คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7712/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

รถยนต์คันที่โจทก์ได้รับมอบกรรมสิทธิ์มาจากบริษัท บ. หมายเลขทะเบียน 9 ห – 7742 กรุงเทพมหานคร แต่รถยนต์พิพาทมีเพียงหัวเก๋งกับกระบะเท่านั้นที่เป็นของคันหมายเลขทะเบียน 9 ห – 7742 ส่วนคัสซีหรือเลขตัวรถและเครื่องยนต์เป็นของคันหมายเลขทะเบียน บ – 1317 ชัยภูมิ ซึ่งเจ้าของได้ขอจดทะเบียนรถยนต์ประเภทรถยนต์ที่ประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์เก่า รถยนต์พิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่เกิดจากการเอาอุปกรณ์หรือสังหาริมทรัพย์ของบุคคลหลายคนมารวมเข้ากันจนเป็นส่วนควบหรือแบ่งแยกไม่ได้ และโดยที่หัวเก๋งกับกระบะไม่ใช่ทรัพย์ประธาน รถยนต์พิพาทจึงเป็นรถยนต์คันใหม่ ไม่ใช่รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ห – 7742 กรุงเทพมหานคร ตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1316 ดังนั้นการที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนโอนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ห – 7742 กรุงเทพมหานคร โดยมิได้นำรถยนต์คันดังกล่าวไปให้จำเลยตรวจสอบ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนและภาษีรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. 2531 หมวด 2, 4 และ 6 การโอนรถ ข้อ 35 (1) ซึ่งอธิบดีกรมการขนส่งทางบกอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10, 13, 16 และ 17 แห่ง พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. รถยนต์ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2530 วางระเบียบไว้ และมีผลใช้ในทำนองเดียวกับกฎหมาย จำเลยชอบที่จะปฏิเสธไม่ยอมดำเนินการจดทะเบียนโอนรถยนต์ตามคำขอของโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ยกเลิกคู่มือจดทะเบียนรถยนต์หมายเลขทะเบียน บ – 1317 ชัยภูมิ ให้แก้เลขตัวรถจากหมายเลขอาร์จีดี 21 – บี 39988 เป็นหมายเลขเอจีดี 21 – 0006465 และแก้เลขเครื่องยนต์ จากหมายเลข ทีดี 25 – ที 19603 เป็นหมายเลข ทีดี 23 – 002094 ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์หมายเลข ทะเบียน 9 ห – 7742 กรุงเทพมหานคร ให้รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 9 ห – 7742 กรุงเทพมหานคร ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทเงินทุนบางกอกเอเชี่ยน จำกัด และให้จำเลยรับจดทะเบียนโอนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 ห – 7742 กรุงเทพมหานคร ให้โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงแทนเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันรับฟังเป็นที่ยุติว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน 9 ห – 7742 กรุงเทพมหานคร เลขตัวรถ (คัสซี) อาร์จีดี 21 – บี 39988 เลขเครื่องยนต์ ทีดี 25 – ที 19603 จากผู้เช่าซื้อโดยมีบริษัทเงินทุนบางกอกเอเชี่ยน จำกัด เจ้าของเป็นผู้รับประโยชน์ ต่อมารถยนต์คันดังกล่าวถูกคนร้ายลักไป โจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทเงินทุนบางกอกเอเชี่ยน จำกัด และบริษัทเงินทุนบางกอกเอเชี่ยน จำกัด ได้มอบกรรมสิทธิ์รถยนต์ดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว หลังจากนั้นเจ้าพนักงานตำรวจได้ยึดรถยนต์พิพาทที่ติดแผ่นป้ายทะเบียน บ – 1317 ชัยภูมิ เป็นของกลางและตรวจสอบพบว่าหัวเก๋งกับกระบะเป็นของรถคันหมายเลขทะเบียน 9 ห – 7742 กรุงเทพมหานคร ที่ถูกลักไป จึงคืนรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนรับโอนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ห – 7742 กรุงเทพมหานคร โดยนำรถยนต์พิพาทไปให้จำเลยตรวจสอบและแนบใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ห – 7742 เป็นหลักฐาน จำเลยเห็นว่า รถยนต์พิพาทมีเพียงหัวเก๋งและกระบะเท่านั้นที่เป็นของคันหมายเลขทะเบียน 9 ห – 7742 กรุงเทพมหานคร ส่วนโครงคัสซีหรือตัวรถและเครื่องยนต์เป็นของหมายเลขทะเบียน บ – 1317 ชัยภูมิ จึงปฏิเสธไม่ยอมดำเนินการจดทะเบียนโอนรถยนต์ให้แก่โจทก์
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่จำเลยปฏิเสธไม่ยอมดำเนินการจดทะเบียนโอนรถยนต์ตามคำขอของโจทก์ชอบหรือไม่ เห็นว่า รถยนต์คันที่โจทก์ได้รับมอบกรรมสิทธิ์มาจากบริษัทเงินทุนบางกอกเอเชี่ยน จำกัด คือคันหมายเลขทะเบียน 9 ห – 7742 กรุงเทพมหานคร แต่รถยนต์พิพาทมีเพียงหัวเก๋งกับกระบะเท่านั้นที่เป็นของคันหมายเลขทะเบียน 9 ห – 7742 กรุงเทพมหานคร ส่วนคัสซีหรือเลขตัวรถและเลขเครื่องยนต์เป็นของคันหมายเลขทะเบียน บ – 1317 ชัยภูมิ ซึ่งเจ้าของได้ขอจดทะเบียนรถยนต์ประเภทรถยนต์ที่ประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์เก่า รถยนต์พิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่เกิดจากการเอาอุปกรณ์หรือสังหาริมทรัพย์ของบุคคลหลายคนมารวมเข้ากันจนเป็นส่วนควบหรือแบ่งแยกไม่ได้ และโดยที่หัวเก๋งกับกระบะไม่ใช่ทรัพย์ประธาน รถยนต์พิพาทจึงเป็นรถยนต์คันใหม่ ไม่ใช่รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ห – 7742 กรุงเทพมหานคร ตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1316 ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนโอนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ห – 7742 กรุงเทพมหานคร โดยมิได้นำรถยนต์คันดังกล่าวไปให้จำเลยตรวจสอบ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนและภาษีรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. 2531 หมวด 2, 4 และ 6 การโอนรถ ข้อ 35 (1) ซึ่งอธิบดีกรมการขนส่งทางบกอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10, 13, 16 และ 17 แห่ง พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. รถยนต์ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2530 วางระเบียบไว้และมีผลบังคับใช้ในทำนองเดียวกับกฎหมาย จำเลยชอบที่จะปฏิเสธไม่ยอมดำเนินการจดทะเบียนโอนรถยนต์ตามคำขอของโจทก์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share