แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งให้จำเลยรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากการกระทำละเมิดต่อโจทก์ แม้จะได้ความว่าผู้เสียหายผู้เป็นโจทก์มีส่วนกระทำการอันเป็นละเมิดนั้นอยู่ด้วย ก็ไม่ทำให้อำนาจฟ้องของผู้เสียหายหมดไป
แม้สัญญาการเดินรถร่วมกันระหว่างบริษัทจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของรถ จะไม่มีกรรมการลงชื่อแทนบริษัทอันเป็นการผิดข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ 3 ก็ตาม เมื่อบริษัทจำเลยที่ 3 รับเอาผลของสัญญา และปล่อยให้รถของจำเลยที่ 2 เดินร่วมทางและให้อยู่ในความควบคุมของจำเลยที่ 3 รับส่งคนโดยสารในปกติธุรกิจของตนเช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถคันนี้แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 กระทำการอันเป็นละเมิดขึ้นจำเลยที่ 3 ย่อมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในผลแห่งการละเมิดนั้นด้วย
การคำนวณค่าสินไหมทดแทนในกรณีละเมิดนั้น เมื่อความเสียหายอันเกิดจากการละเมิดนั้น ผู้เสียหายมีส่วนกระทำการละเมิดนั้นอยู่ด้วย ก็ต้องนำบทบัญญัติมาตรา 442 ประกอบด้วยมาตรา 223 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับ แต่ศาลย่อมมีอำนาจหยิบยกเอาเหตุที่โจทก์มีส่วนประมาทด้วยมาเป็นข้อวินิจฉัยได้
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ โจทก์ต่างคนกัน จำเลยเป็นคน ๆ เดียวกัน ศาลพิจารณาพิพากษารวมเข้าด้วยกัน โดยโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารซึ่งมีจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างทำหน้าที่เป็นคนขับ ร่วมกันรับผิดในการกระทำละเมิดที่จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์โดยสารของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไปในทางการที่จ้างโดยประมาทรถยนต์ซึ่งเป็นของโจทก์ในคดีหลัง โดยโจทก์ในคดีแรกเป็นคนขับ ทำให้โจทก์ในสำนวนแรกได้รับอันตรายแก่กาย และรถของโจทก์ในคดีหลังเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ในคดีแรก ๖,๑๘๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์คดีหลังเป็นค่าซ่อมรถเป็นเงิน ๕๘,๗๕๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยจากวันฟ้องด้วย
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ให้การรับว่าจำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างขับรถยนต์คันเกิดเหตุซึ่งเป็นของจำเลยที่ ๒ จริง จำเลยที่ ๑ ไม่ได้กระทำประมาท แต่เป็นเพราะโจทก์ในคดีแรกประมาทขับรถตัดหน้ารถจำเลยที่ ๑ ในระยะกระชั้นชิด จึงเป็นเหตุให้ชนกัน โจทก์คดีแรกจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง ค่าเสียหายของโจทก์ทั้ง ๒ สำนวนไม่ถึงตามจำนวนที่เรียกร้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์คันที่จำเลยที่ ๑ ขับร่วมกัน จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ ๆ ไม่เคยใช้รถยนต์คันนี้รับส่งคนโดยสาร การที่ชนกันไม่ใช่ความประมาทของจำเลยที่ ๑ แต่เป็นความประมาทของโจทก์ในคดีแรกเอง ค่าเสียหายก็ไม่ถึงจำนวนที่โจทก์เรียกร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เชื่อว่าจำเลยที่ ๑ กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๒ และนำรถเข้าวิ่งร่วมทางเดียวกับรถยนต์ของบริษัทจำเลยที่ ๓ จำเลยทั้งสามต้องรับผิดร่วมกัน พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์สำนวนแรก ๓,๖๘๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี จากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ใช้เงินแก่โจทก์สำนวนหลัง ๓๑,๑๕๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี จากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๓ ผู้เดียวอุทธรณ์ว่า หลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่ารถคันที่จำเลยที่ ๑ ขับ เป็นของจำเลยที่ ๒ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคดีอาญา หมายเลขแดงที่ ๘๐๓/๒๕๐๗ ของศาลแขวงสงขลาแล้วว่า โจทก์ในคดีแรกเป็นผู้ประมาทเลินเล่อในเหตุรถชนกันนี้ด้วย โจทก์คดีแรกจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในคดีแรกไม่เกิน ๒๐๐ บาท คดีหลังเสียหายไม่เกิน ๑๒,๐๐๐ บาท
