คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 274/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาว่าเจ้าหน้าที่วินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ทำการวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ และโจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยจัดทางเข้าออกที่ดินให้แก่โจทก์หรือไม่ เป็นปัญหาเรื่องโจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในฐานละเมิดหรือไม่และมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยจัดทางเข้าออกที่ดินให้แก่โจทก์หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในสำนวนเพียงพอแก่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวได้ ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 และมาตรา 142 (5) โดยไม่จำเป็นต้องมีคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดร้องขอให้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวเสียก่อน
ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง เมื่อรัฐมนตรี ฯ มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์มีสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลขอเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มภายในหนึ่งปีนับแต่วันพ้นหกสิบวันที่รัฐมนตรี ฯ ได้รับคำอุทธรณ์ของโจทก์ หาจำเป็นต้องรอให้รัฐมนตรี ฯ วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ก่อนไม่ โจทก์ปล่อยให้ล่วงเลยกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วค่อยมาฟ้องเป็นคดีนี้อันเป็นเหตุให้โจทก์สิ้นสิทธิที่จะฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มซึ่งเป็นการกระทำของโจทก์เอง มิใช่เกิดจากการที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ฯ ไม่พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันรับคำอุทธรณ์ของโจทก์ จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์
โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่จะต้องเวนคืนจะมีสิทธิได้รับค่าทดแทนเพียงใดต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 กำหนดไว้ ซึ่ง พ.ร.บ. นี้บัญญัติเรื่องค่าทดแทนไว้ในหมวด 2 เงินค่าทดแทน ไม่มีบทบัญญัติที่บังคับให้จำเลยต้องสร้างทางออกให้สำหรับที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนสู่ทางสาธารณะ และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ข้อ 2 ข้อ 6 (3) ข้อ 29 วรรคหนึ่ง ข้อ 30 และข้อ 31 ให้จำเลยเป็นผู้มีอำนาจในการวางแผน สำรวจ ออกแบบเกี่ยวกับการสร้างหรือขยายทางพิเศษสายนี้ และบำรุงรักษาทางพิเศษสายนี้ในที่ดินของโจทก์และของผู้อื่นที่ถูกเวนคืนมานั้น โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะขอให้จำเลยสร้างทางซึ่งจะต้องสร้างขึ้นในเขตทางพิเศษสายนี้เพื่อให้ที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนมีทางออกสู่ถนนสาธารณะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดินและค่าเสียหายแก่โจทก์ กับให้จำเลยจัดหาทางออกจากที่ดินส่วนที่เหลืออยู่ของโจทก์สำหรับสร้างเป็นถนนขนาดความกว้างไม่น้อยกว่า ๑๒ เมตร โดยตลอดเพื่อออกสู่ถนนสาธารณะสายรังสิต – ปทุมธานี หรือให้จำเลยชำระค่าเสียหายจากการกระทำของเจ้าพนักงานวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ไม่กระทำการภายในระยะเวลาตามกฎหมายกำหนด
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นให้งดการพิจารณาคดีไว้ก่อน และต่อมาพิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ปัญหาทั้งสองประเด็นที่ศาลชั้นต้นหยิบยกขึ้นวินิจฉัยนั้นเป็นปัญหาเรื่องโจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในฐานละเมิดหรือไม่และมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยจัดทางเข้าออกที่ดินให้แก่โจทก์ได้หรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในสำนวนเพียงพอแก่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวได้ ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔ และมาตรา ๑๔๒ (๕) โดยไม่จำเป็นต้องมีคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอให้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวเสียก่อน ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๒๕ วรรคสอง บัญญัติว่า ในการพิจารณาอุทธรณ์… ให้รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ และมาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนนำคดีมาฟ้องต่อศาลภายในเวลาที่กำหนดไว้เป็น ๒ กรณี กรณีแรกเป็นกรณีที่รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ หากผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยนั้นก็อาจเสนอคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี กรณีที่สอง เมื่อรัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวัน ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีเมื่อล่วงพ้นหกสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีได้รับคำอุทธรณ์ สำหรับคดีนี้โจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๔๐ แต่รัฐมนตรี ฯ มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ซึ่งครบกำหนดวันสุดท้ายในวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๔๐ เข้ากรณีที่สองดังกล่าวข้างต้น โจทก์จึงต้องฟ้องขอเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พ้นกำหนดหกสิบวันดังกล่าว คือต้องฟ้องภายในวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๔๑ แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ ล่วงพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว โจทก์ย่อมสิ้นสิทธิที่จะฟ้องขอให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งการที่โจทก์ปล่อยให้ล่วงเลยกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วค่อยมาฟ้องนั้นเป็นการกระทำของโจทก์เอง มิใช่เกิดจากการที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ฯ ไม่พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันรับคำอุทธรณ์ของโจทก์ จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์
ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยสร้างทางออกสู่ถนนสาธารณะหรือไม่นั้น เห็นว่า ในการเวนคืนที่ดินซึ่งโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในครั้งนี้เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ ดังนั้นโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดินที่จะต้องเวนคืนจะมีสิทธิได้รับค่าทดแทนเพียงใด ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ กำหนดไว้ ซึ่งพระราชบัญญัตินี้บัญญัติเรื่องค่าทดแทนไว้ในหมวด ๒ เงินค่าทดแทน ไม่มีบทบัญญัติที่บังคับให้จำเลยต้องสร้างทางออกให้สำหรับที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนสู่ทางสาธารณะ และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๐ ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ ข้อ ๒ ได้จัดตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยให้เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ สร้างหรือจัดให้มีด้วยวิธีการใด ๆ ตลอดจนบำรุงและรักษาทางพิเศษ และข้อ ๖ (๓) ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีอำนาจวางแผน สำรวจ ออกแบบเกี่ยวกับการสร้างหรือขยายทางพิเศษ ข้อ ๒๙ วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ผู้ใดสร้างโรงเรือนหรือสิ่งอื่นหรือปลูกต้นไม้หรือพืชผลอย่างใด ๆ ในทางพิเศษ หรือเพื่อเชื่อมติดต่อกับทางพิเศษ เว้นแต่ผู้ซึ่งดำเนินกิจการอันเป็นสาธารณูปโภค ซึ่งมีความจำเป็นต้องปักเสาพาดสาย หรือวางท่อเพื่อข้ามหรือลอดทางพิเศษ ให้ขออนุญาตและทำความตกลงกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเสียก่อน จึงจะกระทำการนั้นได้ และถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ในเหตุลักษณะของงาน หรือในเรื่องค่าเช่า ให้เสนอรัฐมนตรีเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด ข้อ ๓๐ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการใด ๆ ให้ทางพิเศษอยู่ในลักษณะอันน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่การจราจร ข้อ ๓๑ ห้ามมิให้ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทางพิเศษ อันอาจเป็นอันตรายแก่รถหรือบุคคลซึ่งใช้ทางพิเศษ ดังนั้นเมื่อมีการเวนคืนที่ดินของโจทก์และของผู้อื่นเพื่อใช้สร้างทางพิเศษสายบางปะอิน – ปากเกร็ด แล้ว จำเลยจึงเป็นผู้มีอำนาจในการวางแผน สำรวจ ออกแบบเกี่ยวกับการสร้างหรือขยายทางพิเศษสายนี้ และบำรุงรักษาทางพิเศษสายนี้ในที่ดินของโจทก์และของผู้อื่นที่ถูกเวนคืนมานั้น โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะขอให้จำเลยสร้างทางซึ่งจะต้องสร้างขึ้นในเขตทางพิเศษสายนี้เพื่อให้ที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนมีทางออกสู่ถนนสาธารณะ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน สรุปแล้วฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share