คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 38/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การยกให้โดยเสน่หาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่จะตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 ที่จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 521 จะต้องมีคู่สัญญา 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือผู้ให้โอนทรัพย์สินของตนให้โดยเสน่หาแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง หรืออีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้รับ บันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินหลังทะเบียนการหย่าระหว่างโจทก์และจำเลย นอกจากโจทก์และจำเลยเป็นคู่สัญญาซึ่งกันและกันแล้วยังมีบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นผู้รับประโยชน์แห่งสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยด้วย คือ แทนที่โจทก์และจำเลยจะแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาด้วยกันเอง โจทก์และจำเลยกลับยอมให้ที่ดินจำนวน 2 แปลง และบ้านอีก 1 หลัง ตกเป็นของผู้เยาว์ทั้งสองหลังจากโจทก์และจำเลยจดทะเบียนหย่ากัน สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์ระหว่างสามีภรรยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1532 และเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 มิใช่สัญญาให้ จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย เมื่อจำเลยผิดสัญญา โจทก์ในฐานะคู่สัญญาย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์และจำเลยเป็นสามีภรรยากัน มีบุตรด้วยกัน2 คน คือเด็กหญิงผกามาศและเด็กชายประธาน มณีวงศ์ ต่อมาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2530 โจทก์จำเลยได้จดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากัน ในการตกลงหย่าขาดจากกันดังกล่าว โจทก์และจำเลยทำบันทึกหลังทะเบียนการหย่าตกลงมอบทรัพย์สินให้แก่บุตรทั้งสองคือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 6457 ตำบลกังแอน อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เนื้อที่ 9 ไร่ 2 งาน 80ตารางวา บ้านเลขที่ 299 หมู่ที่ 8 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวและที่ดินสวนตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลนาบัว อำเภอเมืองสุรินทร์จังหวัดสุรินทร์ หลังจากตกลงกันแล้ว จำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโจทก์บอกกล่าวแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนบ้านและที่ดินตามฟ้องให้แก่เด็กหญิงผกามาศ และเด็กชายประธานมณีวงศ์ ภายใน 7 วัน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาและให้ขับไล่จำเลยออกจากบ้านและที่ดินดังกล่าว
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยได้จดทะเบียนหย่าและทำบันทึกหลังทะเบียนการหย่าจริง ในเรื่องทรัพย์สินที่หามาได้ร่วมกันก็ได้แบ่งกันตามบันทึกหลังทะเบียนการหย่าข้อ 2 แล้วส่วนบันทึกหลังทะเบียนการหย่าข้อ 3 เป็น ทรัพย์สินของจำเลย จำเลยได้อาศัยทำกินตลอดมาเพื่อหาเงินส่งไปอุปการะบุตรของจำเลย การที่โจทก์ในฐานะผู้ปกครองหรือผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรผู้เยาว์หรือในฐานะผู้จัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ให้จำเลยส่งมอบทรัพย์สินของจำเลยให้บุตรตามบันทึกหลังทะเบียนการหย่าข้อ 3 เป็นการไม่ชอบและไม่เป็นธรรมแก่จำเลย การให้ตามบันทึกหลังทะเบียนการหย่าข้อ 3 ไม่ได้จดทะเบียนการให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การให้ไม่สมบูรณ์ ไม่มีผลผูกพันจำเลย อนึ่ง บันทึกข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้ระบุเวลาไว้ โจทก์ไม่บอกกล่าวก่อน จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และคดีโจทก์ขาดอายุความ เพราะเป็นการฟ้องเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ต้องฟ้องภายใน 1 ปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตามฟ้องให้แก่เด็กหญิงผกามาศ และเด็กชายประธาน มณีวงศ์และให้จำเลยออกไปจากบ้านและที่ดินตามฟ้อง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การยกให้โดยเสน่หาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่จะตกอยู่ในบังคับของมาตรา 525 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 521 จะต้องมีคู่สัญญา2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือผู้ให้โอนทรัพย์สินของตนให้โดยเสน่หาแก่บุคคลอีกคนหนึ่งหรืออีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้รับ แต่บันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์และจำเลยตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 หรือเอกสารหมาย จ.3 นอกจากโจทก์และจำเลยเป็นคู่สัญญาซึ่งกันและกันแล้ว ยังมีบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นผู้รับประโยชน์แห่งสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยด้วย คือแทนที่โจทก์และจำเลยจะแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาด้วยกันเอง โจทก์และจำเลยกลับยอมให้ที่ดินจำนวน 2 แปลง และบ้านอีก 1 หลัง ตกเป็นของบุตรผู้เยาว์ทั้งสองหลังจากโจทก์และจำเลยจดทะเบียนหย่ากันสัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1532 และเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374มิใช่สัญญาให้จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของมาตรา 525 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังที่จำเลยฎีกากล่าวคือ แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ดังนั้นเมื่อจำเลยผิดสัญญา โจทก์ในฐานะคู่สัญญาย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้ต่อกันได้
พิพากษายืน

Share