แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่โจทก์วางจดหมายไว้บนโต๊ะทำงานพร้อมใบลาออกยังไม่เป็นผลทำให้การจ้างแรงงานสิ้นสุดลง เพราะไม่ปรากฏว่าจำเลยทราบและอนุมัติใบลาออกของโจทก์แล้ว และ ท. ผู้จัดการฝ่ายการเงินและบัญชีเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ท. เป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ได้รับทราบ ใบลาออกของโจทก์และเป็นผู้อนุมัติใบลาออก การแสดงเจตนาลาออกของโจทก์จึงมีผลทำให้สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลง ย่อมหมายความว่า ท. เป็นผู้มีอำนาจกระทำการอนุมัติใบลาออกของโจทก์แทนจำเลยนั่นเอง อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย เป็นอุทธรณ์ใน ข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
สำเนาเอกสารที่โจทก์อ้างเป็นเพียงพยานหลักฐานประกอบพยานอื่น ทั้งเมื่อโจทก์อ้างส่งสำเนาเอกสาร ดังกล่าว จำเลยมิได้คัดค้านว่าต้นฉบับไม่มีหรือเอกสารปลอมหรือสำเนาไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 ศาลย่อม รับฟังเอกสารนั้นได้ มิใช่เป็นการรับฟังพยานหลักฐานโดยฝ่าฝืน ป.วิ.พ. มาตรา 93 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
ย่อยาว
คดีทั้งสี่สำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันโดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ ๑ ถึงโจทก์ที่ ๔
โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหาย ค่าจ้างค้างจ่าย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่ารักษาพยาบาล และค่าล่วงเวลาพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ เจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่ตามลำดับ
จำเลยทั้งสี่สำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งสี่แถลงไม่ติดใจเรียกร้องค่าจ้างค้างจ่าย ค่าล่วงเวลา ค่ารักษาพยาบาลตามฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจาก การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และยกฟ้องโจทก์ที่ ๒
โจทก์ที่ ๒ และจำเลยสำนวนที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ที่ ๒ อุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ที่ ๒ วางจดหมายไว้บนโต๊ะทำงานพร้อมใบลาออกยังไม่เป็นผลทำให้การจ้างแรงงานสิ้นสุดลง เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยทราบและ อนุมัติใบลาออกของโจทก์ที่ ๒ แล้ว และนางทิพย์รัตน์ ผู้จัดการฝ่ายการเงินและบัญชีเป็นผู้มีอำนาจกระทำการ แทนจำเลย เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า นางทิพย์รัตน์เป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ที่ ๒ ได้รับทราบใบลาออกของโจทก์ที่ ๒ และเป็นผู้อนุมัติใบลาออกการแสดงเจตนาลาออกของโจทก์ที่ ๒ จึงมีผลทำให้สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ที่ ๒ กับจำเลยสิ้นสุดลง ย่อมมีความหมายว่า นางทิพย์รัตน์เป็นผู้มีอำนาจกระทำการอนุมัติใบลาออกของโจทก์ที่ ๒ แทนจำเลยนั่นเอง อุทธรณ์ของโจทก์ที่ ๒ จึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า ที่ศาลแรงงานกลางรับฟังเอกสารซึ่งเป็นเพียงสำเนาเอกสารมิใช่ ต้นฉบับ เป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า สำเนาเอกสารที่โจทก์อ้างเป็นเพียงพยาน หลักฐานประกอบกับพยานอื่น ทั้งเมื่อโจทก์อ้างส่งสำเนาเอกสารดังกล่าว จำเลยมิได้คัดค้านว่าต้นฉบับไม่มีหรือเอกสารปลอมหรือสำเนาไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๒๕ ศาลย่อมรับฟังเอกสารนั้นได้ มิใช่เป็นการรับฟัง พยานหลักฐานโดยฝ่าฝืน ป.วิ.พ. มาตรา ๙๓ ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑
พิพากษายืน.