คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1331/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน ต่างถึงกำหนดพร้อมกันและมีประกันเท่ากัน แต่หนี้รายที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกัน จะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีตามสัญญา ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าหนี้รายที่จำเลยที่ 3 ค้ำประกัน ซึ่งจะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224วรรคหนึ่ง การนำเงินสะสมของจำเลยที่ 1 ชำระหนี้รายที่จำเลยที่ 2ค้ำประกันเพื่อให้หนี้รายนี้ปลดเปลื้องไปก่อน จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ของลูกหนี้ได้มากกว่า เพราะเป็นการลดภาระที่หนักกว่าของลูกหนี้ แม้หนี้รายที่จำเลยที่ 3 ค้ำประกันจะมีจำนวนสูงกว่าเมื่อคำนวณดอกเบี้ยในระยะเวลาเท่ากัน จำนวนดอกเบี้ยของหนี้รายที่จำเลยที่ 3 ค้ำประกันจะเป็นจำนวนสูงกว่า ก็มิได้ทำให้หนี้ทั้งสองรายนี้ต้องเสียดอกเบี้ยมากกว่า เพราะเมื่อเปรียบเทียบกรณีนำเงินสะสมของจำเลยที่ 1 ไปชำระหนี้รายที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกันกับรายที่จำเลยที่ 3 ค้ำประกัน แล้วคำนวณดอกเบี้ยจากยอดหนี้คงเหลือ จะเห็นได้ว่ากรณีที่นำเงินสะสมดังกล่าวไปชำระหนี้รายที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกัน จำนวนดอกเบี้ยในหนี้ทั้งสองรายรวมกันในระยะเวลาภายหลังจากนั้น จะมีจำนวนน้อยกว่ากรณีนำเงินสะสมดังกล่าวไปชำระหนี้รายที่จำเลยที่ 3 ค้ำประกัน ตามข้อสัญญากำหนดเบี้ยปรับจำนวนสองเท่าของเงินที่จำเลยที่ 1ต้องชดใช้คืนโจทก์ แต่การที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้ทุนฝึกอบรมครบถ้วนเป็นเพราะโจทก์มีส่วนอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ไปศึกษาต่อต่างประเทศเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่กลับมาใช้ทุนและลาออกจากราชการไปการคิดเบี้ยปรับสองเท่าของจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้คืนให้โจทก์จึงเป็นจำนวนที่สูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ลดเบี้ยปรับลงเหลือหนึ่งเท่าของจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้คืน.

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยเรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่าโจทก์ เรียกจำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนว่าจำเลยที่ 1เรียกจำเลยที่ 2 ในสำนวนแรกกับจำเลยที่ 2 ในสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกรมวิสามัญศึกษาตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2505 ต่อมากลางปี พ.ศ. 2515 จำเลยที่ 1 ได้รับคัดเลือกให้ไปศึกษาต่อ ณมหาวิทยาลัยในประเทศแคนาดามีกำหนด 1 ปี 1 เดือน 3 วัน ระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม 2515 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2516 โดยได้รับเงินเดือนจากรัฐบาลไทย จำเลยที่ 1 ทำสัญญาไว้กับกรมวิสามัญศึกษาว่า เสร็จการศึกษาแล้วจะต้องรับราชการต่อไปเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองเท่าของเวลาที่ได้รับทุน หรือที่ได้รับเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่มทั้งนี้สุดแต่เวลาใดจะมากกว่ากัน หากผิดสัญญาหรือไม่กลับมารับราชการจำเลยที่ 1 ยอมใช้คืนเงินทุนและหรือเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่มและหรือเงินอื่นใดทั้งสิ้นซึ่งได้รับจากทางราชการในระหว่างเวลาที่ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาต่อ นอกจากนี้ยังยอมจ่ายเงินเป็นเบี้ยปรับจำนวนหนึ่งเท่าของเงินที่ต้องชดใช้คืน โดยจำเลยที่ 1รับจะชำระหนี้ให้ทั้งหมดภายใน 30 วัน ถัดจากวันรับแจ้งให้ชำระกับยอมให้หักเอาบำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นใดที่จะพึงได้รับจากทางราชการได้ด้วย หากไม่ชำระเงินภายในกำหนด หรือชำระไม่ครบยอมให้คิดดอกเบี้ยจากเงินที่ยังมิได้ชำระในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อกรมวิสามัญศึกษา หลังจากจำเลยที่ 1 เดินทางไปศึกษาต่อครบกำหนดดังกล่าวข้างต้นโดยได้รับเงินเดือนระหว่างไปศึกษาต่อเป็นเงิน34,157.09 บาท จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องรับราชการชดใช้ทุนเป็นระยะเวลาสองเท่าของเวลาที่ไปศึกษาต่อเป็นเวลา 2 ปี 2 เดือน 6 วัน หรือต้องชดใช้เงินสองเท่าของเงินที่ได้รับไปเป็นเงิน 68,314.18 บาทจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่รับราชการชดใช้ทุนโดยได้ลาออกจากราชการไปในวันที่ 1 กันยายน 2516 จำเลยที่ 1 จึงต้องชดใช้เงินให้แก่กรมวิสามัญศึกษาเป็นจำนวน 68,314.18 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี นับแต่วันลาออกจากราชการ อันเป็นวันผิดนัดจนถึงวันชำระเสร็จ จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันมีหน้าที่ร่วมรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่กรมวิสามัญศึกษาด้วย ต่อมาหนี้ดังกล่าวโอนตกมาเป็นของโจทก์ตามกฎหมาย โจทก์บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้หนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 2 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมรับผิดใช้หนี้ดังกล่าวให้โจทก์ กับได้ชดใช้หนี้บางส่วนเป็นเงิน 11,500บาท จำเลยที่ 1 ที่ 2 ต้องร่วมกันรับผิดใช้ต้นเงิน 68,314.18 บาทกับดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวจากต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่1 กันยายน 2516 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 102,330.89 บาท ให้โจทก์และเมื่อหักเงินที่ชดใช้บางส่วนแล้ว คงเหลือเงินที่จำเลยที่ 1 ที่ 2ต้องร่วมกันใช้ให้โจทก์เป็นเงิน 159,145.07 บาท และเมื่อกลางปีพ.ศ. 2513 จำเลยที่ 1 ได้รับคัดเลือกให้ไปอบรมและดูงานการบริหารโรงเรียน ณ มหาวิทยาลัยอัลเบอร์ต้า ประเทศแคนาดา มีกำหนด 10 เดือน5 วัน โดยจำเลยที่ 1 ได้รับเงินเดือนจากรัฐบาลไทยในระหว่างลาไปฝึกอบรม จำเลยที่ 1 ทำสัญญากับกรมวิสามัญศึกษาว่า เมื่อจำเลยที่ 1เสร็จการฝึกอบรมจะต้องรับราชการต่อเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามเท่าของเวลาที่ได้รับทุนหรือที่ได้รับเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่ม ทั้งนี้สุดแต่เวลาใดจะมากกว่ากัน หากผิดสัญญาหรือไม่กลับมารับราชการไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ดี จำเลยที่ 1 ยอมชดใช้คืนทุนซึ่งได้รับจากรัฐบาลแคนาดาทั้งหมด และเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่มตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่น ๆซึ่งได้รับจากทางราชการในระหว่างเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ไปฝึกอบรมและดูงาน นอกจากนี้ยังยอมจ่ายเงินเบี้ยปรับอีกสองเท่าของเงินที่จะต้องชดใช้คืน โดยจำเลยที่ 1 รับจะชำระภายใน 30 วัน ถัดจากวันได้รับแจ้งให้ชำระ กับยอมให้หักเอาเงินบำเหน็จบำนาญและเงินอื่นใดที่จะพึงได้รับจากราชการได้ และเพื่อประกันหนี้ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อกรมวิสามัญศึกษา หลังจากจำเลยที่ 1 เดินทางไปฝึกอบรมและดูงานตามกำหนดดังกล่าว โดยได้รับเงินเดือนระหว่างไปฝึกอบรมรวม 22,945.15 บาท และได้รับเงินทุนการศึกษาที่รัฐบาลแคนาดามอบให้รัฐบาลไทย ซึ่งกรมวิสามัญศึกษาได้รับเงินทุนดังกล่าวมาดำเนินการเพื่อประโยชน์ของกรมวิสามัญศึกษาคิดเป็นเงินไทย 123,411 บาท รวมเป็นเงิน 146,356.15 บาท จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ตามสัญญาต้องรับราชการชดใช้ทุนเป็นระยะเวลาสามเท่าของเวลาที่ไปทำการฝึกอบรมและดูงาน