แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เดิมโจทก์ยื่นคำขอในเหตุฉุกเฉินพร้อมกับคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ศาลชั้นต้นยกคำขอในเหตุฉุกเฉินนั้น ทำให้คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวฉบับที่ยื่นมาพร้อมกันนั้นตกไปด้วย ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 267 วรรคสาม การที่ศาลยกคำขอในเหตุฉุกเฉินย่อมไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะเสนอคำขอตามมาตรา 254 นั้นใหม่ โจทก์จึงมีสิทธิยื่นคำขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาฉบับใหม่ลงวันที่ 9 เมษายน 2544 เข้ามาได้อีก แม้ต่อมาก่อนศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งตามคำร้องฉบับดังกล่าว โจทก์จะได้ยื่นคำขอในเหตุฉุกเฉินพร้อมกับคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาฉบับลงวันที่ 11 เมษายน 2544 เข้ามาอีก และศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องในวันเดียวกันนั้นเอง ก็มีผลเป็นการยกคำขอในเหตุฉุกเฉินและทำให้คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาที่ยื่นมาพร้อมกันนั้นตกไปด้วยเท่านั้น จึงไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาเช่นเดียวกันนั้นอีก ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจไต่สวนและมีคำสั่งตามคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาฉบับลงวันที่ 9 เมษายน 2544 ที่โจทก์ยื่นไว้ก่อนได้ กรณีไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
อนึ่ง จำเลยผู้ให้เช่าซื้อซึ่งเป็นคู่ความในคดีนี้กระทำการยึดรถยนต์ที่ให้เช่าซื้อ ซึ่งโจทก์ผู้เช่าซื้ออ้างว่าเป็นการกระทำที่ผิดสัญญาเช่าซื้อและทำให้โจทก์เสียหาย เมื่อคดีของโจทก์มีมูลและมีเหตุผลเพียงพอ โจทก์ย่อมมีสิทธิขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในคดีนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 (2) หาจำต้องไปฟ้องเป็นคดีใหม่ไม่
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์และรถพ่วงจากจำเลยรวม 12 คัน โจทก์ชำระเงินค่าเช่าซื้อครบถ้วนตามสัญญาแล้ว แต่จำเลยไม่ดำเนินการโอนทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวให้แก่โจทก์ จึงขอให้บังคับจำเลยโอนทะเบียนรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงให้แก่โจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงที่เช่าซื้อคืนแก่จำเลย หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน
เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2544 โจทก์ยื่นคำร้องในเหตุฉุกเฉินพร้อมคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงพิพาท รวม 12 คัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีไม่มีเหตุฉุกเฉินให้ยกคำร้อง
ต่อมาในวันที่ 9 เมษายน 2544 นั้นเอง โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาว่า เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2544 จำเลยมอบอำนาจให้นายอำนวยกับพวกยึดรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 70 – 0256 อุบลราชธานี , 70 – 0257 อุบลราชธานี , 70 – 0258 อุบลราชธานี , 70 – 0278 อุบลราชธานี และ 70 – 0279 อุบลราชธานี รวม 5 คัน ขณะรถอยู่ในความครอบครองของโจทก์ แต่โจทก์โต้แย้งสิทธิ เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา จึงรับรถยนต์บรรทุกดังกล่าวไว้เพื่อจะตรวจสอบเอกสารในวันที่ 10 เมษายน 2544 การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์และเป็นการผิดสัญญา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถนำรถยนต์บรรทุกไปบรรทุกน้ำมันให้แก่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยซึ่งทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ขนส่งน้ำมัน โจทก์ต้องขาดรายได้และอาจถูกการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยปรับตลอดจนบอกเลิกสัญญาได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับรถยนต์บรรทุกพิพาทรวม 12 คัน และห้ามจำเลยกระทำการละเมิดสิทธิการครอบครองของโจทก์ในระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นัดไต่สวนคำร้อง หมายแจ้งวันนัดพร้อมส่งสำเนาคำร้องให้จำเลยทราบ
วันที่ 11 เมษายน 2544 ก่อนถึงวันนัดไต่สวนและก่อนจำเลยได้รับสำเนาคำร้อง โจทก์ยื่นคำร้องในเหตุฉุกเฉินพร้อมคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ขอให้ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องและห้ามจำเลยกระทำการละเมิดสิทธิการครอบครองรถยนต์บรรทุกพิพาทรวม 12 คัน ไว้ในระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งในวันเดียวกันว่า โจทก์ฟ้องอ้างว่าโจทก์เช่าซื้อรถยนต์และชำระค่าเช่าซื้อครบแล้ว โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์และมีคำขอให้จำเลยโอนทะเบียนรถยนต์ให้โจทก์ในระหว่างการดำเนินคดี โจทก์อ้างว่าจำเลยยึดรถยนต์ไว้ ซึ่งเป็นการกระทำต่างหากจากการฟ้องคดีนี้ โจทก์ชอบที่จะดำเนินการเป็นคดีใหม่ หาอาจร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในคดีนี้ได้ไม่ กรณีไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 254 ยกคำร้อง
