คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6569/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การปลูกสร้างอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 77 ต้องเป็นกรณีปลูกสร้างอาคารในท้องที่ที่มีอาคารเป็นจำนวนมากปลูกสร้างอยู่ในที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ และมีสภาพหรืออาจทำให้เกิดสภาพที่ไม่เหมาะสม หรือไม่ปลอดภัยในการอยู่อาศัย การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมืองและการอำนวยความสะดวกแก่การจราจร และจะต้องมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปรับปรุงอาคารในท้องที่นั้นด้วย ข้อเท็จจริงเหล่านี้จำเลยมิได้ยกขึ้นอ้างหรือนำสืบในศาลชั้นต้นและไม่ปรากฏในสำนวนจึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195ประกอบด้วยมาตรา 225 จำเลยปลูกสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต และเป็นเจ้าของอาคารซึ่งตามมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522ถือว่าเป็นผู้ดำเนินการจึงต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ปรับวันละ 1,000 บาท และเมื่ออาคารที่ปลูกสร้างเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรมจึงเป็นอาคารตามมาตรา 70 อีกมาตราหนึ่งศาลอุทธรณ์มีอำนาจปรับจำเลยเพิ่มอีกสิบเท่าเป็นปรับวันละ 10,000 บาท ชั้นอุทธรณ์ โจทก์อุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42 วรรคสอง65 วรรคสองและ 70 ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษปรับจำเลยทั้งสามวันละ 5,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนซึ่งเท่ากับว่าโจทก์ไม่ติดใจขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 69 อีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษปรับจำเลยวันละ 10,000 บาท จึงเป็นการพิพากษาเกินกว่าอุทธรณ์ของโจทก์ เป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามสำนวนต่างเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินชายหาด และก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาตเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารแล้ว ก็ไม่ปฏิบัติตามขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน และพระราชบัญญัติควบคุมอาคารให้จำเลยรื้อถอนอาคาร และให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินจำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9, 108 ทวิ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21,40, 42, 65, 67, 69, 70 ความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ให้รื้อถอนอาคาร ปรับคนละ 500 บาท ต่อ 1 วัน ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนและให้จำเลยรื้อถอนอาคาร ให้จำเลยกับบริวารออกไปจากที่พิพาทโจทก์และจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยทั้งสามคนละ 10,000 บาท ต่อวัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2ที่ว่ากรณีของจำเลยเป็นกรณีที่ต้องด้วยพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 77 เมื่อโจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยตามบทมาตรานี้ จึงลงโทษจำเลยไม่ได้นั้น เห็นว่า การปลูกสร้างอาคารของจำเลยต้องด้วยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 77 หรือไม่จะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเสียก่อน ตามบทกฎหมายดังกล่าวข้อเท็จจริงจะต้องได้ความว่า ท้องที่ที่จำเลยปลูกสร้างอาคารเป็นบริเวณที่มีอาคารเป็นจำนวนมากปลูกสร้างอยู่ในที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ และมีสภาพหรืออาจทำให้เกิดสภาพที่ไม่เหมาะสม หรือไม่ปลอดภัยในการอยู่อาศัย การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมืองและการอำนวยความสะดวกแก่การจราจร และจะต้องมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปรับปรุงอาคารในท้องที่นั้น ข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายตามที่จำเลยฎีกาแต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ยกขึ้นอ้างหรือนำสืบในศาลชั้นต้นข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่ปรากฏในสำนวน ทั้งเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแต่ในศาลชั้นต้น ฎีกาข้อกฎหมายที่จำเลยที่ 1 และที่ 2ยกขึ้นอ้าง จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 ประกอบด้วยมาตรา 225 ศาลฎีกาวินิจฉัยให้ไม่ได้
จำเลยที่ 3 ฎีกาอีกว่า ศาลอุทธรณ์จะปรับจำเลยวันละ 10,000 บาทไม่ได้ เพราะกรณีไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 34, 70 นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของอาคารที่ปลูกสร้างขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่สั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารภายในกำหนดขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21,40, 42, 65, 67, 69, 70 และทางพิจารณาได้ความดังฟ้องโจทก์กรณีจึงต้องด้วยพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 21, 42, 65, 69, 70ซึ่งมาตรา 65 วรรคสอง กำหนดระวางโทษปรับวันละ 500 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องและเมื่อจำเลยเป็นเจ้าของอาคารซึ่งถือว่าเป็นผู้ดำเนินการตาม มาตรา 69 จึงต้องระวางโทษเป็นสองเท่าเป็นปรับวันละ 1,000 บาท นอกจากนั้น อาคารที่จำเลยปลูกสร้างยังเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรมต้องตามมาตรา 70 อีกด้วยซึ่งกฎหมายกำหนดระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับเป็นสิบเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ หรือทั้งจำทั้งปรับดังนั้นศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจปรับจำเลยเพิ่มอีกสิบเท่า เป็นปรับวันละ 10,000 บาทได้ ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยทั้งสามฎีกาต่อไปว่า โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษปรับจำเลยเพียงวันละ 5,000 บาท ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาลงโทษปรับจำเลยวันละ 10,000 บาทไม่ได้ ในข้อนี้เห็นว่า ชั้นอุทธรณ์โจทก์อุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 42 วรรคสอง, 65 วรรคสอง, 70 การที่ศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลยทั้งสามในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคารเพื่อพาณิชยกรรมเพียงวันละ 500 บาทตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน เป็นการลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษปรับจำเลยทั้งสามวันละ 5,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน ซึ่งเท่ากับว่าโจทก์ไม่ติดใจขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 69 อีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษปรับจำเลยวันละ10,000 บาท จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าอุทธรณ์ของโจทก์เป็นการไม่ชอบ”
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับข้อหาฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคารภายในกำหนด ให้ลงโทษปรับจำเลยทั้งสามคนละ 5,000 บาทต่อวัน นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2527เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้งสามจะรื้อถอนอาคาร นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share