คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 656/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อสัญญารับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ ระบุเพียงว่าให้มีความผูกพันในระดับปริญญาโดยไม่ได้ระบุว่าระดับปริญญาตรี โท หรือเอก ดังนั้น เมื่อจำเลยผู้รับทุนตามสัญญาดังกล่าวเรียนจบปริญญาตรีแล้วจำเลยได้ดำเนินการขอเรียนต่อในระดับปริญญาโทจนต้นสังกัดเห็นชอบ รัฐบาลต่างประเทศเจ้าของทุนขยายทุนให้ และในที่สุด จำเลยได้รับทุนและเข้าเรียนจนจบ สัญญารับทุนดังกล่าวจึงมีผลผูกพันจำเลยในระดับปริญญาโทด้วย จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีเพียงว่า ในช่วงที่จำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมดูงานที่ต่างประเทศถือว่าเป็นการปฏิบัติราชการจะต้องคืนเงินในส่วนนี้ให้เท่านั้น ดังนั้น ปัญหาว่าโจทก์ควรคิดอัตรา แลกเปลี่ยนของค่าเฉลี่ยธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยซึ่ง มีความหมายว่าอัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญออสเตรเลีย ควรคิดให้ 19.02 บาท ไม่ใช่19.96 บาท ตามที่โจทก์นำสืบ จึงเป็นเรื่อง นอกประเด็น.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้รับการคัดเลือกจากโจทก์ให้เป็นผู้รับทุนการศึกษาไปศึกษาระดับปริญญา ณ ประเทศออสเตรเลียโดยจำเลยที่ 1 ได้ตกลงทำสัญญากับโจทก์ว่าเมื่อจำเลยที่ 1 เสร็จสิ้นการศึกษาแล้ว จำเลยที่ 1 ยินยอมเข้ารับราชการเป็นเวลาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 เท่าของเวลาเต็มที่กำหนดให้ไปศึกษาวิชา มิฉะนั้นจำเลยที่ 1 ยินยอมจะชดใช้เงินให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาผู้แทนโดยชอบธรรมของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ให้ความยินยอมและเป็นผู้ค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เดินทางไปศึกษาระดับปริญญาตรี ณ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วได้ขออนุมัติขยายทุนมีระยะเวลา 1 ปีเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโทโจทก์อนุมัติ จำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทแล้วได้เดินทางกลับประเทศไทยจำเลยที่ 1 ได้เข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ขอออกจากราชการ รวมระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติราชการชดใช้แล้วทั้งสิ้น 655 วัน จำเลยที่ 1 จะต้องปฏิบัติราชการเป็นการชดใช้ทุนตามข้อตกลงในสัญญาอยู่อีก 4,015 วัน คิดเป็นเงิน 31,125.08เหรียญออสเตรเลีย จำเลยที่ 2 ได้นำเงินจำนวน 435,398.23 บาทคิดเป็นเงินเหรียญออสเตรเลียทั้งสิ้น 21,813.54 เหรียญออสเตรเลียไปชำระให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงยังคงค้างชำระเงินทุนและค่าปรับแก่โจทก์อีก 9,311.54 เหรียญออสเตรเลีย หรือคิดเป็นเงินไทยในขณะยื่นฟ้องเท่ากับ 173,753.33 บาท โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามจำเลยทั้งสองเพิกเฉยไม่ชำระขอให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินจำนวน9,311.54 เหรียญออสเตรเลีย หรือคิดเป็นเงินไทยในขณะยื่นฟ้องเท่ากับ 173,753.33 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยที่ 2 ร่วมชดใช้เงินจำนวน 1,063.56 เหรียญออสเตรเลีย หรือคิดเป็นเงินไทยในขณะยื่นฟ้องเท่ากับ 19,835.58 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 รับทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีเท่านั้นและไม่ได้รับทุนการศึกษาในระดับปริญญาโทด้วยความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงมีเฉพาะในชั้นปริญญาตรีเท่านั้นและในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลา 1 ปี4 เดือน 27 วันนั้น จะต้องนำมานับเป็นเวลาปฏิบัติราชการด้วยเพราะจำเลยที่ 1 ไปอบรมตามคำสั่งของอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยี่พระจอมเกล้า ต้องนำเวลาฝึกอบรมมาหักออกจากเวลาชดใช้เงินทุนจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชดใช้เป็นเงินเพียง 14,908.75 เหรียญออสเตรเลีย หรือคิดเป็นเงินไทยเพียง 283,364.42 บาท เมื่อจำเลยที่ 1 ลาออกจากราชการและได้รับอนุญาตให้ลาออกแล้วก็เท่ากับคู่สัญญาตกลงยกเลิกสัญญาโดยความสมัครใจทั้งสองฝ่าย โจทก์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 อย่างไรก็ตามจำเลยที่ 2 ได้ชดใช้เงินให้โจทก์แล้วจำนวนถึง 22,891.60 เหรียญออสเตรเลีย หรือเท่ากับ435,398.25 บาท ซึ่งเกินความรับผิดของจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์มาเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 อีกไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันสัญญารับทุนของจำเลยที่ 1 ในชั้นปริญญาตรี โจทก์เรียกค่าเสียหายเกินความเป็นจริงจำเลยที่ 2 ได้นำเงินตามที่โจทก์เรียกร้องไปมอบให้แก่โจทก์เป็นจำนวน 22,891.60 เหรียญออสเตรเลีย หรือเท่ากับเงินไทย435,398.23 บาท ซึ่งเกินกว่าที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดถึง 8,072.85เหรียญออสเตรเลียหรือเท่ากับเงินไทย 153,345.60 บาทจำเลยที่ 2จึงได้มอบให้ทนายความมีหนังสือทวงถามจากโจทก์ จนบัดนี้โจทก์ก็ยังมิได้ชำระเงินคืนให้แก่จำเลยที่ 2 การกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยที่ 2ได้รับความเสียหาย ขอให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้นจำนวน 153,345.60 บาท จากวันที่ฟ้องแย้งนี้จนกว่าโจทก์จะชำระแก่จำเลยที่ 2 เสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ยอมรับว่าจำเลยที่ 2 ได้นำเงินจำนวน 435,398.23 บาท ไปชำระให้แก่โจทก์จริง แต่คิดเป็นเงินเหรียญออสเตรเลียได้เพียง 21,813.54 เหรียญเท่านั้น มิใช่จำนวน 22,891.60 เหรียญ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยี่พระจอมเกล้าไม่เคยมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ไปปฏิบัติราชการอบรมที่ประเทศอังกฤษความจริงจำเลยที่ 1 ได้ขอลาไปฝึกอบรม ณ ประเทศอังกฤษทางราชการได้จำเลยที่ 1 เข้ารับราชการอบรม 1 ปี 5 เดือน 12 วัน ซึ่งช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ไม่ถือว่าเป็นอนุมัติช่วงเวลาการปฏิบัติราชการชดใช้ทุน ฉะนั้นการที่โจทก์คำนวณให้จำเลยที่ 2 ชดใช้เงินคืนให้โจทก์เฉพาะส่วนที่จำเลยที่ 1 ศึกษาในชั้นปริญญาตรี จำนวน22,877.10 เหรียญออสเตรเลีย จึงชอบแล้ว จำเลยที่ 1 ผู้รับทุนชำระหนี้ไม่ครบถ้วน หากจะฟังว่าระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ไปอบรมณ ประเทศอังกฤษ ถือว่าเป็นช่วงเวลาปฏิบัติราชการชดใช้ทุนด้วยโจทก์ก็เรียกเงินจากจำเลยที่ 2 เกินไปเพียง 5,814.34 เหรียญออสเตรเลียคิดเป็นเงินไทยขณะจำเลยที่ 2 ฟ้องแย้ง 93,087.58 บาทเท่านั้น ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 9,311.52เหรียญออสเตรเลีย หรือคิดเป็นเงินไทยในขณะยื่นฟ้องเท่ากับ173,753.33 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 2มีนาคม 2524 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในเงินดังกล่าวจำนวน 1,063.56 เหรียญออสเตรเลีย หรือคิดเป็นเงินไทยในขณะยื่นฟ้องเท่ากับ 19,835.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 2 มีนาคม 2524 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาแรกมีว่า การที่จำเลยที่ 1 เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท จำเลยที่ 1 ยังจะต้องผูกพันตามสัญญารับทุนเอกสารหมาย จ.1 หรือไม่ ในข้อนี้จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน เพราะตามคำเบิกความของนายถวัลย์ พยานโจทก์เบิกความว่า ทุนภายใต้แผนโคลัมโบที่ไปศึกษาในประเทศออสเตรเลียมีเฉพาะในระดับปริญญาตรี เริ่มแต่ปี 2504 และเลิกปี 2519 และสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.2 ก็ระบุให้รับผิดในระดับปริญญาตรีเท่านั้นศาลฎีกาพิเคราะห์คำนายถวัลย์พยานโจทก์โดยตลอดแล้วได้ความว่านอกจากพยานจะเบิกความดังกล่าวแล้วยังได้ความอีกว่า หากผู้รับทุนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีแล้วก็ยังสามารถเรียนต่อในระดับปริญญาโทและเอกได้ จึงเห็นได้ว่าผู้ได้รับทุนหาจำกัดให้เรียนเฉพาะระดับปริญญาตรีไม่ หากผู้รับทุนมีความสามารถก็ยังเรียนในระดับปริญญาโทและเอกได้ สำหรับสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.2 ที่ระบุให้มีผลผูกพันในระดับปริญญาตรีนั้นก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นคู่สัญญาเท่านั้น หาได้เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 ไม่ โดยเฉพาะสัญญารับทุนเอกสารหมาย จ.1 นั้นไม่มีข้อความว่าให้สิ้นความผูกพันเมื่อผู้รับทุนเรียนจบในระดับปริญญาตรี คงมีระบุว่าให้มีความผูกพันในระดับปริญญาโดยไม่ได้ระบุว่าระดับปริญญาตรี โท หรือเอกดังนั้น เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าหลังจากจำเลยเรียนจบปริญญาตรีแล้วจำเลยได้ดำเนินการขอเรียนต่อในระดับปริญญาโทจนต้นสังกัดเห็นชอบรัฐบาลออสเตรเลียเจ้าของทุนขยายทุนให้และในที่สุดจำเลยที่ 1ได้รับทุนและเข้าเรียนจนจบ ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าสัญญารับทุนตามเอกสารหมาย จ.1 มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ในระดับปริญญาโทด้วยจึงชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาสุดท้ายมีว่า โจทก์จะต้องคืนเงินให้จำเลยที่ 2 เพียงใดนั้น ปัญหานี้จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันได้ชำระเงินให้โจทก์ไปจำนวนหนึ่งนั้น โจทก์ควรคิดอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเฉลี่ยธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยซึ่งมีความหมายว่าอัตราแลกเปลี่ยนเหรียญออสเตรเลีย ควรคิดให้ 19.02 บาท ไม่ใช่19.96 บาท ตามที่โจทก์นำสืบ เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องนี้ไว้ คงให้การแต่เพียงว่าในช่วงที่จำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมดูงานที่ประเทศอังกฤษถือว่าเป็นการปฏิบัติราชการจะต้องคืนเงินในส่วนนี้ให้เท่านั้น จึงเป็นเรื่องนอกประเด็น ศาลฎีกาไม่วินิจฉัย
พิพากษายืน.

Share