แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อเจ้ามรดกตาย โจทก์และจำเลยจึงเป็นทายาทรับมรดกที่ดินพิพาทร่วมกับบุตรคนอื่น ๆ ของเจ้ามรดกตราบใดที่ยังไม่มีการแบ่งทรัพย์มรดกเป็นส่วนสัดก็ต้องถือว่าทุกคนเป็นเจ้าของรวม จำเลยมีสิทธิใช้ที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของรวมการที่จำเลยปลูกโรงเรือนและนำวัสดุก่อสร้างมาไว้บนที่ดินพิพาท ก็เพราะได้รับอนุญาตจากเจ้ามรดกเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ แต่เมื่อเจ้ามรดกได้ร่วมกับบริษัท ฮ. จัดสรรแบ่งขายที่ดินและทายาทส่วนใหญ่มีมติให้ยังคงดำเนินการดังกล่าวต่อไป โจทก์ในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกจึงต้องดำเนินการไปตามเสียงข้างมากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1358 วรรคสาม จำเลยก็ต้องปฏิบัติตามมติของทายาทส่วนใหญ่ด้วย การที่จำเลยอ้างว่าในฐานะทายาทคนหนึ่งจำเลยมีสิทธิที่จะปลูกโรงเรือนหรือนำวัสดุก่อสร้างมาไว้บนที่ดินพิพาทได้นั้น จึงเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360 วรรคหนึ่งที่กำหนดว่าการใช้ทรัพย์สินของเจ้าของรวมคนหนึ่งต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ๆ เมื่อทายาทคนอื่น ๆ ประสงค์จะให้มีการจัดสรรที่ดินแบ่งขายต่อไป โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกก็มีหน้าที่ดำเนินการไปตามมติเสียงส่วนใหญ่ของทายาทเมื่อโจทก์แจ้งให้จำเลยขนย้ายสิ่งที่เป็นอุปสรรคแก่การดำเนินการจัดสรรที่ดินออกไป จำเลยย่อมไม่มีสิทธิที่จะก่อสร้างโรงเรือนหรือนำวัสดุก่อสร้างมาวางบนที่ดินพิพาทต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนโรงเรือนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ 10,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะรื้อถอนโรงเรือนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายวัสดุอุปกรณ์ออกไป
จำเลยให้การว่า จำเลยในฐานะทายาทเจ้ามรดกย่อมมีสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทจึงมีสิทธิที่จะก่อสร้างโรงเรือนและนำวัสดุมากองในที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดก โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกมีหน้าที่รวบรวม สืบหาทรัพย์สินของเจ้ามรดกเพื่อดำเนินการแบ่งปันให้แก่ทายาทเท่านั้น ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งเป็นทายาทโจทก์ไม่ได้ก่อสร้างโครงการตามที่อ้าง โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารรื้อถอนโรงเรือนสิ่งปลูกสร้างและให้ขนย้ายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์และจำเลยเป็นบุตรของนายเจริญกับนางศรีทอง ฮ้อแสงชัย โจทก์และจำเลยมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 10 คน นางศรีทองถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 30เมษายน 2531 ต่อมาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2533 นายเจริญถึงแก่ความตาย ก่อนถึงแก่ความตายนางศรีทองมีที่ดินจำนวน121 แปลง ซึ่งนางศรีทองร่วมกับบริษัทฮ้อแสงชัย จำกัดจัดสรรแบ่งขายในนามหมู่บ้าน “แสงชัยนิเวศน์” ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางศรีทอง เมื่อวันที่ 8กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยก่อสร้างโรงเรือนนำวัสดุก่อสร้างมาไว้บนที่ดินอันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินพิพาท ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยมีสิทธิก่อสร้างโรงเรือนและนำวัสดุก่อสร้างมาวางในที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินซึ่งเดิมมีชื่อนางศรีทองถือกรรมสิทธิ์ตามโฉนดที่ดินหมาย จ.4 ถึง จ.24 โจทก์และจำเลยเป็นบุตรของนางศรีทอง เมื่อนางศรีทองถึงแก่ความตาย โจทก์และจำเลยจึงเป็นทายาทรับมรดกที่ดินแปลงนี้ร่วมกับบุตรนางศรีทองคนอื่น ๆและตราบใดที่ยังไม่มีการแบ่งทรัพย์มรดกเป็นส่วนสัดก็ต้องถือว่าทุกคนเป็นเจ้าของรวม จำเลยจึงมีสิทธิที่จะใช้ที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของรวม และการที่จำเลยปลูกโรงเรือนและนำวัสดุก่อสร้างมาไว้บนที่ดินพิพาทก็เพราะได้รับอนุญาตจากนางศรีทองเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ แต่เมื่อนางศรีทองได้ร่วมกับบริษัทฮ้อแสงชัย จำกัด จัดสรรแบ่งขายที่ดินในนามหมู่บ้าน”แสงชัยนิเวศน์” และทายาทส่วนใหญ่มีมติให้ยังคงดำเนินการดังกล่าวต่อไป ตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย จ.33 โจทก์ในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกจึงต้องดำเนินการไปตามเสียงข้างมากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1358 วรรคสามจำเลยก็ต้องปฏิบัติตามมติของทายาทส่วนใหญ่ดังกล่าวด้วย การที่จำเลยอ้างว่าในฐานะทายาทคนหนึ่งจำเลยมีสิทธิที่จะปลูกโรงเรือนนำวัสดุก่อสร้างมาไว้บนที่ดินพิพาทได้นั้นเห็นว่า เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า”เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้แต่การใช้นั้นต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ๆ” เมื่อทายาทคนอื่น ๆประสงค์จะให้มีการจัดสรรที่ดินแบ่งขายต่อไป โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกก็มีหน้าที่ดำเนินการไปตามมติเสียงส่วนใหญ่ของทายาทและเมื่อโจทก์แจ้งให้จำเลยขนย้ายสิ่งที่เป็นอุปสรรคแก่การดำเนินการจัดสรรที่ดินออกไป จำเลยก็ย่อมไม่มีสิทธิที่จะก่อสร้างโรงเรือนหรือนำวัสดุก่อสร้างมาวางบนที่ดินพิพาทต่อไปที่จำเลยฎีกาว่า ที่จำเลยยังไม่ได้รื้อถอนโรงเรือนและขนวัสดุก่อสร้างออกไปเพราะจำเลยยังมีความประสงค์ที่จะได้รับส่วนแบ่งมรดกเป็นที่ดินพิพาทโดยอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1748 นั้น เห็นว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้แม้จะล่วงพ้นอายุความตามมาตรา 1754 แล้ว จึงไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นในเรื่องนี้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน