คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1356/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายเป็นบุตรติดของ จ. จ. มาอยู่กินฉันสามีภรรยากับจำเลยอำนาจการปกครองผู้เสียหายจึงตกแก่ จ.ผู้เป็นมารดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1568 การที่จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย จำเลยย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคสามเท่านั้น ไม่ต้องด้วยมาตรา 285 อันเป็นบทบัญญัติที่ให้วางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ หนึ่งในสาม ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเองได้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำชำเราเด็กหญิงเสนอ ขจรเดชผู้เสียหายอายุ 12 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลยและเป็นผู้อยู่ในความปกครองของจำเลย โดยผู้เสียหายไม่ยินยอม จำเลยใช้มีด 1 เล่ม เป็นอาวุธขู่ผู้เสียหายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 285
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง ประกอบมาตรา 285 จำคุก 15 ปี
โจทก์อุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษแก่จำเลยไม่ถูกต้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 285 ให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277วรรคสาม หรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้นศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ใช้มือบีบคอและใช้อาวุธมีดจี้ที่คอผู้เสียหายกระทำชำเราจนสำเร็จความใคร่โดยผู้เสียหายซึ่งมีอายุ 12 ปี ไม่ยินยอมดังนี้การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำชำเราผู้เสียหายอายุยังไม่เกินสิบสามปี โดยใช้อาวุธและโดยผู้เสียหายไม่ยินยอมฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้นแต่เห็นว่า ผู้เสียหายเป็นบุตรติดนางจงกล บุญชู แล้วนางจงกลมาอยู่กินฉันสามีภรรยากับจำเลย อำนาจปกครองผู้เสียหายตกแก่นางจงกลผู้เป็นมารดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1568 การที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหาย จำเลยย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคสามเท่านั้น กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 285 อันเป็นบทบัญญัติที่ให้วางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆหนึ่งในสาม เนื่องจากปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคสาม นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share