แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เจ้าหนี้นำหนี้ตามตั๋วแลกเงิน และตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งลูกหนี้ออกให้มายื่นเพื่อขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แต่หนี้ทั้งสองจำนวนเป็นหนี้ที่เกิดจากการสมยอมกันระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้โดยลูกหนี้ไม่ได้เป็นหนี้เจ้าหนี้ตามตั๋วเงินนั้นเจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามตั๋วเงินดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 94(1) ส่วนหนี้ที่เจ้าหนี้ชำระให้ธนาคารแทนลูกหนี้นั้นเจ้าหนี้ได้รู้อยู่แล้วว่าลูกหนี้เป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวดังนี้เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ดังกล่าวตามมาตรา 94(2)
ย่อยาว
คดีนี้มูลกรณีสืบเนื่องมาจาก นายพนัส สิมะเสถียร กับพวกผู้ชำระบัญชีของบริษัทราชาเงินทุน จำกัด ลูกหนี้ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2523บริษัทราชามาเก็ตติ้ง จำกัด เจ้าหนี้รายที่ 1746 โดยนายเสรีทรัพย์เจริญ ผู้รับมอบอำนาจยื่นคำขอรับชำระหนี้รวม 6 อันดับ คือ(1) หนี้ตามตั๋วเงิน 70,026,235.07 บาท (2) ค่าดอกเบี้ย16,761,671.62 บาท (3) หนี้ที่เจ้าหนี้ชำระแทนลูกหนี้ 31,340,463.22บาท (3.1) ค่าดอกเบี้ยจากข้อ (3) จำนวน 1,621,182 บาท(4) ค่าลูกหนี้กู้ยืมเงินไปซื้อหุ้นของลูกหนี้ 185,154,474 บาท(5) ค่าดอกเบี้ย 36,143,167.90 บาท (6) ค่าหุ้นบริษัทเซาท์เอเซียไฟเบอร์ จำกัด จำนวน 20,000 หุ้น ซึ่งลูกหนี้ถือกรรมสิทธิ์แทนและได้จำหน่ายจ่ายโอนใช้หนี้แก่เจ้าหนี้อื่นในราคาหุ้นละ 158 บาท เป็นเงิน 3,160,000 บาท รวมเป็นเงินที่ขอรับชำระหนี้ทั้งสิ้น 344,207,193.81 บาท
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้นัดให้บรรดาเจ้าหนี้และลูกหนี้ตรวจคำขอรับชำระหนี้ ตามมาตรา 104 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 แล้ว ธนาคารกรุงเทพ จำกัด เจ้าหนี้รายที่ 849ผู้โต้แย้ง โต้แย้งว่า หนี้ของบริษัทราชามาเก็ตติ้ง จำกัดเจ้าหนี้เป็นหนี้ที่ขอรับชำระไม่ได้ เพราะเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมเป็นหนี้ที่จะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้และเป็นหนี้ซึ่งเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว นอกจากนี้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์โปรดัคตีฟ จำกัด เจ้าหนี้รายที่ 562บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหาสมุทร จำกัด เจ้าหนี้รายที่ 573แพทย์หญิงน้อย เศวตโยธิน เจ้าหนี้รายที่ 1105 และธนาคารกรุงไทย จำกัด เจ้าหนี้รายที่ 1412 ต่างก็โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ทำนองเดียวกัน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นว่า หนี้อันดับ 1และ 2 คือ หนี้ตามตั๋วเงินและดอกเบี้ย เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้ตามตั๋วแลกเงิน 379 ฉบับ (ที่ถูก 378 ฉบับ) ต้นเงินจำนวน60,426,235.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน นับแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2522 ถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2523 ซึ่งเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด เป็นเงินดอกเบี้ย9,406,350.58 บาท ตั๋วสัญญาใช้เงิน 4 ฉบับ ต้นเงิน 9,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2522ถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2523 เป็นเงินดอกเบี้ย 1,614,452.05 บาทและตั๋วสัญญาใช้เงินอีก 1 ฉบับ ต้นเงิน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2522 ถึงวันที่ 27สิงหาคม 2523 เป็นเงินดอกเบี้ย 102,789.04 บาท รวมยอดหนี้ตามตั๋วแลกเงินและตั๋วสัญญาใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 81,149,826.74 บาท หนี้อันดับ 3 และ 3.1 เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้ที่เจ้าหนี้ได้ชำระแทนลูกหนี้ให้แก่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด เป็นเงิน 28,420,724.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2523 ซึ่งเป็นวันชำระเงินไปถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2523 ซึ่งเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด เป็นเงินดอกเบี้ย 655,065.98 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 29,074,790.31 บาท หนี้อันดับ 4 และ 5คือหนี้ค่าลูกหนี้กู้ยืมเงินไปซื้อหุ้นของลูกหนี้และดอกเบี้ยเจ้าหนี้ไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ หนี้อันดับ 6 คือ หนี้ค่าหุ้นที่ลูกหนี้ยืมไปจากเจ้าหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้ค่าหุ้นบริษัทเซาท์เอเซียไฟเบอร์ จำกัด ซึ่งลูกหนี้ถือกรรมสิทธิ์แทนและลูกหนี้ได้จำหน่ายจ่ายโอนใช้หนี้แก่เจ้าหนี้อื่นจำนวน20,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 158 บาท เป็นเงิน 3,160,000 บาทรวมหนี้อันดับ 1 และ 2 อันดับ 3 และ 3.1 กับอันดับ 6 เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้คิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 113,384,617.05 บาทควรให้เจ้าหนี้รายนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้เป็นจำนวนเงินรวม113,384,617.05 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 130(8) ส่วนหนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เกิดมาจากจำนวนดังกล่าวให้ยกเสีย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด เจ้าหนี้ผู้โต้แย้ง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้สำหรับหนี้อันดับ 1 และ 2 อันดับ 3 และ 3.1 กับอันดับ 6 จำนวน113,384,617.05 บาท
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะหนี้อันดับ 1 และ 2 อันดับ 3 และ 3.1 กับอันดับ 6 คือหนี้ตามตั๋วเงินและดอกเบี้ย หนี้ที่เจ้าหนี้ได้ชำระแทนลูกหนี้และดอกเบี้ย กับหนี้ค่าหุ้นที่ลูกหนี้ยืมไปจากเจ้าหนี้ รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 113,384,617.05 บาท ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้สำหรับหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้ส่วนอื่นที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ เจ้าหนี้ไม่ได้อุทธรณ์จึงเป็นอันยุติตามคำสั่งศาลชั้นต้น พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าหนี้ในประการแรกว่า เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้อันดับ 1 และ 2 คือค่าตั๋วเงินพร้อมดอกเบี้ยรวมจำนวน81,149,826.74 บาท หรือไม่เชื่อว่าเจ้าหนี้ได้ซื้อตั๋วแลกเงินและตั๋วสัญญาใช้เงินจากลูกหนี้และลูกค้าของลูกหนี้ดังคำให้การของนายเสรี แต่น่าเชื่อว่าหนี้ตามตั๋วแลกเงินและตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวเกิดจากการสมยอมระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้โดยลูกหนี้ไม่ได้เป็นหนี้เจ้าหนี้ตามตั๋วแลกเงินและตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นเจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยตามตั๋วแลกเงินและตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 94(1)
ปัญหาที่สอง เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้อันดับ 3 และ 3.1 คือหนี้ที่เจ้าหนี้ชำระให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด แทนลูกหนี้และดอกเบี้ย รวมเป็นจำนวนเงิน 29,074,790.31 บาท หรือไม่ ปัญหานี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ใช้อำนาจตามมาตรา 57 และ 59 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มีคำสั่งให้ควบคุมกิจการของลูกหนี้ ต่อมาวันที่ 7 สิงหาคม 2522 มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ของลูกหนี้ จากนั้นลูกหนี้ถูกขอให้เป็นบุคคลล้มละลาย และศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2523 ก่อนลูกหนี้ถูกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ควบคุม คือเมื่อวันที่ 18 เมษายน2522 ลูกหนี้ได้กู้ยืมเงินจากบริษัทปูนซิเมนต์นครหลวง จำกัดจำนวนเงิน 25,000,000 บาท ลูกหนี้ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน5 ฉบับ รวมจำนวนเงิน 25,000,000 บาท ตามสำเนาเอกสารหมาย จ.13ถึง จ.17 มอบให้บริษัทปูนซิเมนต์นครหลวง จำกัด ไว้เพื่อชำระหนี้โดยลูกหนี้ได้ขอให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด รับรองตั๋วสัญญาค้ำประกันกับจำนองที่ดินเป็นประกันต่อธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ว่า หากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้บริษัทปูนซิเมนต์นครหลวง จำกัด เป็นเหตุให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ต้องชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินเจ้าหนี้ยอมชดใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน พร้อมดอกเบี้ยค่าธรรมเนียมและค่าเสียหายอื่น ๆ ให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ต่อมาลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ต้องชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยให้บริษัทปูนซิเมนต์นครหลวง จำกัด และได้เรียกให้เจ้าหนี้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนอง เจ้าหนี้ได้ชำระหนี้ให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ไปแล้วเป็นจำนวนเงิน 28,420,724.33บาท จากข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่าการที่ลูกหนี้กู้ยืมเงินและออกตั๋วสัญญาใช้เงินมอบให้บริษัทปูนซิเมนต์นครหลวง จำกัด ผู้ให้กู้ยืมเพื่อชำระหนี้เงินที่กู้ยืมเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2522 ซึ่งเป็นวันเวลาก่อนที่ลูกหนี้ถูกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ควบคุมเมื่อวันที่ 11พฤษภาคม 2522 เพียงไม่ถึง 1 เดือน และเงินที่กู้ยืมก็มีจำนวนถึง25,000,000 บาท เป็นพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่า ในขณะที่ลูกหนี้กู้ยืมเงินและออกตั๋วสัญญาใช้เงินมอบให้บริษัทปูนซิเมนต์นครหลวง จำกัดเพื่อชำระหนี้ที่กู้ยืมนั้น ลูกหนี้เป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวอยู่แล้ว และโดยเหตุที่ข้อเท็จจริงได้ความจากคำให้การของนายเสรีว่าเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่างทราบฐานะของกันและกันดี เพราะกรรมการของเจ้าหนี้และของลูกหนี้บางคนเป็นกรรมการชุดเดียวกันจึงเชื่อได้ว่าในขณะที่ลูกหนี้ก่อหนี้ขึ้นด้วยการกู้ยืมเงินโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินมอบให้บริษัทปูนซิเมนต์นครหลวง จำกัดผู้ให้กู้ยืมเพื่อชำระหนี้เงินที่กู้ยืมและเจ้าหนี้เข้าเป็นผู้ค้ำประกันและจำนองที่ดินเป็นประกันต่อธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด ผู้รับรองตั๋วสัญญาใช้เงินของลูกหนี้นั้น เจ้าหนี้ได้รู้อยู่แล้วว่าลูกหนี้เป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินและดอกเบี้ยที่เจ้าหนี้ได้ชำระให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ไปแทนลูกหนี้ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(2)”
พิพากษายืน