แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคารโจทก์ ใช้ชื่อบัญชีว่า นาย ส. คือจำเลยที่ 4 โดยใช้เช็คเบิกเงินจากบัญชีมีเงื่อนไขในการสั่งจ่ายเงินว่า สองในสามของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ลงชื่อร่วมกัน ต่อมาจำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ได้ร่วมกันจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. จำเลยที่ 1ขึ้นโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 3 และที่ 4เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด แล้วแจ้งโจทก์ขอเปลี่ยนชื่อบัญชีจากชื่อจำเลยที่ 4 เป็นชื่อห้างจำเลยที่ 1 เงื่อนไขในการสั่งจ่ายเงินจากบัญชีคงให้สองในสามคนของหุ้นส่วน คือจำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 ลงชื่อร่วมกันและประทับตราของจำเลยที่ 1 หลังจากนั้นจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ลงชื่อร่วมกันออกเช็คประทับตราของห้างจำเลยที่ 1 หลายครั้งอันเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีเรื่อยมา จนกระทั่งบัญชีของห้างจำเลยที่ 1 หยุดเคลื่อนไหว จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ได้ร่วมกันทำหนังสือรับสภาพหนี้ของห้างจำเลยที่ 1 โดยยอมร่วมรับผิดกับห้างจำเลยที่ 1 พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมถือได้ว่า จำเลยที่ 3ซึ่งเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างจำเลยที่ 1 ตลอดมา จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดร่วมกันในหนี้ของห้างจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวน แม้การเบิกเงินเกินบัญชีของห้างจำเลยที่ 1 กับโจทก์จะหยุดเคลื่อนไหวและได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้กันไว้ก็ตาม แต่หนังสือรับสภาพหนี้ได้ระบุชัดเจนว่าจำเลยทั้งสี่จะนำเงินมาผ่อนชำระเข้าบัญชีของห้างจำเลยที่ 1 ทุก ๆ เดือน เพื่อลดต้นเงินและดอกเบี้ยไปจนกว่าจะชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีหมดสิ้น และตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นต่อไป ถือได้ว่าเป็นการตกลงให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันต่อไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ดังนั้นคู่สัญญาจะบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัด และให้หักทอนบัญชีกันเสียในเวลาใด ๆ ก็ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2523 จำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ได้ร่วมกันเปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 1381 เป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท กับธนาคารโจทก์ สาขาภูเก็ตต่อมาวันที่ 14 ตุลาคม 2523 จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ได้มีหนังสือถึงธนาคารโจทก์ สาขาภูเก็ต ขอเปลี่ยนชื่อบัญชีและเงื่อนไขการสั่งจ่ายเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 1381 จากชื่อของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มาเป็นชื่อห้างจำเลยที่ 1 แทนนอกจากนี้จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการสั่งจ่ายเงิน โดยให้จำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของห้างจำเลยที่ 1 จำนวนสองในสามคนลงชื่อร่วมกันพร้อมประทับตราสำคัญของห้างจำเลยที่ 1 มีอำนาจในการสั่งจ่ายเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 1381 ได้ โจทก์ตกลงยินยอมตามนั้นหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ได้ร่วมกันทำการเดินสะพัดทางบัญชีเงินฝากเลขที่ 1381 ต่อเนื่องเรื่อยมาจนกระทั่งจำเลยที่ 1 หยุดเดินสะพัดทางบัญชีมิได้นำเงินเข้าฝากในบัญชีเพื่อลดยอดหนี้เงินเบิกเกินบัญชีตามสัญญา จำเลยทั้งสี่จึงได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์คิดเพียงวันที่ 28 มีนาคม 2526 เป็นเงิน 7,499,238.28 บาทจำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระหนี้โจทก์ทั้งหมดได้ จำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของห้างจำเลยที่ 1 ตกลงยินยอมร่วมกันเข้าเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ขอผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์โดยจำเลยทั้งสี่จะนำเงินเข้าบัญชีเพื่อลดภาระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีทุกเดือนไปจนกว่าจะหมด หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งยอมให้โจทก์เรียกหนี้ที่ค้างทั้งหมดคืนได้ทันที หลังจากจำเลยทั้งสี่ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ไว้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสี่มิได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อลดภาระหนี้แต่อย่างใดและผิดนัดเรื่อยมา โจทก์ได้ติดต่อจำเลยทั้งสี่ให้ชำระหนี้ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 11,607,724.54 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีคิดจากต้นเงิน 11,102,049.02 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดในหนี้เบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้นกับโจทก์เกินไปกว่าจำนวนหุ้นที่จำเลยที่ 3 ได้เข้าหุ้นกับจำเลยที่ 2 และที่ 4 เพื่อก่อตั้งห้างจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 3 เป็นเพียงหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด การจัดการงานของห้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เพียงผู้เดียวมีอำนาจในการจัดการ จำเลยที่ 3 ไม่เคยสอดเข้าไป ความยินยอมของจำเลยที่ 2 ที่ให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ลงชื่อในการสั่งจ่ายเงินด้วยนั้นเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียวของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4ไม่ทราบด้วย หนี้ตามฟ้องโจทก์ไม่ตรงกับความเป็นจริง จำเลยที่ 1ได้หยุดเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2524จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 18 เมษายน 2524การที่โจทก์ติดต่อให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์เป็นเงิน 7,499,238.28 บาท ยอดหนี้ดังกล่าวเป็นยอดหนี้ที่โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นโดยไม่มีสิทธิตามกฎหมายหนังสือรับสภาพหนี้ไม่มีผลบังคับแก่จำเลยที่ 3 ในวันที่ 30 มีนาคม2526 ได้มีการตกลงหักทอนบัญชีเดินสะพัดกัน มียอดหนี้ที่แน่นอนคือ7,499,238.28 บาท นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2526 เป็นต้นไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นต่อไป ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน11,607,724.54 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 17.5 ต่อปี ของเงินต้น11,102,049.02 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4ร่วมกันชำระเงินจำนวน 11,607,724.54 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ17.5 ต่อปี ในต้นเงิน 11,102,049.02 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2529 นับแต่วันที่ 2 มกราคม 2529 ให้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 17 ต่อปี และนับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2529 จนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ให้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4เป็นหุ้นส่วนกันในการประกอบกิจการขายแร่ ในการประกอบกิจการได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์โดยใช้ชื่อบัญชีว่านายสุวัฒน์พิศาลย์ คือจำเลยที่ 4 โดยมีเงื่อนไขในการออกเช็คสั่งจ่ายเงินจากบัญชีว่า สองในสามของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ลงชื่อร่วมกันโจทก์ตกลงโดยให้หมายเลขบัญชี 1381 ต่อมาจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ได้ร่วมกันจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดรับเบอร์แอนทินโปรดัคส์คือห้างจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด เมื่อวันที่14 ตุลาคม 2523 จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มีหนังสือแจ้งโจทก์ขอเปลี่ยนชื่อบัญชีเงินฝากเลขที่ 1381 จากชื่อของจำเลยที่ 4มาเป็นชื่อห้างจำเลยที่ 1 แทน ส่วนเงื่อนไขการสั่งจ่ายเงินจากบัญชีนั้นให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของห้างจำเลยที่ 1 สองในสามคนลงชื่อร่วมกันพร้อมประทับตราสำคัญของห้างจำเลยที่ 1 หลังจากนั้น จำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ลงชื่อออกเช็คประทับตราของห้างจำเลยที่ 1 หลายครั้ง จนกระทั่งบัญชีของห้างจำเลยที่ 1 หยุดเคลื่อนไหว วันที่ 30 มีนาคม 2526 จำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 ได้ร่วมกันทำหนังสือรับสภาพหนี้ของห้างจำเลยที่ 1ซึ่งมียอดเงินเป็นลูกหนี้โจทก์โดยคิดดอกเบี้ยทบต้นตามประเพณีธนาคารคิดถึงวันที่ 28 มีนาคม 2526 เป็นเงิน 7,499,238.28 บาท จำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 ตกลงยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมแต่หลังจากทำหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวแล้ว จำเลยทั้งสี่ไม่นำเงินเข้าบัญชีเพื่อลดยอดหนี้ ถึงวันที่ 27 พฤษภาคม 2528 อันเป็นวันบอกกล่าวทวงถาม จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น11,102,049.02 บาท
ปัญหามีว่า จำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 4 ตามฟ้องหรือไม่นั้น เห็นว่า หลังจากเปลี่ยนชื่อบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 1381 มาเป็นชื่อของห้างจำเลยที่ 1 แล้วก็ได้มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันต่อมา แต่เมื่อต่อมาบัญชีของจำเลยที่ 1 หยุดเคลื่อนไหว และเมื่อคิดถึงวันที่ 28 มีนาคม 2526จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชี 7,499,238.28 บาท ดังนั้นการที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 4 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวต่อโจทก์ด้วยความสมัครใจเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2526และประกอบกับการที่จำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการออกเช็คของห้างจำเลยที่ 1 หลายครั้ง พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนตลอดมาจำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดร่วมกันในหนี้ของห้างจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวน ส่วนเรื่องดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 3 อ้างว่านับตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2524 ที่มีการหยุดเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์หรือนับจากวันที่ 30 มีนาคม 2526 อันเป็นวันทำหนังสือรับสภาพหนี้ การเดินสะพัดทางบัญชีในส่วนของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ย่อมหยุดลงโดยสิ้นเชิง โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้อีกนั้น เห็นว่า การเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์แม้จะหยุดการเคลื่อนไหวและได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้กันแล้วก็ตาม แต่หนังสือรับสภาพหนี้ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าจำเลยทั้งสี่จะนำเงินมาผ่อนชำระเข้าบัญชีของห้างจำเลยที่ 1 ทุก ๆ เดือนเพื่อลดต้นเงินและดอกเบี้ยไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีหมดสิ้นและตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นต่อไปได้ จึงถือได้ว่าเป็นการตกลงให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลา เมื่อไม่ปรากฏว่าข้อตกลงในการเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสี่เลิกกันเมื่อใดดังนั้นคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดและให้หักทอนบัญชีกันเสียในเวลาใด ๆ ก็ได้ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 859 ปรากฏว่าคดีนี้โจทก์เรียกดอกเบี้ยทบต้นกับจำเลยทั้งสี่เพียงวันที่ 28 พฤษภาคม 2528ก่อนบัญชีเดินสะพัดเลิกกันซึ่งเป็นประโยชน์ต่อจำเลยที่ 3 อยู่แล้วโจทก์จึงย่อมเรียกดอกเบี้ยทบต้นได้
พิพากษายืน