เป็นเวลา 30 เดือน 15 วัน หรือ 915 วันหรือชดใช้เงินสามเท่าของเงินที่ได้รับไประหว่างฝึกอบรมและดูงานเป็นจำนวน 439,068.45 บาท จำเลยที่ 1 ผิดสัญญารับราชการชดใช้ทุนไม่ครบถ้วนโดยรับราชการชดใช้ทุนเพียง 325 วัน ก็ลาออกจากราชการไปในวันที่ 1 กันยายน 2516 คงเหลือเวลาที่ต้องรับราชการใช้ทุนอีก590 วันคิดเป็นเงินที่ต้องชดใช้ทุนเป็นจำนวน 283,115.16 บาท หักเงินสะสมที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับจำนวน 16,445.86 บาท คงเหลือเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องใช้แก่กรมวิสามัญศึกษาเป็นจำนวน 266,669.30บาท จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันมีหน้าที่ต้องร่วมรับผิดเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่กรมวิสามัญศึกษา ซึ่งหนี้ดังกล่าวต่อมาโอนตกมาเป็นของโจทก์ตามกฎหมาย นอกจากนี้แล้วจำเลยที่ 1 ที่ 3 ต้องร่วมรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี ของเงินจำนวน 266,669.30บาท นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2516 จนถึงวันชำระเสร็จอีกด้วย ซึ่งคำนวณดอกเบี้ยดังกล่าวถึงวันฟ้องเป็นเงิน 199,727.99 บาท รวมเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ต้องร่วมกันชดใช้ให้แก่โจทก์เป็นเงิน466,397.29 บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันใช้เงินจำนวน159,145.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของจำนวนเงิน68,314.18 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ร่วมกันใช้เงินจำนวน 466,397.29 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี ของจำนวนเงิน 266,669.30 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาทั้งสองสำนวน
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2523 จำเลยที่ 2 ทำหนังสือรับสภาพหนี้โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าทางราชการอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ลาออกจากราชการ จำเลยที่ 2 จะชำระหนี้จำนวน 68,314.18บาท แก่โจทก์ใน 35 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งให้ลาออก ต่อมาวันที่ 6พฤษภาคม 2524 จำเลยที่ 2 ทำหนังสือรับสภาพหนี้โดยกำหนดว่าจะชำระหนี้ตามจำนวนเงินสะสมและเงินบำเหน็จที่จำเลยที่ 1 จะได้ จำเลยที่ 2ชำระหนี้ให้โจทก์ 3 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2523 ชำระด้วยเงินสะสมของจำเลยที่ 1 จำนวน 16,445.86 บาท หักหนี้แล้วคงเหลือ51,868.32 บาท จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ครั้งที่ 2 ด้วยเงินสดจำนวน11,500 บาท คงเหลือหนี้ 40,368.32 บาท จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ครั้งที่3 โดยผลักเงินบำเหน็จอันจำเลยที่ 1 จะพึงได้รับไปชดใช้เงินทุนการศึกษาเป็นจำนวน 40,415 บาท จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ 3 ครั้ง รวมเป็นเงิน 68,360.86 บาท ซึ่งเกินจำนวนหนี้ที่รับสภาพไว้เพียง68,314.86 บาท จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ตามฟ้องการที่จำเลยที่ 2 ให้ทางราชการผลักเงินสะสมและเงินบำเหน็จของจำเลยที่ 1 ไปชำระหนี้ทุนการศึกษา เป็นการกระทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1ตามบันทึกฉบับลงวันที่ 6 เมษายน 2524
