แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้จำเลยจะยอมให้ถือเอาคำให้การของพยานชั้นสอบสวนเป็นคำเบิกความของพยานในชั้นศาลด้วย ก็ไม่อาจถือได้ว่าคำให้การชั้นสอบสวนนั้นเป็นคำเบิกความของพยานในศาลได้ เพราะพยานไม่ได้เข้าเบิกความต่อศาลเอง
มีดพกปลายแหลมที่จำเลยใช้เป็นอาวุธ เป็นมีดพกขนาดใหญ่ (ยาว 12 นิ้วฟุตเฉพาะตัวมีดทำด้วยเหล็กยาว 7 นิ้วครึ่ง กว้าง 1 นิ้ว) จำเลยเข้ามาทางหลังตั้งใจแทงตรงอวัยวะสำคัญโดยแทงทะลุช่องซี่โครงเข้าช่องปอดและช่องท้อง ดังนี้ อยู่ในวิสัยที่จำเลยอาจเล็งเห็นผลแห่งการกระทำของตนได้ว่า ผู้เสียหายอาจถึงแก่ความตายได้กรรมย่อมเป็นเครื่องชี้เจตนา
การลดมาตราส่วนโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 และการลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เป็นคนละเรื่องไม่เกี่ยวข้องกัน จะรวมลดไปด้วยกันไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๑๒ เวลาประมาณ ๑๘.๐๐ นาฬิกา จำเลยใช้มีดปลายแปลมเป็นอาวุธ ชิงทรัพย์เอารถจักรยานยนต์หนึ่งคันของนายแซ แซ่ซิ้ม ไปโดยทุจริต โดยจำเลยใช้มีดปลายแหลมแทงนายแซถูกบริเวณหลังซีกซ้าย ๑ แห่ง ถูกอวัยวะที่สำคัญด้วยเจตนาฆ่า แต่ไม่บรรลุผลเพราะแพทย์รักษาไว้ได้ทันท่วงที นายแซจึงไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยกระทำร้ายนายแซ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์ เหตุเกิดที่ตำบลพนัสนิคม อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๙, ๒๘๘ สั่งคืนรถจักรยานยนต์ของกลาง และริบมีดพกปลายแหลมที่ใช้ในการกระทำผิด นับโทษต่อจากคดีอาญาดำที่ ๑๕๗๕/๒๕๑๒ ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การรับสารภาพว่าชิงทรัพย์โดยใช้มีดปลายแหลมแทงทำร้ายจริง แต่ไม่ใช่พยายามฆ่า
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์และพยายามฆ่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๐ และ ๓๓๕ ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๐ ซึ่งเป็นกระทงหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ จำคุก ๑๐ ปี คำให้การจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ ประกอบกับจำเลยอายุ ๑๙ ปี ต้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๖ จึงให้ลดมาตราส่วนโทษและลดโทษให้รวมกึ่งหนึ่ง โดยจำคุก ๕ ปี ริบมีดของกลาง คืนรถจักรยานยนต์แก่เจ้าทรัพย์ นับโทษต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๖๗๓/๒๕๑๒ ของศาลชั้นต้น
จำเลยอุทธรณ์ว่า ควรมีผิดเพียงฐานทำร้ายร่างกาย
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมายังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่า เป็นผิดเพียงฐานทำร้ายร่างกายสาหัสเท่านั้น พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๗ กระทงหนึ่งและผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ อีกกระทงหนึ่งให้ลงโทษตามมาตรา ๒๙๗ ซึ่งเป็นกระทงหนักตามมาตรา ๙๑ จำเลยอายุ ๑๙ ปี ลดมาตราส่วนโทษตามมาตรา ๗๖ ลง ๑ ใน ๓ แล้วให้จำคุก ๖ ปี ลดโทษโดยมีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก ๓ ปี นอกจากที่แก้แล้วให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีจึงมีปัญหาที่ขึ้นมาสู่ศาลฎีกาว่า การที่จำเลยทำร้ายผู้เสียหายนั้นจำเลยควรมีความผิดฐานพยายามฆ่าหรือฐานทำร้ายร่างกายสาหัสเท่านั้น
ข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังได้ว่าจำเลยใช้มีดพกปลายแหลมยาว ๑๒ นิ้วฟุต เฉพาะตัวมีดทำด้วยเหล็ก ยาว ๗ นิ้วครึ่ง กว้าง ๑ นิ้ว เข้ามาแทงทางด้านหลังผู้เสียหาย เป็นบาดแผลกว้าง ๑ เซนติเมตร ยาว ๓ เซนติเมตร ทะลุช่องซี่โครงด้านซ้ายเข้าช่องปอดและช่องท้อง
ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าผู้เสียหายจะถึงแก่ความตายเพราะบาดแผลนั้นหรือไม่ จะฟังตามคำให้การชั้นสอบสวนของแพทย์ไม่ได้จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่า ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยจะยอมให้ถือคำให้การชั้นสอบสวนเป็นคำเบิกความของนายแพทย์ไพโรจน์ในชั้นศาลด้วยก็ไม่อาจถือได้ว่าคำให้การชั้นสอบสวนนั้นจะเป็นคำเบิกความของพยานในศาลได้ เพราะพยานไม่ได้เข้าเบิกความต่อศาลเอง ถึงแม้ว่าโจทก์ไม่ได้นำสืบนายแพทย์ไพโรจน์ก็ดีศาลก็จำต้องพิเคราะห์พยานหลักฐานและพฤติการณ์แห่งรูปคดีว่า การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดสถานใดต่อไป
ศาลฎีกาเห็นว่า มีดพกปลายแหลมที่จำเลยใช้เป็นอาวุธนั้นเป็นมีดพกขนาดใหญ่ จำเลยเข้ามาทางหลังตั้งใจแทงตรงอวัยวะสำคัญโดยแทงทะลุช่องซี่โครงเข้าช่องปอดและช่องท้อง ดังนี้อยู่ในวิสัยที่จำเลยอาจเล็งเห็นผลแห่งการกระทำของตนได้ว่าผู้เสียหายอาจถึงแก่ความตายได้ กรรมย่อมเป็นเครื่องชี้เจตนา เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยก็ย่อมมีความผิดฐานพยายามฆ่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลดมาตราส่วนโทษและลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๖ และ ๗๘ รวมกึ่งหนึ่งนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าไม่ถูก เพราะการลดมาตราส่วนโทษตามมาตรา ๗๖ และการลดโทษตามมาตรา ๗๘ นั้น เป็นคนละเรื่องไม่เกี่ยวข้องกัน จะรวมลดไปด้วยกันไม่ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๐ กระทงหนึ่ง และผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ อีกกระทงหนึ่ง แต่ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๘๘, ๘๐ ซึ่งเป็นกระทงหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ จำเลยอายุ ๑๙ ปี ลดมาตราส่วนโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๖ ลง ๑ ใน ๓ แล้วให้จำคุกจำเลย ๖ ปี ๘ เดือน คำให้การรับสารภาพของจำเลยมีเหตุบรรเทาโทษ จึงให้ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงเหลือโทษจำคุก ๓ ปี ๔ เดือน นอกจากที่แก้นี้แล้วให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์