คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1816/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทพระภิกษุ ส. ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศและเป็นกรรมสิทธิ์ของพระภิกษุ ส. ในขณะถึงแก่มรณภาพ จึงตกเป็นสมบัติของวัดจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623 แต่วัดมิใช่ทายาทโดยธรรมของพระภิกษุที่ ถึงแก่มรณภาพตามมาตรา 1629 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ร้องขอให้ ศาลตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุ ส.จึงมิใช่กรณีทายาทร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกเพื่อจัดแบ่งมรดก ให้ทายาท การที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนรับโอนที่พิพาทในฐานะ ผู้จัดการมรดก จึงเป็นการถือกรรมสิทธิ์ที่พิพาทไว้แทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยผลแห่งกฎหมาย แม้ก่อนถึงแก่มรณภาพพระภิกษุ ส. ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยร่วม และจำเลยร่วมได้ผ่อนชำระค่าที่ดินครบถ้วนแล้ว แต่เมื่อพระภิกษุ ส. ถึงแก่มรณภาพ ที่ดินพิพาทตกเป็นสมบัติของจำเลยที่ 1 โดยเป็นที่ธรณีสงฆ์ซึ่งจะโอนกรรมสิทธิ์ ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 33(2) และมาตรา 34 การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกพระภิกษุ ส. จดทะเบียนโอนขายที่พิพาทให้จำเลยร่วมแม้โดยความเห็นชอบของจำเลยที่ 1 จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 หากจำเลยที่ 2ได้นำที่พิพาทไปทำสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่โจทก์ โจทก์ก็ไม่มีอำนาจ ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับนางขวัญเรือน และนิติกรรมที่ทำขึ้นภายหลังการจดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าว รวมทั้งใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 24445 ตามฟ้อง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจดทะเบียนโอนขายที่ดินตามฟ้องให้แก่โจทก์โดยรับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลืออีก 1,200,000 บาท จากโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 2ไม่เคยทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์ไม่เคยวางเงินมัดจำค่าที่ดิน 800,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ไม่เคยมอบโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ยึดถือไว้ สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้องเป็นเอกสารปลอม ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนางขวัญเรือน กิ่งทองสุข ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาตและหมายเรียกนางขวัญเรือนเข้ามาเป็นจำเลยร่วม
จำเลยร่วมให้การว่า พระภิกษุสมานทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยร่วมในราคา 370,000 บาท จำเลยร่วมชำระค่าที่ดินโดยวิธีผ่อนชำระครบถ้วนแล้วแต่พระภิกษุสมาน อาพาธ ตลอดมาไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยร่วมได้จนกระทั่งพระภิกษุสมานถึงแก่มรณภาพ ต่อมาจำเลยร่วมฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยร่วม คู่ความตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาล โดยจำเลยทั้งสองยินยอมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยร่วม หนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินตามฟ้องเป็นเอกสารปลอมขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาขอให้กลับคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองโดยพิพากษาให้เพิกถอนการออกใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทและนิติกรรมจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยร่วม กับบังคับให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาลของพระภิกษุสมาน สมบูรณ์จริง จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยให้รับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลืออีก1,200,000 บาท จากโจทก์นั้น เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาลของพระภิกษุสมานทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทของพระภิกษุสมานอันเป็นมรดกตกทอดแก่จำเลยที่ 1 และโดยความยินยอมของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ในราคา 2,000,000 บาท โดยโจทก์วางเงินมัดจำ 800,000 บาทส่วนที่เหลือตกลงชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์แสดงว่าที่ดินพิพาทเดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของพระภิกษุสมาน และตามสารบัญจดทะเบียนหลังโฉนดที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.2นายผ่อง เอมแย้ม ได้จดทะเบียนโอนขายให้แก่พระภิกษุสมานเมื่อปี 2516 โดยในช่องผู้รับสัญญาระบุชื่อว่าพระภิกษุสมาน สมบูรณ์จริงแสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของพระภิกษุสมานที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1623 ให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพ เว้นแต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม ฉะนั้นที่ดินพิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของพระภิกษุสมานในขณะถึงแก่มรณภาพจึงตกเป็นสมบัติของจำเลยที่ 1 โดยผลแห่งกฎหมายดังกล่าวซึ่งโจทก์ก็ยอมรับในคำฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกตกทอดแก่จำเลยที่ 1แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 2เป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุสมาน และศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุสมานตามคำร้อง ของจำเลยที่ 1 ตามสำเนาคำสั่งเอกสารหมาย จ.1 ก็ตามแต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ไม่ได้บัญญัติให้วัดเป็นทายาทโดยธรรมของพระภิกษุที่ถึงแก่มรณภาพ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นวัดร้องขอให้ศาลชั้นต้นตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุสมาน จึงมิใช่กรณีทายาทของเจ้ามรดกร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกเพื่อจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายและแบ่งปันแก่ทายาท ฉะนั้นแม้ตามสารบัญจดทะเบียนหลังโฉนดที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.2 จะปรากฏว่าในปี 2533 จำเลยที่ 2ได้จดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุสมานก็ตาม ก็ไม่ใช่กรณีจำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนทายาทเพื่อแบ่งปันแก่ทายาท แต่ต้องถือว่าจำเลยที่ 2ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินไว้แทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยผลแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น และแม้จะฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมนำสืบว่าจำเลยร่วมได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับพระภิกษุสมานตั้งแต่ปี 2528 และผ่อนชำระค่าที่ดินแก่พระภิกษุสมานครบถ้วนแล้ว แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเนื่องจากพระภิกษุสมาน อาพาธตลอดมา และถึงแก่มรณภาพเมื่อปี 2530 หลังจากนั้นจำเลยร่วมทวงถามให้จำเลยทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยร่วมต่อมาจำเลยร่วมกับคณะกรรมการจำเลยที่ 1 ตกลงทำบันทึกการซื้อขายที่ดินพิพาทอีกครั้งหนึ่งตามบันทึกของคณะกรรมการเอกสารหมาย ล.1 และในที่สุดจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของพระภิกษุสมานได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยร่วมเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2535 ตามสำเนาโฉนดที่ดินและสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 ก็ตามแต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า พระภิกษุสมานถึงแก่มรณภาพที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์สินของพระภิกษุสมานตกเป็นสมบัติของจำเลยที่ 1 โดยผลแห่งกฎหมายดังกล่าวแล้ว และตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 33(2) บัญญัติว่า ที่ธรณีสงฆ์คือที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด ดังนั้นจึงต้องถือว่าที่ดินพิพาทเป็นธรณีสงฆ์ของจำเลยที่ 1 และต้องบังคับตามมาตรา 34 ซึ่งบัญญัติว่า ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติจำเลยทั้งสองจึงไม่มีอำนาจทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลใด ๆ ได้ เพราะต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย การที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยร่วมแม้จะโดยความเห็นชอบของจำเลยที่ 1 จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 นิติกรรมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยร่วมย่อมเสียเปล่ามาแต่แรกโดยศาลไม่จำเป็นต้องเพิกถอน และโจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยรับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลืออีก 1,200,000 บาทจากโจทก์ เพราะจำเลยทั้งสองไม่มีอำนาจทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นธรณีสงฆ์ให้แก่โจทก์ได้ โดยต้องห้ามชัดแจ้งตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 ดังกล่าวข้างต้นกรณีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 2 ตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินเอกสารหมาย จ.4 หรือไม่ และไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่น ๆ ตามฎีกาของโจทก์อีกต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share