คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 181/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำว่าผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1713 ที่มีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกนั้น หาจำต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะทายาทโดยธรรม หรือทางพินัยกรรมของผู้มรณะโดยตรง บุคคลใดก็ตามที่มีส่วนได้เสียในกองมรดกก็ชอบที่จะร้องขอได้ การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ให้ตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์คือควรตั้งทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่ใกล้ชิดกับเจ้ามรดกมากที่สุดและมีความประพฤติดี ในคดีแพ่งนั้นศาลต้องสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่และแม้จะให้เป็นพับกันไปก็ตาม

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นมารดาของนายสำเริงพุ่มส้มจีน เจ้ามรดกโดยเจ้ามรดกไม่ได้ทำพินัยกรรมและตั้งผู้จัดการมรดกไว้ การจัดการมรดกมีเหตุขัดข้องขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ขณะเจ้ามรดกถึงแก่ความตายนายสำราญ พุ่มส้มจีน ภริยาของเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่และทรัพย์มรดกยังไม่ได้แบ่ง ต่อมานางสำราญถึงแก่ความตาย ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบิดาของนางสำราญย่อมมีส่วนได้เสีย และมีสิทธิได้รับมรดกของเจ้ามรดก ผู้ร้องไม่สมควรจะเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง และแต่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก หรือผู้จัดการมรดกร่วมของเจ้ามรดก
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกและให้ยกคำร้องของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านมีว่าผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่ และสมควรตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ ในปัญหาแรก เห็นว่าคำว่าผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ที่มีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกนั้น หาจำต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะทายาทโดยธรรม หรือทางพินัยกรรมของผู้มรณะโดยตรงบุคคลใดก็ตามที่มีส่วนได้เสียในกองมรดกก็ชอบที่จะร้องขอได้ ซึ่งตามข้อเท็จจริงคดีนี้เมื่อนายสำเริง พุ่มส้มจีน เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์ของนายสำเริงที่มีอยู่ก่อนสมรสกับนางสำราญพุ่มส้มจีน และเป็นทรัพย์ที่นายสำเริงมีอยู่ในขณะถึงแก่ความตายย่อมเป็นมรดกที่ต้องตกได้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นมารดาบุตรของนายสำเริงทั้ง 3 คน และนางสำราญ ภริยาของนายสำเริงคนละส่วนเท่า ๆ กัน แต่ทรัพย์มรดกดังกล่าวยังไม่ได้แบ่งนางสำราญก็ถึงแก่ความตายเสียก่อนดังนี้ สิทธิในทรัพย์มรดกของนายสำเริงในส่วนที่ต้องตกได้แก่นางสำราญจึงเป็นมรดกของนางสำราญที่ต้องตกได้แก่ผู้คัดค้านและนางถุง น้อยรูปเรา บิดามารดาของนางสำราญรวมทั้งบุตรของนางสำราญทั้ง 3 คน ผู้คัดค้านย่อมมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่เป็นมรดกของนายสำเริงด้วยตามส่วนถือได้ว่าผู้คัดค้านมีส่วนได้เสียที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ ในปัญหาหลังนั้นต้องคำนึงถึงบทบัญญัติในมาตรา 1713ในข้อที่ว่า การตั้งผู้จัดการมรดกนั้นให้ตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์ ในกรณีนี้ควรตั้งทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่ใกล้ชิดกับเจ้ามรดกมากที่สุด ที่ศาลล่างทั้งสองตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกนั้น เห็นว่า ผู้ร้องเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก มีสิทธิได้รับมรดกร่วมกับทายาทคนอื่น ๆ และเป็นผู้มีความประพฤติดี ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 1718 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็นการสมควรและเหมาะสมแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161กำหนดให้ศาลต้องสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ แม้จะให้เป็นพับกันไปก็ตาม แต่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็มิได้สั่งแก้ไขในเรื่องนี้ จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share