แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอเรียกค่าชดเชยการใช้ทางจำเป็นจากโจทก์ในอัตราปีละ 20,000 บาท และขอเรียกค่าเสียหายเพราะเหตุถูกฟ้องเป็นเงิน 30,000 บาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำให้การ ส่วนฟ้องแย้งเรื่องค่าเสียหายไม่รับค่าขึ้นศาลให้คำนวณจากค่าชดเชย 20,000 บาท คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่จำเลย ดังนี้ พอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นรับฟ้องแย้งเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับค่าชดเชยเท่านั้น ต่อมามีการส่งหมายนัดสืบพยานโจทก์ สำเนาคำให้การและฟ้องแย้งให้แก่โจทก์โดยมิได้กำหนดให้ฝ่ายโจทก์ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง ทั้งจำเลยก็มิได้นำส่งหมายนัด คำให้การ และฟ้องแย้งให้แก่ฝ่ายโจทก์ จนเวลาล่วงเลยไปจนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยเพิกเฉยไม่ร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ส่งหมายเรียกให้แก้คดีแก่โจทก์และไม่แจ้งให้ศาลทราบเหตุแห่งการเพิกเฉยเช่นว่านั้นภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันยื่นคำฟ้องแย้ง อันเป็นการที่จำเลยทิ้งฟ้องแย้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม ประกอบมาตรา 174 (1)
โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทเองจนได้ภาระจำยอม หาได้บรรยายว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทต่อจากเจ้าของที่ดินเดิมที่ขายให้โจทก์ไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ซื้อที่ดินมาจากบุคคลอื่นย่อมได้รับสิทธิที่เจ้าของเดิมมีอยู่แล้วในการใช้ทางพิพาทนั้น จึงเป็นเรื่องนอกประเด็นตามคำฟ้อง เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์ฟ้องว่า ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมและเป็นทางจำเป็นด้วย เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยวินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอม หากโจทก์ยังติดใจในประเด็นเรื่องทางจำเป็นอยู่ แม้โจทก์จะไม่จำเป็นต้องอุทธรณ์ แต่ก็ต้องยกขึ้นเป็นประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัย เมื่อโจทก์มิได้ตั้งประเด็นในเรื่องทางจำเป็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์ ฉะนั้น ประเด็นในเรื่องทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาให้ศาลฎีกาวินิจฉัยได้อีก
ย่อยาว
โจทก์ทั้งห้าฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองเปิดทางภาระจำยอมกว้างประมาณ 4 เมตร ยาวประมาณ 100 เมตร ในที่ดินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยาวประมาณ 75 และ 25 เมตร ตามลำดับ เพื่อให้โจทก์ทั้งห้าและชาวบ้านใช้เป็นทางเดินต่อไป ให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนให้เป็นทางภาระจำยอมแก่โจทก์ทั้งห้าภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากจำเลยทั้งสองไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
ก่อนจำเลยทั้งสองยื่นคำให้การ โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ให้ทางพิพาทกว้าง 4 เมตร ยาว 100 เมตร โดยในที่ดินของจำเลยที่ 1 ยาว 75 เมตร ในที่ดินของจำเลยที่ 2 ยาว 25 เมตร ตามรูปแผนที่เอกสารหมาย จ.9 ตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินโจทก์ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) เลขที่ 1791 ตำบลท่าลี่ อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย ให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปิดกั้นทางพิพาทและไปจดทะเบียนภาระจำยอมให้โจทก์ หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… ข้อเท็จจริงที่คู่ความได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า ทางพิพาทคือทางจากที่ดินของโจทก์ที่ 1 ผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ ออกสู่ถนนสายเลย – ท่าลี่ ตามแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.9 คดีมีปัญหาข้อแรกเกี่ยวกับคำให้การจำเลยทั้งสอง โดยจำเลยทั้งสองฟ้องแย้งขอเรียกค่าชดเชยจากโจทก์ทั้งห้าในอัตราปีละ 20,000 บาท และขอเรียกค่าเสียหายเพราะเหตุที่ถูกฟ้องเป็นเงิน 30,000 บาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำให้การ ส่วนฟ้องแย้งเรื่องค่าเสียหายไม่รับ ค่าขึ้นศาลให้คำนวณจากค่าชดเชย 20,000 บาท กับค่าขึ้นศาลอนาคต คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่จำเลยทั้งสอง ดังนี้ พอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นรับฟ้องแย้งเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับค่าชดเชยเท่านั้น ต่อมามีการส่งหมายนัดสืบพยานโจทก์และสำเนาคำให้การและฟ้องแย้งให้แก่ทนายโจทก์ทั้งห้าโดยมิได้กำหนดให้ฝ่ายโจทก์ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง ทั้งจำเลยทั้งสองก็มิได้นำส่งหมายนัดและคำให้การและฟ้องแย้งให้แก่ฝ่ายโจทก์จนเวลาล่วงเลยไปจนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสองเพิกเฉยไม่ร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ส่งหมายเรียกให้แก้คดีแก่โจทก์ทั้งห้าและไม่แจ้งให้ศาลทราบเหตุแห่งการเพิกเฉยเช่นว่านั้นภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันยื่นคำฟ้องแย้งอันเป็นการที่จำเลยทั้งสองทิ้งฟ้องแย้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174 (1) ประเด็นตามฟ้องแย้งที่ศาลชั้นต้นสั่งรับไว้จึงยุติไป
ที่โจทก์ที่ 1 ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า โจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินมาจากบุคคลอื่นย่อมได้รับสิทธิที่เจ้าของเดิมมีอยู่แล้วในการใช้ทางพิพาทนั้น โจทก์ที่ 1 บรรยายฟ้องว่าโจทก์ที่ 1 ใช้ทางพิพาทเองจนได้ภาระจำยอม หาได้บรรยายว่าโจทก์ที่ 1 ใช้ทางพิพาทต่อจากเจ้าของที่ดินเดิมที่ขายให้โจทก์ที่ 1 ไม่ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ที่ 1 จึงเป็นเรื่องนอกประเด็นตามคำฟ้อง เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยส่วนที่โจทก์ที่ 1 ฎีกาข้อสุดท้ายว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นด้วย แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มิได้วินิจฉัยให้นั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 ชนะคดีโดยวินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอม หากโจทก์ที่ 1 ยังติดใจในประเด็นเรื่องทางจำเป็นอยู่ แม้โจทก์ที่ 1 จะไม่จำเป็นต้องอุทธรณ์ แต่ก็ต้องยกขึ้นเป็นประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัย เมื่อโจทก์ที่ 1 มิได้ตั้งประเด็นในเรื่องทางจำเป็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์ ย่อมไม่มีประเด็นในเรื่องนี้ในชั้นอุทธรณ์ และเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.