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยเป็นฝ่ายกระทำละเมิดต่อโจทก์ แม้จำเลยที่ ๑ ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ แต่รถคันที่จำเลยที่ ๑ ขับ เป็นรถที่ร่วมวิ่งอยู่ในเส้นทางเดียวกันกับรถของบริษัทจำเลยที่ ๓ การที่ลูกจ้างบริษัทจำเลยที่ ๓ ลงชื่อและประทับตราบริษัทในสัญญาเดินรถร่วม จำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ เป็นการกระทำแทนจำเลยที่ ๓ ๆ ก็ได้รับเอาผลของนิติกรรมนั้นตลอดมา บริษัทจำเลยที่ ๓ จะปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ ปรากฏว่าโจทก์ในคดีแรกเป็นฝ่ายประมาทเลินเล่ออยู่ด้วย แต่จำเลยที่ ๑ ประมาทเลินเล่อมากกว่า ค่าเสียหายจึงคำนวณให้ตามส่วน พิพากษาแก้ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์คดีแรก ๒,๔๖๓ บาท โจทก์คดีหลัง ๒๐,๗๖๖ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่ง จากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์คดีหลังฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ค่าเสียหายให้โจทก์ได้รับน้อยลงโดยถือว่าโจทก์ในคดีแรกคนขับรถของโจทก์ในคดีหลังประมาทเลินเล่อด้วยนั้นยังไม่ชอบ เพราะมิใช่ประเด็นที่ว่ากันมาแต่ศาลชั้นต้น และจำเลยมิได้สืบหักล้าง อีกทั้งคนขับรถของโจทก์คดีหลังไม่ประมาท
จำเลยที่ ๓ ฎีกาว่า โจทก์คดีแรกไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะเป็นผู้เสียหายมีส่วนประมาทด้วยกัน จำเลยที่ ๓ ไม่ใช่เจ้าของรถคันที่จำเลยคดีแรกขับ จำเลยไม่ต้องรับผิด ศาลอุทธรณ์คิดค่าเสียหายให้โจทก์มากเกินสมควร
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การฟ้องคดีแพ่งหาว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ แม้ทางพิจารณาในส่วนอาญาจะฟังว่าโจทก์มีส่วนประมาทอยู่บ้าง ก็หาทำให้อำนาจฟ้องทางแพ่งของโจทก์หมดไปไม่ เมื่อปรากฏว่าจำเลยเป็นฝ่ายทำให้โจทก์เสียหายแล้ว โจทก์จะเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่ ศาลจะต้องคำนึงถึงความเสียหายว่าฝ่ายใดก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๒ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ประเด็นในเรื่องความรับผิดของจำเลยที่ ๓ ศาลฎีกาเห็นพ้องกับความเห็นของศาลอุทธรณ์ แม้สัญญาฉบับลงวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๐๖ นี้จะไม่มีกรรมการบริษัทลงชื่อแทนจำเลยที่ ๓ ก็ตาม เมื่อจำเลยที่ ๓ รับเอาผลของสัญญา และปล่อยให้รถจำเลยที่ ๒ เดินร่วมทางและให้อยู่ในความควบคุมของจำเลยที่ ๓ รับส่งคนโดยสารในปกติธุรกิจของตนเช่นนี้ ถือว่าจำเลยที่ ๓ ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของรถคันนี้แล้ว จำเลยที่ ๓ จะต้องรับผิดร่วมต่อโจทก์
ประเด็นในเรื่องค่าเสียหายที่จำเลยที่ ๓ ฎีกา เห็นว่าสมควรแล้ว ไม่มีทางกลับแก้
ประเด็นในเรื่องศาลอุทธรณ์แก้ค่าเสียหายตามที่โจทก์คดีแรกฎีกา เห็นว่า การคำนวณค่าสินไหมทดแทนนั้น ท่านให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ฉะนั้นในเรื่องนี้ เมื่อความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งของผู้เสียหายประกอบด้วย ก็ต้องนำบทบัญญัติมาตรา ๔๔๒ ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาบังคับแก่กรณี ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ซึ่งศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นชอบด้วย โจทก์เถียงว่าโจทก์คดีแรกไม่ได้ประมาทนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามคำเบิกความของสิบตำรวจเอกสุรชัยเอง คำร้อยตำรวจโทวีระ พนักงานสอบสวน แผนที่เกิดเหตุ และสำนวนคดีอาญาแดงที่ ๘๐๓/๒๕๐๗ ของศาลแขวงสงขลา ฟังได้ว่าสิบตำรวจเอกสุรชัยเป็นฝ่ายประมาทเลินเล่ออยู่ด้วย เป็นเหตุให้รถชนกัน ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน