คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6551/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่โจทก์ขอให้บวกโทษจำคุก 15 วัน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 606/2560 ของศาลจังหวัดพระโขนง เข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้นั้น เห็นว่า ในคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (พืชกระท่อม) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 76 วรรคสอง ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว หลังจากนั้นระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาในคดีนี้ ได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 โดยมาตรา 17 ยกเลิกความในมาตรา 76 วรรคสอง และให้ใช้ข้อความใหม่แทนว่า “ถ้ายาเสพติดซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำตามวรรคหนึ่งนั้นเป็นพืชกระท่อม ผู้นั้นต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท” อันเป็นกรณีที่กฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำที่โจทก์ขอให้บวกโทษเป็นความผิดอยู่ แต่โทษตามกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดมีเพียงโทษปรับซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากกว่ากฎหมายเก่าที่มีโทษจำคุกด้วย กรณีจึงไม่อาจบวกโทษจำคุกแก่จำเลยที่ 2 ได้ ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) และ ป.วิ.อ. มาตรา 185 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดหยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 357 บวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 606/2560 ของศาลจังหวัดพระโขนง เข้ากับโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง (ที่ถูก มาตรา 357 วรรคสอง (เดิม)) ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 6 ปี บวกโทษจำคุก 15 วัน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 606/2560 ของศาลจังหวัดพระโขนง เข้ากับโทษของจำเลยที่ 2 รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี 15 วัน
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 เวลากลางคืนหลังเที่ยง นายศุภโชค และนายวีระชัย จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4916/2560 ของศาลชั้นต้น ร่วมกันชิงโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อไอโฟน รุ่น 7 พลัส 1 เครื่อง ราคา 35,000 บาท ของนายสามารถ ผู้เสียหายไป ต่อมาในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวได้ขณะอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสองเป็นของกลาง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า มีเหตุที่จะลงโทษจำเลยที่ 2 ให้น้อยกว่าที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายจนเป็นที่พอใจและไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 รวมทั้งผู้เสียหายได้รับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางคืนไปแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี นั้น นับว่าเป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษที่หนักเกินไป จึงเห็นควรกำหนดโทษของจำเลยที่ 2 เสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องแก่พฤติการณ์แห่งคดี นอกจากนี้ตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพว่า ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางจากนายศุภโชคมาจำหน่าย โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้ยกเอาคำให้การของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวขึ้นมารับฟังประกอบการวินิจฉัยคดีด้วย จึงถือว่าคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 เป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา และมีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว จึงสมควรลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 โดยไม่ลดโทษให้นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา และเนื่องจากจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 อันเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 รับของโจรดังกล่าวเป็นการสนับสนุนให้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์มากขึ้น สร้างความเดือดร้อนแก่สังคมโดยส่วนรวม พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้ผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 แล้วหรือมีเหตุผลอื่นตามที่อ้างในฎีกาก็มิใช่เหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้ออื่นเป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ที่โจทก์ขอให้บวกโทษจำคุก 15 วัน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 606/2560 ของศาลจังหวัดพระโขนง เข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้นั้น เห็นว่า ในคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (พืชกระท่อม) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 76 วรรคสอง ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว หลังจากนั้นระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาในคดีนี้ ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 โดยมาตรา 17 ยกเลิกความในมาตรา 76 วรรคสอง และให้ใช้ข้อความใหม่แทนว่า “ถ้ายาเสพติดซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำตามวรรคหนึ่งนั้นเป็นพืชกระท่อม ผู้นั้นต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท” อันเป็นกรณีที่กฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำที่โจทก์ขอให้บวกโทษเป็นความผิดอยู่ แต่โทษตามกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดมีเพียงโทษปรับซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากกว่ากฎหมายเก่าที่มีโทษจำคุกด้วย กรณีจึงไม่อาจบวกโทษจำคุกแก่จำเลยที่ 2 ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดหยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 2 ปี ลดโทษให้จำเลยทั้งสองคนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 1 ปี 4 เดือน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share