แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มิใช่บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเจตนาไม่สุจริต เป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ร่วมคิดกับจำเลยที่ 2 เท่านั้น หากแต่ได้บรรยายด้วยว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ครั้นถึงวันกำหนดโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 1 ไม่ยอมโอนขายให้ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเจตนาไม่สุจริต เป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ร่วมคิดกับจำเลยที่ 2 คำฟ้องดังกล่าว เมื่อพิจารณาประกอบกันโดยตลอดแล้วมีความหมายว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 สมรู้ร่วมคิดกันทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างกันขึ้นโดยไม่เป็นความจริง เป็นการกระทำที่ไม่สุจริตเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้จำเลยที่ 1 ต้องโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ข้อความตามคำฟ้องดังกล่าวชัดพอที่จะทำให้จำเลยที่ 2 ต่อสู้คดีได้แล้ว จึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยที่ 2 มิได้เป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทและจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท การที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ภายหลังโดยอ้างว่าตนเป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทและมีสิทธิที่จะซื้อได้ก่อนโจทก์ซึ่งไม่เป็นความจริง แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 มีเจตนาไม่สุจริตสมรู้ร่วมคิดกันแสดงเจตนาลวงโดยทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างกันเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้จำเลยที่ 1 ต้องโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ไม่โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้
เงินมัดจำที่โจทก์จะต้องคืนให้แก่ ว.ผู้จะซื้อที่ดินพิพาทต่อจากโจทก์นั้น เป็นเงินที่ ว.ออกเป็นค่ามัดจำไว้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ไม่สามารถโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่ ว.ตามสัญญาที่ทำกันไว้ได้ โจทก์ก็ต้องคืนเงินที่รับไว้ให้แก่ ว.และหากโจทก์ไม่ผิดสัญญาโดยสามารถโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่ ว.ได้ เงินมัดจำนี้โจทก์ก็ต้องหักเป็นเงินค่าที่ดินที่ ว.จะต้องชำระให้แก่โจทก์ ดังนั้น การที่โจทก์ต้องคืนเงินจำนวนนี้ให้แก่ ว.จึงถือไม่ได้ว่าเป็นค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์
เงินค่าขาดกำไรที่โจทก์จะได้รับจากการขายที่ดินพิพาทให้แก่ว.เป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษตาม ป.พ.พ.มาตรา 222 วรรคสองเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รู้หรือควรจะรู้ว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทแล้วไปขายต่อให้ ว.จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นความเสียหายดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์
การชำระเงินค่าที่ดินที่ค้างเป็นการชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาโดยไม่บังคับให้โจทก์ชำระเงินค่าที่ดินที่ค้างให้จำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วย ป.พ.พ.มาตรา 369 แม้จำเลยที่ 1 จะไม่อุทธรณ์ฎีกาในข้อนี้ ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้