แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์กับสามีโจทก์เป็นสามีภริยาโดยจดทะเบียนสมรสกันตามบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การหย่านอกจากได้ทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่อ 2 คนแล้วยังต้องจดทะเบียนหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1515 อีกด้วย การหย่าจึงจะสมบูรณ์ เมื่อโจทก์กับสามีโจทก์ยังไม่มีการจดทะเบียนหย่า โจทก์กับสามีโจทก์จึงยังเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย ดังนั้น แม้จำเลยจะมีข้อตกลงกับโจทก์ว่าหากโจทก์ยอมหย่ากับสามีจำเลยจะไม่ดำเนิน คดีอาญากับโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยได้แสดงตนโดยเปิดเผย ว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ซึ่งยังไม่ได้จดทะเบียนหย่า ในทำนองชู้สาวโจทก์ในฐานะภริยาจึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับนายนิลาสน์เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 1 คน เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2530โจทก์และสามีได้ย้ายจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มารับราชการอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร หลังจากนั้นประมาณ 2-3 เดือน สามีโจทก์ได้ไปติดพันจำเลยซึ่งเป็นนักร้องอยู่ห้องอาหารแห่งหนึ่ง โจทก์ได้ขอร้องให้สามีโจทก์และจำเลยเลิกติดต่อกันแต่ได้รับการปฏิเสธเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2531 โจทก์ได้ไปที่บ้านจำเลยเพื่อรับบุตรสาวของโจทก์ ซึ่งสามีโจทก์นำมาเลี้ยงไว้ที่บ้านจำเลย จำเลยได้ตบหน้าโจทก์ที่ด้านซ้ายอย่างแรงขณะโจทก์นั่งอยู่ในรถยนต์โจทก์เสียหลักชายโครงด้านขวากระทบกับตัวรถมีเลือดไหลที่ใบหน้าและรู้สึกปวดที่ชายโครงด้านขวา โจทก์จึงไปแจ้งความดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย การที่จำเลยแสดงออกแก่บุคคลทั่วไปว่ามีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวและให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าเป็นภริยาของสามีโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าทดแทนเป็นเงิน 80,000 บาท และค่าเสียหายต่อร่างกายเป็นเงิน20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้เป็นภริยาของนายนิลาสน์เพราะได้ตกลงหย่าขาดกันแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจหวงห้ามมิให้จำเลยมีความสัมพันธ์หรือแสดงออกถึงความสัมพันธ์ใด ๆ กับนายนิลาสน์โจทก์เป็นคนมีความประพฤติไม่เรียบร้อย โจทก์ชอบด่านายนิลาสน์ด้วยคำหยาบและคำไม่เหมาะสมจนนายนิลาสน์เกิดความอับอาย โจทก์เคยด่าจำเลยด้วยคำหยาบ ดูถูกเหยียดหยามและใส่ความจำเลยหลายครั้ง ซึ่งครั้งหนึ่งโจทก์ได้เขียนข้อความในกระดาษอย่างเปิดเผยด่าจำเลยด้วยคำหยาบและใส่ความจำเลยแล้วมอบให้ผู้อื่นนำมาให้จำเลย จำเลยได้ไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ได้เสนอขอยอมความกับจำเลยโดยตกลงหย่ากับนายนิลาสน์ โจทก์จึงมิได้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายแก่ชื่อเสียงและสถานะภาพทางสังคมเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2531 โจทก์กับพวกขับรถยนต์มาจอดที่หน้าบ้านจำเลยแล้วร้องด่าจำเลยด้วยถ้อยคำหยาบคายใส่ความจำเลย จำเลยจึงต้องกระทำเพื่อป้องกันตนเอง โดยใช้มือลอดผ่านช่องหน้าต่างกระจกรถยนต์ที่โจทก์ไขลงไว้เพื่อด่า จำเลยจะดึงผมของโจทก์ แต่ปลายนิ้วของจำเลยปัดถูกหน้าของโจทก์เพียงเล็กน้อย ไม่ทำให้โจทก์ บาดเจ็บถึงขนาดกระดูกซี่โครงร้าวได้โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนจำนวน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหาย10,000 บาท และค่าทดแทน 50,000 บาท รวม 60,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นที่ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกามีเพียงว่าหลังจากโจทก์กับนายนิลาสน์ซึ่งเป็นสามีภริยาโดยจดทะเบียนสมรสตายกฎหมายได้ยินยอมหย่าโดยทำเป็นหนังสือและมีพยานลงชื่อ 2 คน แล้ว แต่ยังไม่มีการจดทะเบียนหย่า จำเลยได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวโจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยหรือไม่ ปัญหานี้มีข้อจะต้องพิจารณาว่าการหย่าดังกล่าวทำให้การสมรสสิ้นสุดลงแล้วหรือไม่เห็นว่า แม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514 จะบัญญัติให้คู่สมรสทำการหย่าโดยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคนโดยไม่ได้บังคับว่าจะต้องนำไปจดทะเบียนหย่าก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวจะต้องเป็นการสมรสที่ไม่มีการจดทะเบียน เช่น การสมรสตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย การหย่ากันเองโดยไม่ต้องจดทะเบียนหย่าก็สมบูรณ์ แต่สำหรับกรณีนี้โจทก์กับสามีโจทก์เป็นสามีภริยาโดยจดทะเบียนสมรสกันตามบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การหย่านอกจากได้ทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่อ 2 คนแล้ว ยังต้องจดทะเบียนหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1515 อีกด้วย การหย่าจึงจะสมบูรณ์ เหตุนี้เมื่อโจทก์กับสามีโจทก์ยังไม่มีการจดทะเบียนหย่าโจทก์กับสามีโจทก์จึงยังเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย ดังนั้นแม้จำเลยจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อตกลงหย่า ดังที่จำเลยฎีกาก็ตามแต่เมื่อจำเลยได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ซึ่งยังไม่ได้จดทะเบียนหย่าในทำนองชู้สาว โจทก์ในฐานะภริยาจึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง
พิพากษายืน