คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4084/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีหมายเลขแดงที่ ขก. 2/2559 ของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ยกคำร้องขอคืนของกลาง โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีพยานมาสืบตามคำร้อง จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีแล้ว การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนของกลางในคดีนี้อีกครั้ง โดยอ้างเหตุว่า ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดของจำเลยซึ่งเป็นการอ้างเหตุอย่างเดียวกับคำร้องฉบับแรก ในคดีหมายเลขแดงที่ ขก. 2/2559 ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษายกคำร้องไปแล้ว กรณีจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (8), 134 วรรคแรก, 160 วรรคสาม, 160 ทวิ ริบรถยนต์ของกลางและเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย 1 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้สั่งคืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอคืนของกลาง
ศาลชั้นต้นงดไต่สวน และให้ยกคำร้องขอคืนของกลางเนื่องจากเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า การยื่นคำร้องขอคืนของกลางในคดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่ ผู้ร้องฎีกาว่า การที่จะพิจารณาว่าคดีใดเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 นั้น ต้องเป็นกรณีที่ศาลจะต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว เห็นว่า คดีหมายเลขแดงที่ ขก. 2/2559 ของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ยกคำร้องขอคืนของกลาง โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีพยานมาสืบตามคำร้อง จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีแล้ว โดยอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้คู่ความฟังวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนของกลางในคดีนี้อีกครั้งในวันที่ 8 ธันวาคม 2559 โดยอ้างเหตุว่า ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดของจำเลยซึ่งเป็นการอ้างเหตุอย่างเดียวกับคำร้องฉบับแรก ในคดีหมายเลขแดงที่ ขก. 2/2559 ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษายกคำร้องไปแล้ว กรณีจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share