คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6504/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินคืนแก่ประชาชน รวมเป็นเงิน 13,620,000 บาท ซึ่งเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีทรัพย์สินให้ยึดและอายัดเพียงประมาณ 100,000 บาท เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าจำนวนหนี้ที่ต้องรับผิดอยู่เป็นจำนวนมาก พนักงานสอบสวนได้ออกหมายจับจำเลยที่ 2 มาดำเนินคดี แต่จำเลยที่ 2หลบหนี และในระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นยังติดตามจับกุมจำเลยที่ 2 ไม่ได้ พฤติการณ์แสดงว่า จำเลยที่ 2 ได้ไปเสียจากเคหสถานที่เคยอยู่หรือหลบหนีไป กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 8(4) ข. ว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว และมีหน้าที่ต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐาน แต่เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่นำสืบพยานหลักฐานใด จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2มีหนี้สินล้นพ้นตัว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527มาตรา 10 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล ประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 2เป็นกรรมการลงลายมือชื่อและประทับตราบริษัทมีอำนาจกระทำการผูกพันจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นภรรยาของจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสามโดยมีเจตนาทุจริตได้ร่วมกันหลอกลวงประชาชน โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้แจ้งด้วยการโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียง แผ่นป้ายและแผ่นพับ แพร่ข่าวชักชวนด้วยวาจา ทั้งจัดตั้งตัวแทนตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป แนะนำชักชวนประชาชนทั่วไปตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปว่าจำเลยทั้งสามประกอบธุรกิจเลี้ยงนากหญ้าให้ผลตอบแทนสูงผู้ใดประสงค์จะรับพันธุ์นากหญ้าไปเลี้ยงให้มาทำสัญญากับจำเลยทั้งสามโดยจำเลยทั้งสามเป็นคู่สัญญาในฐานะผู้ว่าจ้างเลี้ยง และประชาชนผู้สนใจเป็นคู่สัญญาในฐานะผู้รับจ้างเลี้ยงแต่ผู้รับจ้างเลี้ยงจะต้องมอบเงิน 20,000 บาทให้แก่จำเลยทั้งสามเป็นการค้ำประกันการนำพ่อแม่พันธุ์นากหญ้า 1 คู่ ไปเลี้ยงโดยกำหนดระยะเวลารับจ้างเลี้ยงเป็นปี เมื่อครบกำหนดจำเลยทั้งสามจะคืนเงินค้ำประกันบางส่วนให้แก่ผู้รับจ้างเลี้ยง จำเลยทั้งสามสัญญาว่าจะรับซื้อลูกนากหญ้าคืนในราคาตัวละ 4,000 บาท ปีหนึ่งนากหญ้าจะออกลูกอย่างต่ำจำนวน 10 ตัว ผู้รับจ้างเลี้ยงจะได้รับผลตอบแทนจากการขายลูกนากหญ้าเป็นเงิน 40,000 บาท คิดเป็นค่าตอบแทนเท่ากับร้อยละ 200 ต่อปี ซึ่งสูงเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายจะพึงจ่ายได้ ความจริงแล้วจำเลยทั้งสามไม่มีเจตนาจะรับซื้อลูกนากหญ้าและนากหญ้าดังกล่าวไม่สามารถนำไปซื้อขายเป็นสัตว์เศรษฐกิจได้ ทั้งจำเลยทั้งสามมิได้ประกอบธุรกิจใด ๆ อันชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงเพียงพอที่จะนำไปจ่ายในอัตรานั้นได้แต่จำเลยทั้งสามใช้วิธีการนำเงินของผู้รับจ้างเลี้ยงรายหลัง ๆ ไปจ่ายรับซื้อลูกนากหญ้าบางส่วนคืนจากผู้รับจ้างเลี้ยงในรายแรก ๆ ในลักษณะเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องกันไป หากไม่มีผู้รับจ้างเลี้ยงในรายหลัง จำเลยทั้งสามก็จะไม่มีเงินรับซื้อลูกนากหญ้าที่เกิดขึ้นในภายหลัง และในที่สุดก็จะหยุดกิจการหลบหนีไปไม่คืนเงินค่าค้ำประกันให้แก่ผู้รับจ้างเลี้ยงอันเข้าลักษณะเป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 เป็นเหตุให้ประชาชนหลงเชื่อและเข้าทำสัญญากับจำเลยทั้งสามอย่างน้อย 681 ราย คิดเป็นเงินกู้ยืมจำนวน13,620,000 บาท จำเลยทั้งสามเป็นผู้ต้องหาว่าร่วมกันกระทำความผิดต่อพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527และจำเลยทั้งสามเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือมีสินทรัพย์ไม่พอชำระหนี้ได้ และเป็นหนี้ผู้ให้กู้ยืมเงินรายหนึ่งหรือหลายรายเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 100,000 บาท และหนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสามเป็นบุคคลล้มละลาย

จำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 กระทำการในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ได้ประกอบธุรกิจว่าจ้างให้ประชาชนรับจ้างเลี้ยงนากหญ้า จำเลยที่ 1ได้ปฏิบัติตามสัญญาตลอดมา ต่อมาถูกสื่อมวลชนและส่วนราชการกล่าวหาว่าเป็นธุรกิจหลอกลวงประชาชน ทำให้ธุรกิจของจำเลยที่ 1หยุดชะงักไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ จำเลยที่ 1 มิได้หลอกลวงประชาชนคดีจำเลยที่ 1 อยู่ระหว่างสอบสวนของพนักงานสอบสวนจำเลยที่ 1 จึงยังไม่อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ และหากเป็นลูกหนี้ หนี้ดังกล่าวก็ยังไม่อาจกำหนดได้โดยแน่นอนทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่เคยถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1และที่ 2 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14(ที่ถูกประกอบพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนพ.ศ. 2527 มาตรา 10) ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “… มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวสมควรให้เป็นบุคคลล้มละลายหรือไม่ เห็นว่าโจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1กระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนดังกล่าว จำเลยที่ 2มิได้นำสืบโต้แย้งเป็นประการอื่นข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามนั้นจำเลยที่ 2จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินคืนแก่ประชาชนจำนวน 681 รายรวมเป็นเงิน 13,620,000 บาท ซึ่งเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ได้ความตามคำเบิกความของนางรัตนา แสนประสิทธิ์พยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ว่า โดยอนุมัติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เห็นสมควรให้มีการดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไว้ก่อนเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนผู้ให้กู้ยืมเงิน ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีทรัพย์สินให้ยึดและอายัดเพียงประมาณ 100,000 บาท เท่านั้น ตามประกาศยึดทรัพย์สินและแบบคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวมีมูลค่าต่ำกว่าจำนวนหนี้ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2ต้องรับผิดต่อประชาชนผู้ให้กู้ยืมเงินอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งยังได้ความตามคำเบิกความของพันตำรวจตรีดำรงค์ ม่วงอยู่ และร้อยตำรวจเอกเลอศักดิ์ บรรจง พนักงานสอบสวนพยานโจทก์ว่า เมื่อมีประชาชนมาร้องทุกข์แล้ว พนักงานสอบสวนได้ออกหมายจับจำเลยที่ 2 มาดำเนินคดีแต่จำเลยที่ 2 หลบหนี และในระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นยังติดตามจับกุมจำเลยที่ 2 ไม่ได้ ตามพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 2 ได้ไปเสียจากเคหสถานที่เคยอยู่หรือหลบหนีไป กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(4) ข. ว่าจำเลยที่ 2มีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว แต่จำเลยที่ 2 ไม่นำสืบพยานหลักฐานแต่อย่างใดข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวสมควรให้เป็นบุคคลล้มละลายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ให้เป็นพับ

Share