คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4074/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์เป็นผู้จดทะเบียนตั้งชื่อสกุลไว้แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิอนุญาตให้จำเลยใช้ชื่อสกุลร่วมด้วยได้โดยดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 มาตรา 11แต่เมื่อมีการอนุญาตแล้ว จำเลยผู้ได้รับอนุญาตย่อมมีสิทธิใช้ชื่อสกุลร่วมกับโจทก์เสมือนหนึ่งเป็นเจ้าของชื่อสกุลนั้นเองกล่าวคือ หากจำเลยสมรสกับหญิง หญิงผู้เป็นภริยารวมทั้งบุตรก็มีสิทธิใช้ชื่อสกุลของโจทก์ด้วยและการอนุญาตให้ใช้ชื่อสกุลร่วมด้วยเช่นนี้ หาใช่เรื่องที่อาจจะเพิกถอนการอนุญาตเสียเมื่อใดก็ได้ตามอำเภอใจของโจทก์ไม่ ดังที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยใช้ชื่อสกุลของโจทก์ไปในทางที่เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือแก่ชื่อเสียงของชื่อสกุลของโจทก์อันอาจเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จึงไม่มีเหตุตามกฎหมายที่โจทก์จะห้ามมิให้จำเลยใช้ชื่อสกุลร่วมกับโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2499 โจทก์จดทะเบียนตั้งชื่อสกุลว่า “นำเบญจพล” และนายทะเบียนได้อนุญาตและจดทะเบียนชื่อสกุลของโจทก์ไว้โดยชอบ จำเลยเป็นหลานของโจทก์ได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้ใช้ชื่อสกุลดังกล่าว ต่อมาเมื่อประมาณ 1 ปีเศษก่อนฟ้องจำเลยไม่ให้ความเคารพนับถือโจทก์ โจทก์จึงไม่ประสงค์ให้จำเลยใช้ชื่อสกุลของโจทก์ต่อไป โจทก์แจ้งจำเลยให้เปลี่ยนชื่อสกุลแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย เป็นละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยเลิกใช้ชื่อสกุลว่า “นำเบญจพล” ของโจทก์ต่อไป หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาให้นายทะเบียนลบชื่อสกุลของจำเลย

จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่กรรม นายเกตุ นำเบญจพลทายาทของโจทก์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนตั้งชื่อสกุลว่า “นำเบญจพล” เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2499 และจำเลยได้รับอนุญาตให้ใช้ชื่อสกุลดังกล่าวร่วมกับโจทก์ ต่อมาโจทก์กับจำเลยมีสาเหตุพิพาทกันเป็นคดีแพ่งอีกเรื่องหนึ่ง โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยใช้ชื่อสกุล “นำเบญจพล” ต่อไป ได้บอกกล่าวให้จำเลยเปลี่ยนชื่อสกุลแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย

คดีคงมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์เพียงข้อเดียวว่า โจทก์มีสิทธิห้ามมิให้จำเลยใช้ชื่อสกุล “นำเบญจพล” ร่วมกับโจทก์ต่อไปหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า เมื่อโจทก์เป็นผู้จดทะเบียนตั้งชื่อสกุลไว้แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิอนุญาตให้จำเลยใช้ชื่อสกุลร่วมด้วยได้โดยดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 มาตรา 11 แต่เมื่อมีการอนุญาตแล้ว จำเลยผู้ได้รับอนุญาตย่อมมีสิทธิใช้ชื่อสกุลร่วมกับโจทก์เสมือนหนึ่งเป็นเจ้าของชื่อสกุลนั้นเอง กล่าวคือ หากจำเลยสมรสกับหญิงหญิงผู้เป็นภริยารวมทั้งบุตรก็มีสิทธิใช้ชื่อสกุลของโจทก์ด้วยและการอนุญาตให้ใช้ชื่อสกุลร่วมด้วยเช่นนี้ หาใช่เรื่องที่อาจจะเพิกถอนการอนุญาตเสียเมื่อใดก็ได้ตามอำเภอใจของโจทก์ไม่ดังที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ ทั้งตามคำฟ้องก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยใช้ชื่อสกุลของโจทก์ไปในทางที่เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือแก่ชื่อเสียงของชื่อสกุลของโจทก์อันอาจเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์แต่อย่างใด กรณีจึงไม่มีเหตุตามกฎหมายที่โจทก์จะห้ามมิให้จำเลยใช้ชื่อสกุล “นำเบญจพล” ร่วมกับโจทก์ต่อไปได้

พิพากษายืน

Share