จำเลยยื่นคำคัดค้านคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาของโจทก์ฉบับลงวันที่ 9 เมษายน 2544 ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องขัดขวางการใช้ประโยชน์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อของโจทก์ในระหว่างพิจารณา และให้จำเลยส่งมอบรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 70 – 0256 อุบลราชธานี , 70 – 0257 อุบลราชธานี , 70 – 0258 อุบลราชธานี , 70 – 0278 อุบลราชธานี และ 70 – 0279 อุบลราชธานี คืนแก่โจทก์ โดยให้โจทก์วางเงินประกันค่าเสียหายเดือนละ 10,000 บาทต่อคัน นับแต่วันที่มีคำสั่งเป็นต้นไป ทั้งนี้จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาฉบับลงวันที่ 9 เมษายน 2544 และศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2544 เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับการดำเนินกระบวนพิจารณาสั่งตามคำขอในเหตุฉุกเฉินพร้อมกับคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาของโจทก์ฉบับลงวันที่ 11 เมษายน 2544 หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาฉบับลงวันที่ 9 เมษายน 2544 ดังกล่าว ในครั้งแรก โจทก์ได้ยื่นคำขอในเหตุฉุกเฉินพร้อมคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาอีกฉบับหนึ่ง และศาลชั้นต้นได้ยกคำขอในเหตุฉุกเฉินนั้น ทำให้คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวฉบับที่ยื่นมาพร้อมกันนั้นตกไปด้วย ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 267 วรรคสาม การที่ศาลยกคำขอในเหตุฉุกเฉินย่อมไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะเสนอคำขอตามมาตรา 254 นั้นใหม่ โจทก์จึงมีสิทธิยื่นคำขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาอย่างวิธีธรรมดาฉบับลงวันที่ 9 เมษายน 2544 ซึ่งเป็นฉบับที่สองดังกล่าวได้อีก แม้ต่อมาก่อนศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งตามคำร้องฉบับดังกล่าวนั้น โจทก์จะได้ยื่นคำขอในเหตุฉุกเฉินพร้อมกับคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาฉบับลงวันที่ 11 เมษายน 2544 เข้ามาอีก และศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องในวันเดียวกันนั้นเอง ก็มีผลเป็นการยกคำขอในเหตุฉุกเฉินและทำให้คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาที่ยื่นมาพร้อมกันนั้นตกไปด้วยเท่านั้น จึงไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาเช่นเดียวกันนั้นอีก ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจไต่สวนและมีคำสั่งตามคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาฉบับลงวันที่ 9 เมษายน 2544 ที่โจทก์ยื่นไว้ก่อนได้ กรณีจึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปมีว่า โจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาได้หรือไม่ เห็นว่า คำเบิกความของนายจิรเดชผู้รับมอบอำนาจโจทก์ในคดีนี้ไม่มีพิรุธแต่อย่างใด การที่โจทก์มิได้ชำระค่าเช่าซื้อในงวดแรกหรือชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามกำหนดนั้น มิใช่ข้อบ่งชี้ว่าโจทก์มิได้ชำระค่าเช่าซื้อให้จำเลยตามคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลย การพิจารณาว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและมีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตามที่ขอมาใช้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากคำฟ้อง คำให้การ และพยานหลักฐานโจทก์ในชั้นไต่สวนคำร้องขอดังกล่าวเท่านั้น คำเบิกความของนายจิรเดชที่แนบท้ายฎีกานั้นเป็นคำเบิกความในคดีอื่น มิใช่พยานหลักฐานในชั้นไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาคดีนี้ จึงรับฟังไม่ได้ ที่จำเลยฎีกาอีกว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อ จำเลยบอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะเสียหายก็ต้องไปฟ้องร้องเป็นคดีใหม่ ไม่มีสิทธิที่จะมาร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในคดีนั้น เห็นว่า โจทก์ผิดสัญญาเช่าซื้อและโจทก์ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อโดยผิดกฎหมายหรือไม่ยังเป็นประเด็นข้อพิพาทที่จะต้องนำสืบกันต่อไป เมื่อจำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีนี้กระทำการยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อ อาจเป็นการกระทำที่ผิดสัญญาเช่าซื้อและทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ย่อมมีสิทธิขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในคดีนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 (2) หาจำต้องไปฟ้องเป็นคดีใหม่ไม่
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.