คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6497/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่รถยนต์ชำรุดทรุดโทรมเสื่อมราคานอกเหนือจากการที่จำเลยใช้รถยนต์นั้นโดยชอบ ป.พ.พ.บรรพ 3. ลักษณะ 5ว่าด้วยเช่าซื้อ มิได้บัญญัติเรื่องอายุความฟ้องร้องไว้โดยตรง แต่การที่จำเลยในฐานะผู้เช่าซื้อเป็นแต่เพียงเช่าทรัพย์นั้นไป โดยมีคำมั่นของโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อว่าจะขายทรัพย์นั้นให้เท่านั้น จึงต้องนำมาตรา 562 ในลักษณะเช่าทรัพย์มาบังคับใช้โดยอนุโลม เมื่อโจทก์ติดตามยึดรถยนต์ที่ให้เช่าซื้อคืนได้วันที่ 23 มีนาคม 2537กรณีจึงถือได้ว่าเป็นวันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 7 กันยายน 2537ยังไม่เกินกำหนด 6 เดือน สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลหนี้ส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ
แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะเรียกร้องมาเป็นค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญา ไม่ได้เรียกร้องเป็นค่าเสียหายฐานผิดสัญญาต่อโจทก์ก็ตาม แต่คำบรรยายฟ้องโจทก์กล่าวว่าโจทก์ได้ทวงถามค่าเช่าซื้อจากจำเลยผู้เช่าซื้อแล้วจำเลยผิดนัด โจทก์ได้รับความเสียหาย กรณีถือได้ว่า โจทก์ได้เรียกค่าเสียหายฐานจำเลยใช้รถยนต์อันเป็นทรัพย์ของโจทก์มาตลอดเวลาที่จำเลย ยังคงครอบครองรถยนต์ของโจทก์อยู่ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลย ใช้ค่าเสียหายได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง
เขตอำนาจศาลว่าด้วยศาลที่จะรับคำฟ้อง ย่อมเป็นไปตามสภาพแห่งคำฟ้องและชั้นของศาลว่าศาลนั้นมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมและต้องปรากฏว่าคดีนั้นอยู่ในเขตศาลนั้นตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.ว่าด้วยศาลที่จะรับคำฟ้องและตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดเขตศาล ตามมาตรา 2 ด้วย
ขณะโจทก์จำเลยทำข้อตกลงกันเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2535ที่สำนักงานใหญ่ของโจทก์ในกรุงเทพมหานคร ว่าตกลงให้ฟ้องคดีที่ศาลแพ่ง ขณะนั้นป.วิ.พ.ที่แก้ไขแล้ว มาตรา 4 (1) ซึ่งใช้บังคับอยู่ได้บัญญัติให้ฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลได้ไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ และมาตรา 5 บัญญัติว่า คำฟ้องหรือคำร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะภูมิลำเนาของบุคคลก็ดีเพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดีหรือเพราะมีข้อหาหลายข้อก็ดีถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้นก็ได้เช่นนี้ เมื่อคำฟ้องของโจทก์อาจเสนอต่อศาลได้สองศาลขึ้นไปคือศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลและศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น ทั้ง ป.วิ.พ.ที่แก้ไขแล้วก็ได้ยกเลิกบทบัญญัติตาม มาตรา 7 (4) เดิม ว่าด้วยข้อตกลงที่คู่สัญญาตกลงที่คู่สัญญาตกลงกันล่วงหน้าให้ฟ้องคดีที่ศาลใดศาลหนึ่ง ดังนี้ เมื่อสำนักงานใหญ่ของโจทก์เป็นสถานที่ที่เกิดมูลคดีขึ้นและอยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ฉะนั้น การที่โจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้และศาลรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาข้างต้นจึงเป็นการชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวแล้ว

Share