คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6302/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์แต่งตั้งจำเลยเป็นตัวแทนในการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต่อมาพนักงานของจำเลยได้โอนหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 24,000 หุ้นของบริษัท ซ. ที่ผู้อื่นจองซื้อเข้าบัญชีของโจทก์โดยสำคัญผิด จำเลยได้แจ้งยอดทรัพย์คงเหลือให้โจทก์ทราบทุกเดือน ซึ่งโจทก์ย่อมทราบและสามารถตรวจสอบได้ว่ามีหลักทรัพย์ของโจทก์ขาดหายไปหรือไม่ หรือมีหลักทรัพย์ที่โจทก์ไม่ได้สั่งซื้อหรือจองซื้อไว้เพิ่มเข้ามาในบัญชีของโจทก์หรือไม่ เมื่อโจทก์เห็นว่ามีหลักทรัพย์ที่โจทก์ไม่ได้ซื้อหรือสั่งจองซื้อไว้ โจทก์ชอบที่จะแจ้งให้จำเลยทราบเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาด แต่โจทก์กลับขายหลักทรัพย์ดังกล่าวไป เป็นการส่อให้เห็นว่าโจทก์มิได้กระทำการโดยสุจริต การที่จำเลยขอให้โจทก์ซื้อหลักทรัพย์คืนแก่จำเลย และโจทก์ต้องซื้อมาในราคาที่สูงกว่าราคาที่ขายไป จึงเป็นผลจากความผิดของโจทก์เอง ที่โจทก์เรียกเอาค่าเสียหายจากจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเกี่ยวกับการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณปี 2536 โจทก์มีอาชีพซื้อและขายหลักทรัพย์โดยเปิดบัญชีเงินสดเลขที่ 05171-3/ซี และบัญชีเงินกู้เลขที่ 05171-3/เอ็ม ไว้กับจำเลยเพื่อให้จำเลยเป็นตัวแทนซื้อและขายหลักทรัพย์ให้แก่โจทก์ ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2537 โจทก์มีคำสั่งซื้อและขายหลักทรัพย์หลายครั้ง และด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลย โดยจำเลยได้โอนหลักทรัพย์ของบริษัท เซมิคอนดัคเตอร์ เวนเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (เอสวีไอ) จำนวน 24,000 หุ้น เข้าบัญชีเงินสดของโจทก์โดยไม่ตรวจสอบให้ดีเสียก่อน ทำให้โจทก์เข้าใจผิดคิดว่าเป็นหลักทรัพย์ของโจทก์ที่โจทก์สั่งซื้อไว้เอง และได้สั่งขายไปเป็นเงินจำนวน 1,081,565 บาท ต่อมาจำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยโอนหลักทรัพย์ดังกล่าวเข้าบัญชีของโจทก์โดยผิดพลาด หลักทรัพย์เป็นของบุคคลผู้มีชื่อ จึงขอให้โจทก์โอนหลักทรัพย์ดังกล่าวคืนแก่จำเลย ต่อมาระหว่างวันที่ 3 ถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2538 โจทก์ซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวกลับคืนมาเป็นเงินทั้งสิ้น 1,167,558.78 บาท เพื่อคืนแก่เจ้าของที่แท้จริง แต่โจทก์ไม่มีเงินสดชำระค่าหลักทรัพย์ดังกล่าว ต้องนำหลักทรัพย์อื่นของโจทก์ออกขายในราคาที่ขาดทุนจำนวน 200,000 บาท การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ต้องซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวคืนมาในราคาแพงกว่าที่โจทก์ขาย ทำให้ขาดทุนเป็นเงิน 85,993.78 บาท และต้องนำหลักทรัพย์อื่นของโจทก์ไปขายเพื่อนำเงินมาซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวคืนเจ้าของที่แท้จริง ทำให้โจทก์ขาดทุนอีก 200,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 285,993.78 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งกับแก้ไขคำให้การและแก้ไขฟ้องแย้งว่า นายพงศ์ ศิริเลิศพานิช ลูกค้าของจำเลยซึ่งมีบัญชีกับจำเลยเลขที่ 05371-9 ได้สั่งจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทเซมิคอนดัคเตอร์ เวนเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) จำนวน 24,000 หุ้น เป็นเงิน 240,000 บาท แต่พนักงานของจำเลยนำหลักทรัพย์ดังกล่าวเข้าบัญชีของโจทก์โดยสำคัญผิดว่าเป็นบัญชีของนายพงศ์ ต่อมาโจทก์ได้สั่งให้จำเลยโอนและขายหลักทรัพย์ดังกล่าวไป ต่อมาจำเลยพบว่าหลักทรัพย์ดังกล่าวไม่ใช่ของโจทก์ จึงให้โจทก์โอนหลักทรัพย์หรือชดใช้เงินคืนแก่จำเลยเพื่อดำเนินการฝากเข้าบัญชีของนายพงศ์ลูกค้าที่ถูกต้องต่อไป โจทก์จึงสั่งให้จำเลยซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวจำนวน 24,000 หุ้น เป็นเงิน 1,167,558.78 บาท แต่โจทก์ไม่ยอมคืนหลักทรัพย์ดังกล่าวให้จำเลยนำเข้าบัญชีของนายพงศ์ จำเลยจึงสั่งซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทดังกล่าวเป็นเงิน 1,131,000 บาท มาคืนให้แก่นายพงศ์ จากนั้นได้ติดต่อให้โจทก์ชำระเงินค่าหลักทรัพย์ที่จำเลยซื้อคืนแต่โจทก์เพิกเฉย โจทก์ต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2538 คิดถึงวันที่ฟ้องแย้งเป็นเงิน 41,645.59 บาท คืนแก่จำเลย ขอให้ยกฟ้อง และบังคับโจทก์ชำระเงิน 1,172,645.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงิน 1,131,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งไม่เกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิม จำเลยไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหาย เนื่องจากหลักทรัพย์ดังกล่าวไม่ใช่ของจำเลย โจทก์ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องแย้ง เพราะเป็นความผิดพลาดที่เกิดจากฝ่ายจำเลยทั้งหมดและค่าเสียหายมีเพียงไม่เกิน 1,000 บาท และจำเลยไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ชำระเงิน 1,130,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 มีนาคม 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2537 นายพงศ์ ศิริเลิศพานิช สั่งให้จำเลยจองซื้อหลักทรัพย์เพิ่มทุนของบริษัทเซมิคอนดัคเตอร์ เวนเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) จำนวน 24,000 หุ้น หลักจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแจ้งผลการจองซื้อหลักทรัพย์แล้ว จำเลยได้นำหลักทรัพย์ดังกล่าวเข้าบัญชีของโจทก์ ต่อมาวันที่ 11 พฤศจิกายน 2537 โจทก์ได้โอนหลักทรัพย์ดังกล่าวจำนวน 10,000 หุ้น ไปยังบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิทก้า จำกัด (มหาชน) และในวันที่ 3 ถึงวันที่ 5 และวันที่ 9 มกราคม 2538 โจทก์ได้สั่งให้จำเลยขายหลักทรัพย์ดังกล่าวที่เหลือจนหมด หลังจากนั้นพนักงานของจำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบว่า จำเลยโอนหลักทรัพย์ดังกล่าวเข้าบัญชีของโจทก์โดยสำคัญผิด ขอให้โจทก์โอนหลักทรัพย์ดังกล่าวให้จำเลยเพื่อคืนแก่นายพงศ์ ในวันที่ 3 วันที่ 6 และวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2538 โจทก์สั่งจำเลยให้ซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าว 24,000 หุ้น ในราคาสูงกว่าราคาที่โจทก์ขายไป แต่โจทก์ไม่ยอมโอนหลักทรัพย์ดังกล่าวให้แก่จำเลย วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าว 24,000 หุ้น คืนให้นายพงศ์ไปแล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ นางสาวเยาวลักษณ์ อร่ามทวีทอง พยานโจทก์เบิกความว่า ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ได้แจ้งผลการจองซื้อหลักทรัพย์ให้จำเลยทราบว่า นายพงศ์เป็นเจ้าของหลักทรัพย์ที่สั่งจองจำนวน 24,000 หุ้น หลังจากนั้นพนักงานของจำเลยได้บันทึกจำนวนหลักทรัพย์ดังกล่าวลงในบัญชีตามหมายเลขที่ระบุไว้ในใบจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน แต่หมายเลขบัญชีดังกล่าวเป็นหมายเลขบัญชีของโจทก์ หลักทรัพย์ดังกล่าวจึงอยู่ในบัญชีของโจทก์และจำเลยได้แจ้งไปยังโจทก์ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2537 และโจทก์เบิกความว่า จำเลยแจ้งยอดหลักทรัพย์คงเหลือให้โจทก์ทราบทุกเดือน ซึ่งโจทก์สามารถตรวจสอบได้ทุกสิ้นเดือน ถ้าหากหลักทรัพย์ของโจทก์ขาดไป โจทก์ก็สามารถโต้แย้งไปยังจำเลยได้ จากคำเบิกความของโจทก์และพยานโจทก์ดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2537 แล้วว่า โจทก์มีหลักทรัพย์ของบริษัทเซมิคคอนดัคเตอร์ เวนเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) อยู่ 24,000 หุ้น ในวันดังกล่าวโจทก์ก็ยอมรับแล้วว่าสามารถตรวจสอบได้ว่าหลักทรัพย์ของโจทก์ขาดหายไปหรือไม่ ในทำนองเดียวกันโจทก์ก็สามารถตรวจสอบได้ว่ามีหลักทรัพย์ที่โจทก์ไม่ได้ซื้อหรือสั่งจองซื้อไว้เพิ่มเข้ามาในบัญชีของโจทก์หรือไม่ เมื่อโจทก์เห็นว่ามีหลักทรัพย์ที่โจทก์ไม่ได้ซื้อหรือสั่งจองซื้อไว้เข้ามาอยู่ในบัญชีของโจทก์ โจทก์ชอบที่จะแจ้งให้จำเลยทราบเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาด แต่โจทก์กลับขายหลักทรัพย์ดังกล่าวไป เป็นการส่อให้เห็นว่าโจทก์มิได้กระทำไปโดยสุจริต ดังนั้น การที่จำเลยขอให้โจทก์ซื้อหลักทรัพย์ที่โจทก์ขายไปเพื่อคืนให้แก่จำเลย และโจทก์ต้องซื้อมาในราคาที่สูงกว่าราคาที่ขายไป จึงเป็นผลที่เกิดจากความผิดของโจทก์เอง ที่โจทก์มาเรียกเอาค่าเสียหายจากจำเลย จึงถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเกี่ยวกับการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาว่า ฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวกับคำฟ้องเดิมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าการที่จำเลยนำหลักทรัพย์ของบุคคลอื่นมาไว้ในบัญชีของโจทก์โดยประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์หลงผิดและได้ขายหลักทรัพย์ดังกล่าวไป ภายหลังต้องซื้อมาคืนในราคาที่สูงขึ้นทำให้โจทก์เสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยนำหลักทรัพย์ของบุคคลอื่นมาไว้ในบัญชีของโจทก์โดยสำคัญผิด จำเลยแจ้งให้โจทก์คืนหลักทรัพย์ดังกล่าวแก่จำเลยแต่โจทก์ไม่คืน จำเลยต้องซื้อหลักทรัพย์คืนเจ้าของที่แท้จริง และฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินค่าหลักทรัพย์พร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลย เห็นว่า ฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวกับฟ้องเดิม ที่ศาลชั้นต้นรับฟ้องแย้งของจำเลยจึงชอบแล้ว และเมื่อโจทก์ไม่ยอมคืนหลักทรัพย์แก่จำเลยจนจำเลยต้องซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวคืนให้แก่เจ้าของที่แท้จริง โจทก์จึงต้องรับผิดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่จำเลย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share