แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 3ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ แต่ไม้และอุปกรณ์ทำไม้มีจำนวนเพียงเล็กน้อย โทษที่ศาลชั้นต้นกำหนดมานั้นมากเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรลดลงให้เหมาะสมแก่รูปคดีแม้จำเลยที่ 3 จะมิได้ฎีกา แต่เหตุดังกล่าวเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจที่จะพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 89
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7, 47, 73, 74 ทวิ,74 จัตวา พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2505 มาตรา 18พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 7, 19, 28พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 9 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2525 มาตรา 4 พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้ามพ.ศ. 2505 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4ริบของกลางและจ่ายสินบนนำจับแก่ผู้แจ้งความนำจับด้วย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 48, 73 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91 ลงโทษฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกคนละ 2 ปี ฐานแปรรูปไม้มะค่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกคนละ 2 ปีฐานมีไม้มะค่าโมงไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 2 ปีรวมจำคุกคนละ 6 ปี ของกลางริบ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1และที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2530 เวลาประมาณ 9 นาฬิกาได้มีชาวบ้านประมาณ 200 คน ไปล้อมบ้านจำเลยที่ 3 ไว้ เนื่องจากทราบว่าการทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต รอจนเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจมาถึงจึงได้จับจำเลยที่ 1 และที่ 2ได้ในบริเวณบ้านจำเลยที่ 3 พร้อมทั้งยึดไม้แปรรูปและเครื่องมือแปรรูปไม้ตามบัญชีทรัพย์ของกลางเอกสารหมาย ป.จ.2และบัญชีรายละเอียดของไม้ เอกสารหมาย จ.4 ได้ที่บ้านจำเลยที่ 3ซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 3 ไม่ได้อยู่ที่บ้าน เมื่อจำเลยที่ 3 กลับมาจึงได้ถูกจับกุมด้วย ท้องที่ที่เกิดเหตุเป็นเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตามสำเนาประกาศกระทรวงเกษตร เอกสารหมาย จ.6 และไม้มะค่าโมงเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2505คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2ได้ร่วมกระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายถาวร มะเทวินและนายเอกพล ไชยวุฒิ มาเบิกความเป็นประจักษ์พยานต่อศาลว่าเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2530 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา พยานทั้งสองพร้อมด้วยชาวบ้านประมาณ 200 คน ได้พากันไปล้อมบ้านจำเลยที่ 3ที่ทราบว่ามีการทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยให้นายจันทร์ นนทมาลย์ผู้ใหญ่บ้านไปตามตำรวจมาจับกุมคนร้าย พยานเห็นจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 กับชายอีก 2 คนกำลังทำโต๊ะ 2 ตัว ในบริเวณบ้านจำเลยที่ 3 โดยเห็นจำเลยที่ 1 เป็นคนใช้กบไสไม้ จำเลยที่ 2เป็นคนทาเชลแล็ก ล้อมอยู่ประมาณ 30 นาที เจ้าหน้าที่ตำรวจก็มาถึงชายอีก 2 คนนั้นหลบหนีไปได้ ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พากันวิ่งไปที่รถจักรยานยนต์เพื่อจะหลบหนี ชาวบ้านจึงชี้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมไว้ได้ นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายสุชาติ เสนางคนิกรกรรมการหมู่บ้านมาเบิกความสนับสนุนด้วยว่า เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม2530 ก่อนเกิดเหตุ 2 วัน พยานได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าที่บ้านจำเลยที่ 3 มีการทำไม้เถื่อน จึงได้ไปดูและเห็นมีคนกำลังไสไม้ทำโต๊ะเป็นชายทั้งหมดรวม 4 คน จำได้เพียง 2 คนคือจำเลยที่ 1และที่ 2 ประกอบกับร้อยตำรวจตรีฉันรไชย (บุญเลื่อน) ฉัตรแก้วมณีร้องสารวัตรปกครองป้องกันสถานีตำรวจภูธรอำเภองาวกับว่าที่ร้อยตรีสุวรรณ พิณตานนท์ และนายอภิชาติ โตดิลกเวชย์ปลัดอำเภอวาว ผู้ร่วมจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้มาเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า เมื่อได้รับแจ้งเหตุและมาถึงบริเวณบ้านจำเลยที่ 3 แล้ว ชาวบ้านได้ชี้ให้จับจำเลยที่ 1 และที่ 2ซึ่งกำลังจะหลบหนีโดยรถจักรยานยนต์ไว้ได้ พยานโจทก์ดังที่กล่าวมานี้ไม่เคยรู้จักหรือมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาก่อนอีกทั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่คนละฝ่ายกันด้วย จึงไม่มีเหตุให้ระแวงว่าจะร่วมกันเบิกความปรักปรำใส่ร้ายจำเลยโดยไม่เป็นความจริงขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน พยานทุกคนมีโอกาสเห็นเหตุการณ์ได้ชัดเจนและเป็นเวลานาน เชื่อได้โดยปราศจากสงสัยว่าคำเบิกความดังกล่าวเป็นความจริง หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเพียงผู้ที่มาจอดรถจักรยานยนต์เพื่อมุงดูเหตุการณ์ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2นำสืบมาจริงแล้ว ก็ไม่มีเหตุที่ชาวบ้านจะชี้ให้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวไว้แต่อย่างใด ข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขัดต่อเหตุผล ส่วนเครื่องมือและอุปกรณ์การทำไม้ที่ยึดได้บนบ้านของจำเลยที่ 3 นั้น ได้ความจากคำเบิกความของนายถาวร มะเทวิน กับนายเอกพล ไชยวุฒิ สอดคลองต้องกันว่าได้มีการนำขึ้นไปเก็บไว้บนบ้านของจำเลยที่ 3 ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมาถึง มิใช่เป็นดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตำหนิพยานหลักฐานโจทก์ว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไปยึดเครื่องมือและอุปกรณ์การแปรรูปไม้ที่บนบ้านจำเลยที่ 3 นั้น ทำให้เป็นพิรุธว่าในวันเกิดเหตุน่าจะไม่มีการแปรรูปไม้แต่อย่างใด อนึ่งแม้ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะได้ให้การปฏิเสธ แต่ได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกสำราญ เจริญกิจ พนักงานสอบสวนว่าในชั้นที่พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาเพิ่มเติมว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันทำการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3ก็ได้ให้การรับสารภาพตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย ป.จ.5แผ่นที่ 2 และ ป.จ.6 แผ่นที่ 2 ที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจให้จำเลยลงชื่อในเอกสารหมาย ป.จ.5 แผ่นที่ 2ลงในกระดาษเปล่านั้น เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ รับฟังไม่ได้พยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้องจริง พยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นฟ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่เห็นว่าไม้และอุปกรณ์การทำไม้ของกลางมีจำนวนเพียงเล็กน้อย โทษที่ศาลชั้นต้นกำหนดมานั้นมากเกินไปสมควรลดลงให้เหมาะสมแก่รูปคดี แม้จำเลยที่ 3 จะมิได้ฎีกาแต่เหตุดังกล่าวเป็นเหตุให้ลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจที่จะพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 89”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2489 มาตรา 48, 73 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91 ลงโทษฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกคนละ 1 ปี ฐานแปรรูปไม้มะค่าโมงโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกคนละ1 ปี ฐานมีไม้มะค่าโมงแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกคนละ 3 ปี ของกลางริบ