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 มิได้ตกลงยินยอมว่าหากกรมวิสามัญศึกษาผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ตกลงยินยอมด้วย จำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมที่ประเทศแคนาดาเสร็จแล้วก็เดินทางกลับมารับราชการใช้ทุนตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2514 ครบกำหนดรับราชการใช้ทุนคืน 915 วัน ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2516 ระหว่างที่จำเลยที่ 1 รับราชการชดใช้เงินทุนให้แก่ทางราชการ ทางราชการมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ไปศึกษาต่างประเทศเป็นครั้งที่ 2 จำเลยที่ 3ไม่ได้ตกลงยินยอมค้ำประกันในการดังกล่าว การที่ทางราชการส่งจำเลยที่ 1 ไปศึกษาในต่างประเทศครั้งที่ 2 เป็นโครงการในด้านพัฒนาบุคคลของโจทก์ จึงเป็นการที่จำเลยที่ 1 รับราชการชดใช้ทุนคืนในการได้รับทุนฝึกอบรมครั้งที่ 1 ที่จำเลยที่ 3 ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ลาออกจากราชการเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2516 จำเลยที่ 1 จึงรับราชการชดใช้ทุนคืนขาดไป 76 วัน หากจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดก็ไม่เกิน20,023.21 บาท
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน 172,297.58บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่1 ธันวาคม 2523 จนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระแก่โจทก์เสร็จสิ้น หากจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ให้จำเลยที่ 3 ชำระแทน และให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน16,445.86 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2533 จนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระแก่โจทก์เสร็จ หากไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ใช้แทน
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์สำนวนแรก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาข้อแรกว่า เงินสะสมจำนวน 16,445.86 บาท ของจำเลยที่ 1 จะต้องนำไปชำระหนี้รายใดก่อน ข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 มิได้ระบุว่าให้นำเงินจำนวน 16,445.86 บาทไปชำระหนี้รายใด กรณีจึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา328 วรรคสองซึ่งบัญญัติว่า “…ท่านว่าหนี้สินรายไหนถึงกำหนด ก็ให้รายนั้นเป็นอันได้เปลื้องไปก่อน ในระหว่างหนี้สินหลายรายที่ถึงกำหนดนั้น รายใดเจ้าหนี้มีประกันน้อยที่สุด ก็ให้รายนั้นเป็นอันได้เปลื้องไปก่อนในระหว่างหนี้สินหลายรายที่มีประกันเท่า ๆ กันให้รายที่ตกหนักที่สุดแก่ลูกหนี้เป็นอันได้เปลื้องไปก่อน…” หนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.34 ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.35 และหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.36 ซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.37 ต่างก็ถึงกำหนดพร้อมกันและมีประกันเท่ากัน แต่หนี้รายที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกัน จะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีตามสัญญา ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าหนี้รายที่จำเลยที่ 3 ค้ำประกัน ซึ่งจะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224วรรคหนึ่ง หนี้รายที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกันจึงต้องเสียดอกเบี้ยมากกว่าหนี้รายที่จำเลยที่ 3 ค้ำประกัน แม้หนี้รายที่จำเลยที่ 3ค้ำประกันจะมีจำนวนสูงกว่า เมื่อคำนวณดอกเบี้ยในระยะเวลาเท่ากันจำนวนดอกเบี้ยของหนี้รายที่จำเลยที่ 3 ค้ำประกันจะเป็นจำนวนสูงกว่าก็ตาม ก็มิได้ทำให้หนี้รายนี้ต้องเสียดอกเบี้ยมากกว่าดังที่โจทก์ฎีกาไม่ เพราะเมื่อเปรียบเทียบกรณีที่นำเงินสะสมของจำเลยที่ 1 จำนวน 16,445.86 บาท ไปชำระหนี้รายที่จำเลยที่ 2 หรือรายที่จำเลยที่ 3 ค้ำประกัน แล้วคำนวณดอกเบี้ยจากยอดหนี้คงเหลือ จะเห็นได้ว่ากรณีนำเงินสะสมดังกล่าวไปชำระหนี้รายที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกันซึ่งจะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่า จำนวนดอกเบี้ยในหนี้ทั้งสองรายรวมกันในระยะเวลาภายหลังจากนั้นจะมีจำนวนน้อยกว่ากรณีนำเงินสะสมดังกล่าวไปชำระหนี้รายที่จำเลยที่ 3 ค้ำประกัน การที่ให้หนี้รายที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกันได้ปลดเปลื้องไปก่อนจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ของลูกหนี้ได้มากกว่าเพราะเป็นการลดภาระที่หนักกว่าของลูกหนี้ ดังนั้นหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงกว่าจึงเป็นหนี้รายที่ตกหนักแก่ลูกหนี้
ปัญหาข้อต่อไปว่า จำนวนเบี้ยปรับตามสัญญาที่จำเลยที่ 3ค้ำประกันมีเพียงใดตามสัญญาเอกสารหมาย จ.36 ซึ่งจำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์ข้อ 4 มีความว่า “ในกรณีที่ข้าพเจ้าผิดสัญญา…ข้าพเจ้าจะชดใช้เงินทุนซึ่งได้รับจากรัฐบาลแคนาดาทั้งหมด และเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่มตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ถ้ามี ซึ่งได้รับจากทางราชการในระหว่างเวลาที่ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาเพื่อฝึกอบรม นอกจากนี้ข้าพเจ้าจะจ่ายเงินเป็นเบี้ยปรับให้แก่ผู้รับสัญญาอีกจำนวนหนึ่งเท่ากับสองเท่าของเงินที่ข้าพเจ้าต้องชดใช้คืน” นั้น เห็นว่าเป็นข้อสัญญากำหนดเบี้ยปรับที่จำเลยที่ 1 จะชำระให้โจทก์เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา การที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระหนี้ใช้ทุนฝึกอบรมครบถ้วน เป็นเพราะโจทก์มีส่วนอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ไปศึกษาต่อต่างประเทศเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่กลับมาใช้ทุนและลาออกจากราชการไป การคิดเอาเบี้ยปรับสองเท่าของจำนวนเงิน 146,356.15 บาท ที่จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้คืนให้โจทก์จึงเป็นจำนวนที่สูงเกินส่วน ที่ศาลล่างทั้งสองอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383ลดเบี้ยปรับลงโดยกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระเบี้ยปรับให้โจทก์หนึ่งเท่าของจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้คืนให้โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำนวนแรก ส่วนสำนวนหลังคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยมิได้นำยอดเงินสะสมของจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลชั้นต้นนำไปหักออกจากหนี้รายที่จำเลยที่ 3 ค้ำประกันเข้าไปรวมใหม่ ทำให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ไม่เต็มจำนวน จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ดังนั้นเมื่อนำเงินสะสมของจำเลยที่ 1 จำนวน 16,445.86บาท ไปชำระหนี้รายที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกันจำนวน 68,314.18 บาท เมื่อรวมกับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 2 ชำระ 11,500 บาท และที่ชำระด้วยเงินบำเหน็จของจำเลยที่ 1 จำนวน 40,415 บาทแล้วคงเป็นจำนวนเงินที่ชำระหนี้รายที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันเกินอยู่ 46.68 บาทให้นำเงินจำนวนนี้ไปหักออกจากหนี้รายที่จำเลยที่ 3 ค้ำประกัน จำนวน188,743.44 บาท คงเป็นหนี้ที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามฟ้องสำนวนหลังเป็นเงิน 188,696.76 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 188,696.76 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม2523 จนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระแก่โจทก์เสร็จสิ้น หากจำเลยที่ 1ไม่ใช้ให้จำเลยที่ 1 ชำระแทน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลในสำนวนแรกแทนจำเลยที่ 1 ที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 2,000 บาท.

Share