คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 656/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ว่าราชการจังหวัดถูกฉ้อโกงหลงเชื่อสั่งจ่ายเงินซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ไป เมื่อย้ายผู้ว่าราชการคนเก่าไปแล้วผู้ว่าราชการจังหวัดคนใหม่โดยตำแหน่งย่อมเป็นผู้เสียหายมีสิทธิร้องทุกข์ให้เอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้
การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีนั้นถือได้ว่าเป็นการร้องทุกข์แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นพนักงานรายวันทำหน้าที่ช่างทางจังหวัดศรีสะเกษ สังกัดกรมโยธาเทศบาลเงินค่าจ้างจ่ายเฉพาะวันมาทำงาน จ่ายเป็นรายเดือนในงานประมาณการสร้างทางหลวงจังหวัดจำเลยได้บังอาจมีเจตนาทุจริตทำบัญชีจ่ายเงินค่าจ้างรายวันรวมทั้งวันที่จำเลยไม่ได้มาทำงานด้วยเสนอหลอกลวงนายพินิจ โพธิ์พันธ์ผู้ว่าราชการจังหวัด นายพินิจหลงเชื่อได้จ่ายเงินค่าจ้างให้จำเลยไปต่อมาขุนวัฒนานุรักษ์ผู้ว่าราชการจังหวัดรู้ถึงการกระทำผิดจึงให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีฐานทุจริตต่อหน้าที่และฉ้อโกง พนักงานสอบสวนได้จับจำเลยมาทำการสอบสวน ต่อมานายพินิจและกรมโยธาเทศบาลได้ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยแล้ว จึงขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายอาญา มาตรา 304

จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้หลายประการ และว่าการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลชั้นต้นสอบถามโจทก์ได้ความว่าผู้เสียหายในคดีนี้คือผู้รักษาราชการแทนอธิบดีกรมโยธาเทศบาลและนายพินิจผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษคนก่อนเห็นว่าผู้เสียหายทั้งสองที่กล่าวแล้วร้องทุกข์เมื่อการสอบสวนเสร็จแล้วการสอบสวนจึงมิชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 ห้ามมิให้ยื่นฟ้องต่อศาล พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 125 ประกอบกับ มาตรา 123, 124 แสดงว่าไม่จำต้องมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบก่อนดำเนินการสอบสวนพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ดำเนินการพิจารณาพิพากษาใหม่ต่อไป

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยแสดงบัญชีเท็จหลอกลวงนายพินิจในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด จนหลงเชื่อจ่ายเงินให้จำเลยไป เมื่อขุนวัฒนานุรักษ์ผู้ว่าราชการจังหวัดคนใหม่ได้สั่งให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานฉ้อโกงแล้ว ก็ถือได้ว่าขุนวัฒนานุรักษ์ในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ร้องทุกข์แล้ว จึงพิพากษายืน

Share