโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่า ฟังได้ว่าที่พิพาทเป็นของมารดาโจทก์ให้มารดาจำเลยทำกินต่างดอกเบี้ยเงินกู้ไม่ใช่เป็นการซื้อขาย แต่โจทก์ยังไม่ได้ชำระหนี้เงินกู้ จึงไม่มีอำนาจบังคับให้จำเลยคืนที่พิพาท พิพากษายกฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าจำเลยได้ให้การไว้ด้วยว่า การทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินทำขึ้นเพื่อเป็นการอำพรางการซื้อขายที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 26 แต่ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดประเด็นไว้เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ด้วยว่า ที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 26 ดังกล่าวเป็นของโจทก์หรือจำเลย ซึ่งประเด็นดังกล่าวได้คลุมไปถึงประเด็นตามคำให้การจำเลยที่ให้การต่อสู้ว่านิติกรรมการกู้ยืมเงินอำพรางนิติกรรมการซื้อขายที่ดินทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ได้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวแล้วด้วย การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวจึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาโต้แย้งว่าสัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมอำพรางการซื้อขายที่ดินพิพาทและเมื่อมารดาโจทก์ได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่มารดาจำเลยและจำเลยครอบครองต่อมา ที่ดินจึงตกเป็นของจำเลยแล้วนั้นเป็นฎีกาที่โต้เถียงข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง และที่จำเลยฎีกาต่อมาว่า สัญญากู้เงินไม่สมบูรณ์เพราะไม่มีพยานลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของคู่สัญญาเป็นเอกสารที่รับฟังไม่ได้นั้นจำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน