แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดอาญาซึ่งกระทำต่อนิติบุคคล ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลมีอำนาจเป็นโจทก์หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 และมาตรา 5 สำหรับโจทก์ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 51 บัญญัติให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินกิจการและเป็นผู้แทนสหกรณ์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนหรือผู้จัดการทำการแทนก็ได้ ประกอบกับข้อบังคับของโจทก์ระบุให้คณะกรรมการดำเนินการของโจทก์มีอำนาจหน้าที่ให้ฟ้อง ต่อสู้ หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์… ดังนี้ คณะกรรมการดำเนินการของโจทก์จึงเป็นผู้แทนโจทก์ที่มีอำนาจฟ้องคดีด้วยตนเองหรือมอบหมายให้ผู้หนึ่งผู้ใดฟ้องคดีก็ได้ การกระทำในนามของโจทก์ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์ซึ่งระบุว่าการลงลายมือชื่อแทนสหกรณ์ตามความในวรรคแรกต้องประทับตราของสหกรณ์ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงตามหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ คงมีแต่คณะกรรมการดำเนินการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อในนามของโจทก์ลงลายมือชื่อโดยมิได้มีการประทับตราของโจทก์กำกับไว้เช่นนี้ จึงถือไม่ได้ว่าคณะกรรมการดำเนินการได้กระทำการโดยชอบในฐานะผู้แทนสหกรณ์โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคล มีผลเท่ากับโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ ช. ฟ้องคดีนี้ได้โดยชอบ ช. จึงไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อในคำฟ้องแทนโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเก้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 86, 91, 352, 353, 354
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 ให้ประทับฟ้อง จำเลยอื่นให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ประทับฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 6 และที่ 8 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 3 ที่ 7 และที่ 9 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก, 353 จำเลยที่ 4 และที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 532 วรรคแรก (ที่ถูก มาตรา 352 วรรคแรก) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์และฐานเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น การกระทำของจำเลยที่ 3 ที่ 7 และที่ 9 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทแต่ละบทมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น กระทำผิดต่อหน้าที่โดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 7 รวม 17 กระทง จำเลยที่ 5 รวม 16 กระทง จำเลยที่ 9 รวม 15 กระทง กระทงละ 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 7 คนละ 102 เดือน จำเลยที่ 5 รวม 96 เดือน จำเลยที่ 9 รวม 90 เดือน
จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 มีคณะกรรมการดำเนินการซึ่งได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2558 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 จำนวน 15 คน โจทก์ฟ้องคดีนี้โดย ได้มอบอำนาจให้นางสาวชนกานต์ เป็นผู้ดำเนินคดีแทนตามหนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 โดยกล่าวหาว่าจำเลยทั้งเก้าร่วมกันยักยอกเงินโจทก์ ต่อมาในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 คณะกรรมการดำเนินการมีมติให้ฟ้องจำเลยทั้งเก้า
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้นางสาวชนกานต์ ฟ้องคดีนี้โดยชอบหรือไม่ เห็นว่า ในกรณีความผิดอาญาซึ่งกระทำต่อนิติบุคคลนั้น ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลมีอำนาจเป็นโจทก์หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 3 และมาตรา 5 สำหรับโจทก์ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 นั้น มาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินกิจการและเป็นผู้แทนสหกรณ์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนหรือผู้จัดการทำการแทนก็ได้” ประกอบกับข้อบังคับของโจทก์ ข้อ 74 (24) ระบุให้คณะกรรมการดำเนินการของโจทก์มีอำนาจหน้าที่ให้ฟ้อง ต่อสู้ หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ หรือประนีประนอมยอมความ หรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาชี้ขาด ดังนี้ คณะกรรมการดำเนินการของโจทก์จึงเป็นผู้แทนโจทก์ที่มีอำนาจฟ้องคดีด้วยตนเองหรือมอบหมายให้ผู้หนึ่งผู้ใดฟ้องคดีแทนก็ได้ การกระทำในนามของโจทก์นั้นต้องปฏิบัติตามระเบียบสหกรณ์การเกษตรเชียงของ จำกัด ว่าด้วยการลงลายมือชื่อแทนสหกรณ์ พ.ศ.2547 หน้า 37 ข้อ 4 วรรคแรก ซึ่งกำหนดไว้ว่า “การลงลายมือชื่อแทนสหกรณ์ การลงลายมือชื่อเพื่อดำเนินกิจการของสหกรณ์และแทนสหกรณ์ในกิจการซึ่งสหกรณ์มีข้อผูกพันเกี่ยวกับบุคคลภายนอกให้ประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการเลขานุการหรือผู้ช่วยเลขานุการ เหรัญญิก หรือผู้จัดการหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้จัดการ รวมสองคนเป็นผู้ลงชื่อแทนสหกรณ์ในเอกสารทั้งปวงได้ เว้นแต่คณะกรรมการดำเนินการจะได้มอบหมายให้กรรมการดำเนินการคนหนึ่ง หรือหลายคน หรือผู้จัดการทำการแทนตามความในระเบียบว่าด้วยคณะกรรมการดำเนินการ ก็ให้เป็นไปตามที่มอบหมายนั้น” และวรรคสองกำหนดไว้ว่า “การลงลายมือชื่อแทนสหกรณ์ตามความในวรรคแรกต้องประทับตราของสหกรณ์ไว้ด้วย” เมื่อการฟ้องคดีนี้ปรากฏว่าคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ได้มอบอำนาจให้นางสาวชนกานต์ดำเนินคดีแทน ในการฟ้องคดีอาญานั้น โจทก์ย่อมมีภาระการพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าอำนาจฟ้องของโจทก์เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ที่โจทก์นำสืบมานี้ โจทก์ไม่อาจนำสืบให้ศาลเห็นได้โดยชัดแจ้งว่า คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจลงลายมือชื่อในนามของโจทก์ตามลำพังโดยมิต้องประทับตราของโจทก์มีผลผูกพันโจทก์ได้ เมื่อข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาปรากฏว่าหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ คงมีแต่คณะกรรมการดำเนินการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อในนามของโจทก์ลงลายมือชื่อไว้ในเอกสารโดยมิได้มีการประทับตราของโจทก์กำกับไว้เช่นนี้ จึงถือไม่ได้ว่า คณะกรรมการดำเนินการได้กระทำการโดยชอบในฐานะผู้แทนสหกรณ์โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคล มีผลเท่ากับโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจ มอบอำนาจให้นางสาวชนกานต์ฟ้องคดีนี้ได้โดยชอบ นางสาวชนกานต์จึงไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อในคำฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ได้ ส่วนที่นางสาวชนกานต์และนายจำรัสเบิกความตอบทนายโจทก์ถามติงว่า เหตุที่หนังสือมอบอำนาจไม่ได้ประทับตราของโจทก์นั้น เนื่องจากได้ออกตามมติของคณะกรรมการตามรายงานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าหนังสือมอบอำนาจฉบับดังกล่าวจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 ก่อนที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการมีมติให้ฟ้องในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองดังกล่าวไม่อาจรับฟังได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน