แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 จะต้องปรากฏว่า เป็นผู้วิกลจริต หรือมีสติวิปลาสในทำนองเป็นคนบ้า โรคจิตพวกจิตเภท อันเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าเป็นแต่เพียงโรคทางจิตชนิดหนึ่งที่ทำให้ความคิดและบุคคลิกภาพผิดปกติ ไปเท่านั้น ซึ่งเป็นคนละอย่างกับคนวิกลจริต หรือโรคทางจิต ชนิดที่มีความผิดปกติของความรู้สึกหรือพฤติกรรมอย่างแรง ถึงขนาดคุมสติไม่อยู่ แต่ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลย มีอาชีพค้าขาย ซึ่งปกติของคนมีอาชีพค้าขายจะต้องเป็น ผู้เฉลียวฉลาด รู้จักการแสวงหากำไรประกอบกับตามคำให้การและรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นก็ปรากฏว่าจำเลยสามารถ ลงลายมือชื่อได้ถูกต้อง และตามคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ลงวันที่วันเดียวกันจำเลยสามารถลงลายมือชื่อและนามสกุล ได้เรียบร้อยสวยงาม อีกทั้งยังมีลักษณะเหมือนคนปกติ นอกจากนี้ตามสำเนาทะเบียนบ้านท้ายฎีกาก็ปรากฏอีกว่าจำเลย สามารถเป็นเจ้าบ้านและเปลี่ยนชื่อเป็น ท. โดยเมื่อปี 2533 และ 2538 ก่อนจำเลยถูกฟ้อง จำเลยก็มีบุตรชายได้ตามปกติ ถึง 2 คน จำเลยจึงมิใช่คนวิกลจริตที่ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 67
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 จำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำคุก 5 ปีจำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับปัญหาข้อแรกจำเลยฎีกาพร้อมกับยื่นคำร้องขอให้มีการพิจารณาใหม่ โดยอ้างว่าตอนที่ศาลชั้นต้นนั่งพิจารณาและสอบถามคำให้การจำเลย จำเลยป่วยเป็นโรคจิตมาตั้งแต่ปี 2519 และไม่สามารถรู้ผิดชอบนั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 14 บัญญัติว่า” ถ้ามีเหตุควรเชื่อว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้” ฉะนั้นการมีเหตุอันควรเชื่อว่า จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้จะต้องปรากฏว่า จำเลยเป็นผู้วิกลจริต หรือมีสติวิปลาสในทำนองเป็นคนบ้า แต่ข้อนี้ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยมีอาชีพค้าขาย ซึ่งปกติของคนมีอาชีพค้าขายจะต้องเป็นผู้เฉลียวฉลาดรู้จักการแสวงหากำไรประกอบกับตามคำให้การและรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 24 กันยายน 2540ก็ปรากฏว่า จำเลยสามารถลงลายมือชื่อได้ถูกต้อง และตามคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ลงวันที่วันเดียวกันจำเลยสามารถลงลายมือชื่อและนามสกุลได้เรียบร้อยสวยงามอีกทั้งยังมีลักษณะเหมือนคนปกติอย่างเดียวกับลายมือชื่อของนางถ่าย สุวรรณประทีป ผู้ขอประกัน นอกจากนี้ยังปรากฏตามสำเนาทะเบียนบ้านท้ายฎีกาอีกว่าจำเลยสามารถเป็นเจ้าบ้านและเปลี่ยนชื่อเป็นนายทรงพล โดยเมื่อปี 2533 และ 2538 จำเลยก็มีบุตรชายได้ตามปกติถึง 2 คนพฤติการณ์จำเลยจึงมิใช่คนวิกลจริตที่ไม่สามารถต่อสู้คดีได้หรือหากจำเลยเป็นโรคจิตพวกจิตเภท อันเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าเป็นแต่เพียงโรคทางจิตชนิดหนึ่งที่ทำให้ความคิดและบุคคลิกภาพผิดปกติไปเท่านั้น ซึ่งเป็นคนละอย่างกับคนวิกลจริต หรือโรคทางจิตชนิดที่มีความผิดปกติของความรู้สึกหรือพฤติกรรมอย่างแรงถึงขนาดคุมสติไม่อยู่กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) ที่ประกาศให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรงในประเภท 1 เป็นโมฆะและมีผลใช้บังคับหรือไม่ ซึ่งข้อนี้จำเลยมิได้ฎีกาให้ได้ความชัดเจนว่าเหตุที่ไม่มีผลบังคับใช้ตามทฤษฎีของกฎหมายนั้นเกี่ยวกับกฎหมายอะไร และได้วางหลักในเรื่องดังกล่าวไว้เป็นประการใดหรือโดยทฤษฎีของกฎหมายสมัยใด อีกประการหนึ่งการที่จำเลยอ้างว่าไปขัดคำนิยาม หรือคำวิเคราะห์ศัพท์ จำเลยก็ไม่ได้แยกแยะให้ละเอียดชัดเจนว่า ขัดกับถ้อยคำใดและวรรคตอนไหน อย่างไรจึงเป็นฎีกาที่จำเลยมิได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้ง อันเป็นฎีกา ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15แม้ศาลชั้นต้นจะได้สั่งรับฎีกาของจำเลยข้อนี้มา ศาลฎีกาก็ไม่วินิจฉัย
ส่วนปัญหาที่ว่า ควรรอการลงโทษแก่จำเลยหรือไม่นั้นเห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดีแม้จำเลยจะได้ให้การรับสารภาพแต่ก็พยายามหาเหตุมาแก้ตัวต่าง ๆ นานาเพื่อไม่ต้องรับโทษเสมือนหนึ่งเป็นผู้ไม่รู้สึกสำนึกผิด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วางโทษจำคุกจำเลยมานั้นนับว่าเหมาะสมแล้ว
พิพากษายืน