คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4025-4026/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างของจำเลย โดยได้รับค่าจ้างเป็นเงินเดือน เดือนละ 10,000 บาท เป็นค่าจ้างตอบแทนในการทำงานเป็นรายเดือนทุกเดือน ดังนั้นนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยจึงต้องเป็นไปตามสัญญาจ้างแห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 โดยจำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างตลอดเวลาที่โจทก์ทั้งสองทำงานให้แก่จำเลย และแม้โจทก์ทั้งสองจะทราบเงื่อนไขที่จำเลยกำหนดให้โจทก์ทั้งสองจะได้รับค่าจ้าง 10,000 บาท ต่อเมื่อปล่อยสินเชื่อจำนวนรถยนต์ได้ 20 คัน หรือวงเงิน 1,500,000 บาท ในเดือนนั้นก็ตาม แต่เมื่อเงื่อนไขดังกล่าวมีผลให้โจทก์ทั้งสองที่ทำงานให้แก่จำเลยเพียงแต่การทำงานในเดือนนั้นอาจไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่จำเลยกำหนดไว้กลับทำให้โจทก์ทั้งสองไม่ได้รับค่าจ้างตอบแทนการทำงานที่ตนได้ลงแรงไปแล้ว อันเป็นการขัดแย้งกับหน้าที่ที่จำเลยจะต้องปฏิบัติและขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสอง จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างค้างให้แก่โจทก์ทั้งสอง

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลฎีกามีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงิน 25,672.67 บาท และ 30,590.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 5 พิพากษาว่า ให้จำเลยชำระเงิน 25,672.67 บาท และ 30,590.83 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 20 ตุลาคม 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 5 ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างของจำเลยและเมื่อเงินเดือนละ 10,000 บาท เป็นค่าจ้าง จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระเงินนั้นแก่โจทก์ทั้งสองตลอดไปทุกเดือนเท่าที่โจทก์ทั้งสองยังคงเป็นลูกจ้างของจำเลย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลย โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า เงื่อนไขที่กำหนดให้โจทก์ทั้งสองต้องปล่อยสินเชื่อจำนวนรถยนต์ 10 คัน หรือวงเงิน 1,500,000 บาท เป็นเงื่อนไขที่บังคับใช้มาประมาณ 15 ปี โจทก์ทั้งสองก็รับทราบเงื่อนไขดังกล่าวเป็นอย่างดี และได้ลงลายมือชื่อรับทราบไว้ด้วย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองในเดือนที่โจทก์ทั้งสองทำงานไม่ได้ตามเป้าหมาย นั้น เห็นว่า ศาลแรงงานภาค 5 รับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างของจำเลย ได้รับค่าจ้างเป็นเงินเดือน เดือนละ 10,000 บาท เป็นค่าจ้างตอบแทนการทำงานเป็นรายเดือนทุกเดือน ดังนั้น นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยจึงต้องเป็นไปตามสัญญาจ้างแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 โดยจำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างตลอดเวลาที่โจทก์ทั้งสองทำงานให้แก่จำเลยและแม้โจทก์ทั้งสองจะทราบเงื่อนไขที่จำเลยกำหนดให้โจทก์ทั้งสองจะได้รับค่าจ้าง 10,000 บาท ต่อเมื่อปล่อยสินเชื่อจำนวนรถยนต์ได้ 10 คัน หรือวงเงิน 1,500,000 บาท ในเดือนนั้นก็ตาม แต่เมื่อเงื่อนไขดังกล่าวมีผลให้โจทก์ทั้งสองที่ทำงานให้แก่จำเลยเพียงแต่การทำงานในเดือนนั้นอาจไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่จำเลยกำหนด กลับทำให้โจทก์ทั้งสองไม่ได้รับค่าจ้างตอบแทนการทำงานที่ตนได้ลงแรงไปแล้ว อันเป็นการขัดแย้งกับหน้าที่ที่จำเลยจะต้องปฏิบัติ และขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสอง จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างค้างให้แก่โจทก์ทั้งสอง ที่ศาลแรงงานภาค 5 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสองนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share