แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
รายจ่ายค่าเดินทางของกรรมการผู้จัดการบริษัท ซึ่งใช้จ่ายในการเดินทางไปในเรื่องส่วนตัวของกรรมการผู้นั้น มิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ บริษัทย่อมไม่มีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (3) (13)
รายจ่ายค่ารับรองซึ่งไม่ปรากฏว่าจ่ายเพื่อรับรองผู้ใดและจ่ายในกิจการใด ถือเป็นรายจ่ายในเรื่องส่วนตัว และรายจ่ายค่าของขวัญไม่ใช่เป็นรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ และมิใช่จ่ายเพื่อเป็นค่ารับรองแต่เป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัวหรือการให้โดยเสน่หารายจ่ายดังกล่าวไม่ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (3)
เงินโบนัสของบริษัทที่กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี บริษัทไม่มีสิทธินำค่าโบนัสดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตาม มาตรา65 ตรี (19)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์นำภาษีเงินได้นิติบุคคลไปชำระเพิ่มเติมพร้อมด้วยเงินเพิ่มรวม ๑,๒๘๕,๘๑๙.๐๓ บาท เนื่องจากเจ้าพนักงานประเมินเห็นว่ารายจ่ายรวม ๗ รายการ ซึ่งโจทก์นำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษี ไม่เป็นรายจ่ายที่พึงหักได้ตามประมวลรัษฎากร โจทก์อุทธรณ์คัดค้าน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นด้วยกับโจทก์เฉพาะรายจ่ายบางรายการนอกนั้นเห็นว่าการประเมินชอบแล้ว คงให้โจทก์นำเงินไปชำระรวม ๑,๐๘๒,๔๑๙.๐๓ บาทโจทก์เห็นว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์
จำเลยให้การว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับรายจ่ายรายการที่ ๓ ค่าเดินทางของนายบุญเกื้อ(กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์) กับพวกนอกจากจะปรากฏว่าการเดินทางของนายบุญเกื้อกับพวกไม่มีรายงานการประชุมที่อนุมัติให้เดินทาง และเมื่อเดินทางกลับก็ไม่มีรายละเอียดรายงานการเดินทางแล้ว นายอนันต์ศักดิ์และนายบุญเกื้อพยานโจทก์ยังเบิกความเจือสมคำจำเลยด้วย โดยนายอนันต์ศักดิ์เบิกความว่าการเดินทางในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๗ นอกจากเอกสารหมาย จ.๘ แล้วก็ไม่มีเอกสารอื่นใดเป็นหลักฐานว่าเดินทางไปในกิจการของโจทก์ และนายบุญเกื้อเบิกความว่า รายจ่ายตามเอกสารหมาย จ.๘ แผ่นที่ ๑๘ ถึงแผ่นที่ ๒๕ บุตรพยาน ๓ คนที่ไปด้วยมิได้เป็นพนักงานโจทก์ ข้อที่โจทก์อ้างว่ารายจ่ายตามเอกสารหมาย จ.๘เป็นค่าใช้จ่ายในธุรกิจของโจทก์ตามสมควร และตามความจำเป็นแก่กิจการของโจทก์ โดยไม่จำเป็นต้องมีระเบียบแบบแผนแน่ชัดจึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ รับฟังไม่ได้ถือได้ว่ารายจ่ายตามเอกสารดังกล่าวเป็นรายจ่ายในการเดินทางไปในเรื่องส่วนตัวของนายบุญเกื้อกับพวกและมิใช่เป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะโจทก์ไม่มีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๖๕ ตรี (๓) (๑๓) สำหรับรายจ่ายรายการที่ ๔ ค่ารับรองโจทก์นำสืบคลุม ๆ ว่าเป็นการจ่ายเพื่อรับรองลูกค้าของโจทก์ แต่ในใบเสร็จรับเงินไม่ได้ระบุว่าโจทก์เป็นผู้จ่ายทั้งไม่มีหลักฐานว่าจ่ายเพื่อรับรองผู้ใดและจ่ายในกิจการใด ประกอบกับโจทก์นำค่าซื้อพรมตามเอกสารหมาย จ.๙ แผ่นที่ ๗ ค่าซ่อมตู้เย็นของร้อยเอกสุทัศน์ เหล่าวานิช ตามเอกสารหมาย จ.๑๐ แผ่นที่ ๑ ถึงแผ่นที่ ๓ ค่ารองเท้าและค่าตัดเสื้อกางเกงชุดตามเอกสารหมาย จ.๑๐ แผ่นที่ ๒๙ และแผ่นที่ ๓๐ มาลงรายการจ่ายเป็นค่ารับรองด้วย แสดงว่าโจทก์ลงรายการจ่ายไม่ตรงต่อความจริง หากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีของจำเลยไม่เรียกบัญชีและพยานมาตรวจสอบ ก็ไม่สามารถจะพบความไม่ถูกต้อง ข้ออ้างของโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ ถือได้ว่ารายจ่ายค่ารับรองตามเอกสารหมาย จ.๙ ถึง จ.๑๑เป็นรายจ่ายในเรื่องส่วนตัว โจทก์ไม่มีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๖๕ ตรี (๓) สำหรับรายจ่ายรายการที่ ๕ ค่าของขวัญโจทก์ลงบัญชีเป็นรายจ่ายค่าการกุศลเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีของจำเลยเรียกบัญชีและพยานหลักฐานมาตรวจสอบจึงพบว่ารายจ่ายค่าการกุศลที่โจทก์ลงบัญชีไว้นั้นมีค่าของขวัญปนอยู่ด้วย กล่าวคือโจทก์ยื่นรายการภาษีเงินได้ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ (ภ.ง.ด. ๕)ระบุว่าได้จ่ายค่าการกุศลไปรวม ๔๑,๖๑๒.๕๐ บาท ความจริงเป็นค่าการกุศลสาธารณะจำนวน ๑๘,๒๖๓.๗๕ บาท กับเป็นค่าของขวัญจำนวน ๒๓,๓๔๘.๗๕ บาท รายการภาษีเงินได้ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ โจทก์ระบุว่าได้จ่ายค่าการกุศลไปรวม ๑๑๐,๒๙๐.๓๖ บาทความจริงเป็นค่าการกุศลสาธารณะจำนวน ๑๕,๔๕๗.๕๐ บาท กับเป็นค่าของขวัญจำนวน ๙๔,๘๓๒.๘๖ บาท และรายการภาษีเงินได้ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ โจทก์ระบุว่าได้จ่ายค่าการกุศลไปรวม ๙๑,๖๗๔.๐๕ บาท ความจริงเป็นค่าการกุศลสาธารณะจำนวน๑๙,๔๕๐ บาท กับเป็นค่าของขวัญจำนวน ๗๑,๒๒๔.๐๕ บาท เจ้าพนักงานประเมินยอมให้โจทก์นำรายจ่ายค่าการกุศลสาธารณะในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ ๑ ของกำไรสุทธิมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ส่วนค่าของขวัญเจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าเป็นรายจ่ายที่กฎหมายไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิจึงนำรายจ่ายค่าของขวัญบวกกลับเข้าไปในกำไรสุทธิของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีแล้วคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในยอดใหม่ ศาลฎีกาเห็นว่า รายจ่ายค่าของขวัญไม่ใช่เป็นการจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะและมิใช่จ่ายเพื่อเป็นค่ารับรองแต่เป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัวหรือการให้โดยเสน่หา โจทก์จึงไม่มีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๖๕ ตรี (๓) และการที่เจ้าพนักงานประเมินคิดหักค่าการกุศลสาธารณะสำหรับภาษีเงินได้ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ให้โจทก์เป็นเงิน ๑๕,๔๕๗.๕๐ บาท เท่าจำนวนที่โจทก์จ่ายจริงก็เป็นการชอบแล้วสำหรับรายจ่ายรายการที่ ๗ ค่าโบนัส ซึ่งเป็นรายจ่ายรายการสุดท้าย โจทก์ฎีกาว่าค่าโบนัสที่โจทก์จ่ายไป เป็นเงินโบนัสและเบี้ยขยันรวมกัน มิได้กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีแล้วโดยเงินโบนัสโจทก์กำหนดจ่ายและจ่ายตามหลักเกณฑ์ซึ่งโจทก์วางไว้ และเบี้ยขยันโจทก์จ่ายเป็นรายเดือน ตามผลงานและตามหลักเกณฑ์ซึ่งโจทก์วางไว้สำหรับเงินโบนัสนายบุญเกื้อเบิกความว่า คำนวณจ่ายจากเงินเดือนพนักงานไม่ว่าจะมีกำไรหรือขาดทุนก็จ่าย แต่ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๓๖ ว่าในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ โจทก์ขาดทุน และไม่ได้จ่ายเงินโบนัส แสดงว่าปีใดที่โจทก์ขาดทุนโจทก์ก็ไม่จ่ายเงินโบนัส จึงเชื่อว่าการจ่ายเงินโบนัสโจทก์กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีแล้ว ส่วนเรื่องเบี้ยขยันนายอนันต์ศักดิ์พยานโจทก์เบิกความว่า การจ่ายเบี้ยขยันมีระเบียบและคำสั่งวางหลักเกณฑ์ไว้แต่ไม่ได้อ้างส่งศาลและในการไต่สวนของเจ้าพนักงานประเมินนายวิจิตร สมุห์บัญชีของโจทก์ให้ถ้อยคำไว้ตามเอกสารหมาย ล. ๑ ก็ไม่ได้ให้การถึงเลยว่ารายจ่ายค่าโบนัสนั้น มีเบี้ยขยันรวมอยู่ด้วย ประกอบกับรายการภาษีเงินได้ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๗ ที่โจทก์ยื่นไว้ตามเอกสารหมาย จ.๓๗ ก็ไม่ได้ระบุว่ามีรายจ่ายเบี้ยขยัน ข้ออ้างของโจทก์ในเรื่องเบี้ยขยันจึงฟังไม่ได้ โจทก์ไม่มีสิทธินำค่าโบนัสมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๖๕ ตรี (๑๙) ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน