คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 489/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาขณะที่บิดาตายมีสิทธิเป็นทายาทได้ถ้าหากภายหลังได้เกิดมารอดอยู่ และโดยมีพฤติการณ์ที่บิดารับรองทารกในครรภ์ว่าเป็นบุตรของตน
อายุความฟ้องเรียกมรดกหนึ่งปีตามมาตรา 1754 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นั้น จำแนกไว้สองประการคือนับแต่เจ้ามรดกตายประการหนึ่ง หรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกอีกประการหนึ่ง ฉะนั้น การที่เด็กผู้เป็นทายาทเกิดภายหลังที่บิดาตายแล้วอายุความฟ้องร้องเรียกมรดกจึงเริ่มนับตั้งแต่เด็กนั้นคลอดเป็นต้นไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เด็กชายอนันต์ จันทวงศ์ เป็นบุตรนางพุดทองและเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายพิน จันทวงศ์ โดยคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้ว นายพินถึงแก่กรรมขณะเด็กชายอนันต์ยังเป็นทารกในครรภ์ และได้สภาพบุคคลต่อมา ขณะเด็กชายอนันต์อยู่ในครรภ์นายพินได้รับรองว่าเป็นบุตรโดยพฤติการณ์ จำเลยในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของนางสาวริ ทายาทของนายพินอีกคนหนึ่งไม่ยอมแบ่งมรดกให้ จึงขอให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกนายพินให้เด็กชายอนันต์กึ่งหนึ่ง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ตอนแรกศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยาน วินิจฉัยว่านายพินตายก่อนเด็กชายอนันต์เกิด ไม่เคยเป็นบุตรและบิดากันเลยไม่มีทางที่บิดาจะรับรองได้ พิพากษายกฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายกให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ศาลชั้นต้นเห็นว่านายพินได้ปฏิบัติต่อนางพุดทองและเด็กชายอนันต์ระหว่างอยู่ในครรภ์อย่างที่ปฏิบัติมารดาเด็กและบุตรทั้งหลายอื่นว่าเป็นบุตรของตนแล้ว พิพากษาให้แบ่งมรดกนายพินให้เด็กชายอนันต์กึ่งหนึ่ง

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า นายพินผู้ตายได้ปฏิบัติต่อนางพุดทองในระหว่างตั้งครรภ์เด็กชายอนันต์อย่างสามีพึงปฏิบัติต่อภรรยาและบุตรในครรภ์อันเป็นบุตรของตนเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นได้ชัดในคดีนี้ว่า นายพินได้รับรองเด็กชายอนันต์เป็นบุตรของตนตั้งแต่อยู่ในครรภ์แล้ว เด็กชายอนันต์จึงอยู่ในฐานะเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายพิน และเป็นทายาทของนายพินได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 และ 1604

ส่วนข้อที่จำเลยคัดค้านว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ปรากฏว่านายพินตายเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2499 เด็กชายอนันต์คลอดจากครรภ์มารดาเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2499 โจทก์ ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2500 ถ้าคำนวณจากวันนายพินตายก็เป็นเวลาเกิน 1 ปี แต่ถ้าคำนวณจากวันเด็กชายอนันต์คลอดจากครรภ์มารดาก็ยังไม่ถึง 1 ปีนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายหรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกดังนี้ ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าอายุความฟ้องร้องเรียกมรดกได้จำแนกไว้เป็นสองประการกล่าวคือ นับแต่เจ้ามรดกตายประการหนึ่งหรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกอีกประการหนึ่งซึ่งมีความหมายว่า ถ้ารู้ว่าได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ให้นับอายุความตั้งแต่วันรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ในคดีนี้จึงต้องเริ่มนับอายุความเมื่อเด็กชายอนันต์คลอด เพราะก่อนคลอดเด็กชายอนันต์ไม่อยู่ในฐานะได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกได้ คดีโจทก์ยังหาขาดอายุความไม่ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share