คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5899/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพิจารณาคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 มาตรา 79 ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น คำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงต้องตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองด้วย
คำร้องของผู้ร้องอ้างเหตุคัดค้านการเลือกตั้งว่า กรรมการตรวจคะแนนลงคะแนนเอง ลงชื่อแทนผู้มีสิทธิลงคะแนนที่ไม่มาใช้สิทธิ ไม่จดหมายเลขกับสถานที่ออกบัตรประจำตัวประชาชนในบัญชีผู้มีสิทธิ เลือกตั้งและที่จดไว้ก็ไม่ตรงกับความจริง การนับคะแนนของคณะกรรมการทุกหน่วยเลือกตั้งไม่ตรงต่อความเป็นจริงที่ปรากฏในบัตรเลือกตั้งโดยอ่านบัตร เลือกตั้งหมายเลขของผู้ร้องเป็นหมายเลขอื่นทำให้คะแนนของผู้ร้องลดลง คณะกรรมการกตรวจคะแนนทุกหน่วยเลือกตั้งกรอกคะแนนลงในแบบรายงานแสดงผลของการนับคะแนนไม่ตรงกับความเป็นจริงและไม่ตรงกับคะแนนที่อ่านได้ โดยลงคะแนนของผู้ร้องแล้วเพิ่มคะแนนให้แก่ผู้สมัครหมายเลขอื่นและนายอำเภอในเขตเลือกตั้งซึ่งมีหน้าที่รวมคะแนนจากรายงานแสดงผลของการนับคะแนน รวมคะแนนของผู้ร้องผิดไปจากความจริงโดยลดคะแนนของผู้ร้องลงและบวกคะแนนเพิ่มให้แก่ผู้สมัครหมายเลขอื่นนั้นเป็นคำร้องที่เคลือบคลุม เพราะไม่อาจทราบได้ว่าเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง กรรมการตรวจคะแนนหรือเจ้าหน้าที่คะแนนผู้ใดของหน่วยเลือกตั้งที่เท่าใด ของอำเภอใดเป็นผู้กระทำเช่นนั้นและที่อ้างว่ากรรมการตรวจคะแนนและนายอำเภอในเขตเลือกตั้งรวมคะแนนผิดไปจากความจริงนั้น ความจริงมีจำนวนเท่าใดก็ไม่ปรากฏผู้ร้องเพียงแต่กล่าวอ้างคลุม ๆ มาทุกหน่วยเลือกตั้งและส่อแสดงว่าเป็นการคาดคะเนเอาเอง จึงเป็นคำกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่พอที่จะทำให้คัดค้านเข้าใจข้อหาได้ดี ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดพิษณุโลกว่า ผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตเลือกตั้งที่ ๑ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๓๑ โดยผู้ร้องได้เครื่องหมายประจำตัวผู้สมัครหมายเลข ๔ ผู้ร้องไม่ได้รับเลือกตั้ง ทั้งนี้เพราะการเลือกตั้งในเขตดังกล่าวเป็นไปโดยมิชอบ โดยเจ้าหน้าที่กรรมการคะแนนทุกหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ ๑ ของจังหวัดพิษณุโลก ปฏิบัติการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๕๑ เป็นเหตุให้นายสุชน ชามพูนท ผู้สมัครรับเลือกตั้งหมายเลข ๑๘ นายอุดมศักดิ์ อุชชิน ผู้สมัครรับเลือกตั้งหมายเลข ๑๕ และนายยิ่งพันธ์ มนะสิการ ผู้สมัครรับเลือกตั้งหมายเลข ๑ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งที่ ๑ จังหวัดพิษณุโลก กล่าวคือ
๑. กรรมการตรวจคะแนนได้ลงคะแนนในบัตรเลือกตั้งเสียเอง เพื่อประโยชน์ของผู้สมัครหมายเลข ๑๘ หมายเลข ๑๕ และหมายเลข ๑ นอกจากนี้ยังลงชื่อแทนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยผู้มีสิทธิไม่ได้มาใช้สิทธิลงคะแนนในวันเลือกตั้ง ทั้งยังไม่ได้จดหมายเลขของบัตรประจำตัวประชาชนและสถานที่ออกบัตรลงในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งไว้เป็นพยานหลักฐาน และในส่วนที่ได้จดลงไว้ในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็มิได้จดไว้ตรงตามความจริง อันเป็นการฝ่าฝืนกฎกระทรวง (พ.ศ.๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๒๒
๒. การนับคะแนนของคณะกรรมการทุกหน่วยเลือกตั้งไม่ตรงต่อความเป็นจริงที่ปรากฏในบัตรเลือกตั้ง ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในบัตรเลือกตั้งคือ หมายเลข ๔ ของผู้ร้อง แต่กรรมการอ่านบัตรกลับขานคะแนนเป็นหมายเลข ๑ บ้างหมายเลข ๑๘ บ้าง หมายเลข ๑๕ บ้าง หาได้ขานคะแนนเป็นหมายเลข ๔ ของผู้ร้องไม่ อันเป็นการขัดต่อความเป็นจริง ทำให้คะแนนเสียงของผู้ร้องลดลงและทำให้คะแนนเสียงของผู้สมัครหมายเลข ๑ หมายเลข ๑๕ และหมายเลข ๑๘ เพิ่มขึ้น ตรงกันข้ามกับคะแนนของผู้ร้องหมายเลข ๔ ที่มีคะแนนลดลงจากความเป็นจริง
๓. คณะกรรมการตรวจคะแนนทุกหน่วยปฏิบัติหน้าที่คลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง โดยได้กรอกคะแนนจากกระดานดำที่ได้ลงคะแนนและอ่านคะแนนจากบัตรเลือกตั้งเสร็จแล้ว ลงในแบบรายงานแสดงผลของการนับคะแนนไม่ตรงกับความเป็นจริง และไม่ตรงกับคะแนนที่อ่านได้ โดยได้กรอกคะแนนผิดไปจากความเป็นจริง โดยลงคะแนนของผู้ร้องหมายเลข ๔ ลงทุกหน่วยเลือกตั้ง แล้วเพิ่มคะแนนให้แก่ผู้สมัครหมายเลข ๑ หมายเลข ๑๕ และหมายเลข ๑๘
๔. ปรากฏว่านายอำเภอพรหมพิรามผู้มีหน้าที่รวมคะแนนจากรายงานแสดงผลของการนับคะแนน (แบบ ส.ส.๔) ในอำเภอพรหมพิราม จากหน่วยเลือกตั้งจำนวน ๗๘ หน่วยเลือกตั้ง ของผู้สมัครหมายเลข ๔ ผิดจากความจริงไปถึง ๕,๐๐๐ คะแนน ความจริงผู้ร้องควรจะได้รับคะแนนรวมทั้ง ๗๘ หน่วยเลือกตั้งจำนวน ๑๗,๐๐๐ คะแนน แต่นายอำเภอพรหมพิรามกลับรวมคะแนนของผู้ร้องว่ามีเพียง ๑๒,๑๐๖ คะแนน โดยลดตัวเลขคะแนนจากความจริงถึง ๕,๐๐๐ คะแนน และบวกคะแนนเพิ่มให้แก่ผู้สมัครหมายเลข ๑ เป็น ๑๘,๓๕๐ คะแนน หมายเลข ๑๕ เป็น ๑๙,๑๓๐ คะแนน และหมายเลข ๑๘ เป็น ๑๖,๓๑๔ คะแนน ความจริงหมายเลข ๑ มีคะแนนรวมทั้ง ๗๘ หน่วยเลือกตั้งไม่เกิน ๕,๐๐๐ คะแนน หมายเลข ๑๕ ไม่เกิน ๖,๐๐๐ คะแนน และหมายเลข ๑๘ ไม่เกิน ๔,๐๐๐ คะแนน แต่ได้มีการบวกคะแนนผิดไปจากความจริงดังกล่าว
อำเภอเมืองพิษณุโลก ปรากฏว่านายอำเภอเมืองพิษณุโลกซึ่งมีหน้าที่รวมคะแนนจากรายงานแสดงผลของการนับคะแนน (แบบ ส.ส.๔) จากหน่วยเลือกตั้งจำนวน ๑๒๓ หน่วยเลือกตั้ง ของผู้ร้องหมายเลข ๔ ผิดจากความจริงไปถึง ๑๒,๐๐๐ คะแนน ผู้ร้องควรจะได้รับคะแนนรวมจากหน่วยเลือกตั้งจำนวน ๑๒๓ หน่วยเลือกตั้งถึง ๑๙,๑๕๒ คะแนน แต่นายอำเภอเมืองพิษณุโลกกลับรวมคะแนนของผู้ร้องมีเพียง ๗,๑๕๒ คะแนน และบวกคะแนนเพิ่มให้แก่ผู้สมัครหมายเลข ๑ เป็น ๓๕,๒๘๓ คะแนน ที่จริงผู้สมัครหมายเลข ๑ มีคะแนนไม่เกิน ๑๕,๐๐๐ คะแนน และบวกคะแนนเพิ่มให้แก่ผู้สมัครหมายเลข ๑๕ เป็น ๓๖,๐๐๐ คะแนน ความจริงผู้สมัครหมายเลข ๑๕ มีคะแนนไม่เกิน ๑๔,๐๐๐ คะแนน และบวกคะแนนเพิ่มให้แก่ผู้สมัครหมายเลข ๑๘ เป็น๓๕,๙๗๖ คะแนน ความจริงผู้สมัครหมายเลข ๑๘ มีคะแนนไม่เกิน ๑๓,๐๐๐ คะแนน
อำเภอบางระกำ ปรากฏว่านายอำเภอบางระกำผู้มีหน้าที่รวมคะแนนจากรายงนผลของการนับคะแนน (แบบ ส.ส.๔) จากหน่วยเลือกตั้งจำนวน ๕๒ หน่วยเลือกตั้งของผู้ร้องหมายเลข ๔ ผิดไปถึง ๑๐,๐๐๐ คะแนน ผู้ร้องควรจะได้รับคะแนนรวมจำนวน ๑๓,๕๒๙ คะแนน แต่นายอำเภอบางระกำกลับรวมคะแนนของผู้ร้องมีเพียง ๓,๕๒๙ คะแนน และบวกคะแนนเพิ่มให้แก่ผู้สมัครหมายเลข ๑ ซึ่งมีคะแนนจริงไม่เกิน ๖,๓๕๖ คะแนน แต่บวกเพิ่มให้อีก ๑๐,๐๐๐ คะแนน โดยไม่ถูกต้องตามรายงานแสดงผลการนับคะแนน โดยเพิ่มให้หมายเลข ๑ มีคะแนน ๑๖,๓๕๖ คะแนน และบวกคะแนนเพิ่มให้แก่หมายเลข ๑๕ ซึ่งมีคะแนนจริงไม่เกิน ๖,๙๑๕ คะแนน แต่บวกเพิ่มให้อีก ๑๐,๐๐๐ คะแนน โดยไม่ถูกต้องตามรายงานแสดงผลการนับคะแนน ทำให้หมายเลข ๑๕ มีคะแนนถึง ๑๖,๙๑๕ คะแนน และบวกคะแนนเพิ่มให้แก่หมายเลข ๑๘ ที่มีคะแนนจริงไม่เกิน ๙,๐๑๒ คะแนน แต่บวกคะแนนเพิ่มให้อีก ๑๐,๐๐๐ คะแนน โดยไม่ถูกต้องตามรายงานแสดงผลการนับคะแนนทำให้หมายเลข ๑๘ มีคะแนนถึง ๑๙,๐๑๒ คะแนน
อำเภอบางกระทุ่ม ปรากฏว่านายอำเภอบางกระทุ่มผู้มีหน้าที่รวมคะแนนจากรายงานผลของการนับคะแนน (แบบ ส.ส.๔) จากหน่วยเลือกตั้งจำนวน ๔๒ หน่วยเลือกตั้งของผู้สมัครหมายเลข ๔ ผิดไปถึง ๑๐,๐๐๐ คะแนน ซึ่งผู้ร้องควรจะได้รับคะแนนจำนวน ๑๑,๘๘๐ คะแนน แต่นายอำเภอบางกระทุ่มกลับรวมคะแนนของผู้ร้องว่ามีเพียง ๑,๘๘๐ คะแนน นายอำเภอบางกระทุ่มรวมคะแนนเพิ่มให้แก่ผู้สมัครหมายเลข ๑ ซึ่งมีคะแนนจริงไม่เกิน ๔,๗๒๐ คะแนน ไปอีก ๕,๐๐๐ คะแนน โดยไม่ถูกต้องตามรายงานแสดงผลของการนับคะแนน ทำให้หมายเลข ๑ มีคะแนนรวมถึง ๙,๗๒๐ คะแนน และรวมคะแนนเพิ่มให้แก่ผู้สมัครหมายเลข ๑๕ ซึ่งมีคะแนนจริงไม่เกิน ๕,๙๒๕ คะแนน แต่นายอำเภอบางกระทุ่มกลับรวมคะแนนเพิ่มให้แก่ผู้สมัครหมายเลข ๑๕ ไปอีก ๕,๐๐๐ คะแนน โดยไม่ถูกต้องตามรายงานแสดงผลของการนับคะแนน ทำให้หมายเลข ๑๕ มีคะแนนรวมถึง ๑๐,๙๒๕ คะแนน และรวมคะแนนเพิ่มให้แก่ผู้สมัครหมายเลข ๑๘ ซึ่งมีคะแนนจริงไม่เกิน ๖,๗๐๗ คะแนน แต่นายอำเภอบางกระทุ่มรวมคะแนนเพิ่มให้แก่ผู้สมัครหมายเลข ๑๘ ไปอีก ๕,๐๐๐ คะแนน โดยไม่ถูกต้องตามรายงานแสดงผลของการนับคะแนน ทำให้หมายเลข ๑๘ มีคะแนนรวมถึง ๑๑,๗๐๗ คะแนน
หากได้มีการตรวจสอบนับคะแนนกันใหม่แล้วจากหลักฐานลงคะแนนในหีบบัตรเลือกตั้งจากทุกหน่วยเลือกตั้ง ผู้ร้องจะได้คะแนนรวมจากทุกหน่วยเลือกตั้งไม่ต่ำกว่า ๖๑,๖๐๗ คะแนน และหมายเลข ๑ จะมีคะแนนรวมไม่เกิน ๓๑,๐๗๖ คะแนน หมายเลข ๑๕ จะมีคะแนนรวมไม่เกิน ๓๑,๖๓๕ คะแนน หมายเลข ๑๘ จะมีคะแนนรวมไม่เกิน ๓๒,๗๑๙ คะแนน และผู้ร้องหมายเลข ๔ จะได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต ๑ ของจังหวัดพิษณุโลก แต่เพราะกรรมการตรวจคะแนนและรวมคะแนนในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต ๑ ของจังหวัดพิษณุโลก ในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๓๑ ปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๕๑ จึงขอศาลสั่งให้มีการเปิดหีบบัตรเลือกตั้งเพื่อตรวจนับคะแนนใหม่ หากนับคะแนนใหม่แล้วปรากฏว่าผู้ร้องได้รับเลือกตั้งมีคะแนนเป็นอันดับที่ ๑ หรือที่ ๒ หรือที่ ๓ ก็ขอมีคำสั่งให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต ๑ ของจังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๓๑ เป็นโมฆะและให้มีการเลือกตั้งใหม่
ศาลจังหวัดพิษณุโลกได้ส่งสำเนาคำร้องและกำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก และนายสุชน ชามพูนท นายอุดมศักดิ์ อุชชิน นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลกเขตเลือกตั้งที่ ๑ ทราบแล้ว ปรากฏว่า นายสุชน นายอุดมศักดิ์และนายยิ่งพันธ์มิได้ยื่นคำคัดค้าน ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกยื่นคำคัดค้านคำร้องว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตเลือกตั้งที่ ๑ ของจังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๓๑ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผู้ใดกระทำการโดยมิชอบตามคำร้องและคำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุม ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๗๒ วรรคสอง ขอให้ยกคำร้อง
ชั้นไต่สวนคำร้อง ศาลจังหวัดพิษณุโลกสั่งงดไต่สวนคำร้องของผู้ร้อง และทำความเห็นส่งสำนวนมายังศาลฎีกาว่า คำร้องของผู้ร้องเป็นคำร้องที่เคลือบคลุม ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒ วรรคสองเห็นควรให้ยกคำร้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การพิจารณาคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น มาตรา ๗๙ แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๒๒ ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมด้วยดังนั้นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงต้องตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ แพ่ง มาตรา ๑๗๒ วรรคสองด้วย
พิเคราะห์คำร้องของผู้ร้องโดยตลอดแล้ว ที่ผู้ร้องอ้างเหตุคัดค้านการเลือกตั้งประการแรกว่า กรรมการตรวจคะแนนลงคะแนนเอง ลงชื่อแทนผู้มีสิทธิลงคะแนนที่ไม่มาใช้สิทธิ ไม่จดหมายเลขกับสถานที่ออกบัตรประจำตัวประชาชนในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และที่จดไว้ก็ไม่ตรงกับความจริง เป็นการฝ่าฝืนกฎกระทรวง (พ.ศ.๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๒๒ นั้น เห็นว่าผู้ร้องมิได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งข้อเท็จจริงอันเป็นสภาพแห่งข้อหาว่า กรรมการตรวจคะแนนคนใดของหน่วยเลือกตั้งที่เท่าใด ของอำเภอใดเป็นผู้กระทำเช่นนั้น กับได้ลงชื่อแทนผู้มีสิทธิลงคะแนนคนใด ของหน่วยเลือกตั้งที่เท่าใดของอำเภอใด และจดไว้ไม่ตรงกับความจริงอย่างไร เช่นนี้จึงไม่อาจทราบได้ว่าเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง กรรมการตรวจคะแนนหรือเจ้าหน้าที่คะแนนผู้ใดได้กระทำอันเป็นการฝ่าฝืนกฎกระทรวง (พ.ศ.๒๕๒๒) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๒๒ ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างจึงเป็นคำกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่พอที่จะทำให้ผู้คัดค้านเข้าใจข้อหาได้ดี คำร้องส่วนนี้จึงเคลือบคลุม ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒ วรรคสอง
ที่ผู้ร้องอ้างเหตุคัดค้านประการต่อไปว่า การนับคะแนนของคณะกรรมการทุกหน่วยเลือกตั้งไม่ตรงกับความจริงในบัตรเลือกตั้ง โดยอ่านบัตรเลือกตั้งหมายเลข ๔ ของผู้ร้องเป็นหมายเลข ๑ บ้าง หมายเลข ๑๕ และหมายเลข ๑๘ บ้าง ทำให้คะแนนของผู้ร้องลดลง คะแนนของผู้สมัครหมายเลข ๑ หมายเลข ๑๕ และหมายเลข ๑๘ เพิ่มขึ้นจากความเป็นจริง เห็นว่าผู้ร้องลงมิได้ระบุโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาว่า กรรมการตรวจคะแนนคนใด ของหน่วยเลือกตั้งที่เท่าใด ของอำเภอใด นับคะแนนไม่ตรงกับความจริง เพียงแต่กล่าวอ้างคลุม ๆ มาทุกหน่วยเลือกตั้งเท่านั้น และข้อที่อ้างว่าการอ่านบัตรเลือกตั้งไม่ตรงกับความจริงนั้นก็มิได้บรรยายว่าไม่ตรงกับความจริงมีจำนวนเท่าใด ทั้งการอ่านคะแนนเช่นนั้นเป็นเหตุให้คะแนนของผู้ร้องน้อยกว่าความเป็นจริงเท่าใด อันเป็นสาระสำคัญเพื่อให้ผู้คัดค้านเข้าใจข้อหาได้ดี คำร้องส่วนนี้จึงเคลือบคลุม ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒ วรรคสอง
ที่ผู้ร้องอ้างเหตุคัดค้านประการที่สามว่า คณะกรรมการตรวจคะแนนทุกหน่วยเลือกตั้งกรอกคะแนนจากกระดานดำที่ได้ลงคะแนนจากการอ่านคะแนนตามบัตร เลือกตั้งเสร็จแล้วลงในแบบรายงานแสดงการนับคะแนนไม่ตรงกับความเป็นจริงและไม่ตรงกับคะแนนที่อ่านได้ โดยลดคะแนนหมายเลข ๔ ของผู้ร้องลงเพิ่มคะแนนให้แก่หมายเลข ๑ หมายเลข ๑๕ และหมายเลข ๑๘ ทุกหน่วยเลือกตั้งนั้นเห็นว่าผู้ร้องมิได้บรรยายข้อเท็จจริงให้แจ้งชัดว่า กรรมการตรวจคะแนนคนใดของหน่วยเลือกตั้งที่เท่าใด ของอำเภอใด เป็นผู้กรอกคะแนนไม่ตรงกับความเป็นจริงและที่ว่าไม่ตรงกับความจริงนั้น ผิดไปจากความจริงเท่าใดคะแนนของผู้ร้องถูกลดลงไปจำนวนเท่าใด คะแนนของผู้สมัครหมายเลข ๑ หมายเลข ๑๕ และหมายเลข ๑๘ ถูกเพิ่มขึ้นจำนวนเท่าใด ผู้ร้องเพียงแต่กล่าวอ้างคลุม ๆ มาทุกหน่วยเลือกตั้ง จึงเป็นคำกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่พอที่จะทำให้ผู้คัดค้านเข้าใจข้อหาได้ดี คำร้องข้อนี้จึงเคลือบคลุมเช่นเดียวกัน
และที่ผู้ร้องอ้างเหตุคัดค้านประการสุดท้ายว่า นายอำเภอพรหมพิรามซึ่งมีหน้าที่รวมคะแนนจากรายงานแสดงผลของการนับคะแนน (แบบ ส.ส.๔) ในอำเภอพรหมพิรามจากหน่วยเลือกตั้ง ๗๘ หน่วยเลือกตั้ง ได้รวมคะแนนของผู้ร้องผิดไปจากความจริงถึง ๕,๐๐๐ คะแนน นายอำเภอเมืองพิษณุโลกผู้มีหน้าที่รวมคะแนนจากรายงานแสดงผลของการนับคะแนน (แบบ ส.ส.๔) ในอำเภอเมืองพิษณุโลกจากหน่วยเลือกตั้ง ๑๒๓ หน่วยเลือกตั้ง ได้รวมคะแนนของผู้ร้องผิดไปจากความจริงถึง ๑๒,๐๐๐ คะแนน นายอำเภอบางระกำผู้มีหน้าที่รวมคะแนนจากรายงานแสดงผลของการนับคะแนน (แบบ ส.ส.๔) ในอำเภอบางระกำจากหน่วยเลือกตั้ง ๕๒ หน่วยเลือกตั้งได้รวมคะแนนของผู้ร้องผิดไปจากความจริงถึง ๑๐,๐๐๐ คะแนน และนายอำเภอบางกระทุ่มผู้มีหน้าที่รวมคะแนนจากรายงานแสดงผลของการนับคะแนน (แบบ ส.ส.๔) ในอำเภอบางกระทุ่มจากหน่วยเลือกตั้ง ๔๒ หน่วยเลือกตั้ง ได้รวมคะแนนของผู้ร้องผิดไปจากความจริงถึง ๑๐,๐๐๐ คะแนน นั้น เห็นว่าข้อที่ผู้ร้องอ้างว่านายอำเภอดังกล่าวรวมคะแนนจากรายงานแสดงผลของการนับคะแนน (แบบ ส.ส.๔) ผิดพลาด แต่ตามคำร้องมิได้บรรยายให้ชัดเจนว่า แต่ละหน่วยเลือกตั้งในแต่ละอำเภอดังกล่าว ผู้ร้องได้คะแนนหน่วยเลือกตั้งละกี่คะแนน ได้คะแนนรวมเป็นจำนวนเท่าใด และคะแนนที่ว่ารวมผิดพลาดผิดไปจากความจริงหน่วยเลือกตั้งละกี่คะแนน คะแนนรวมทั้งหมดผิดพลาดเป็นจำนวนเท่าใด สำหรับข้อที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า นายอำเภอพรหมพิราม นายอำเภอเมืองพิษณุโลก นายอำเภอบางระกำ และนายอำเภอบางกระทุ่ม ผู้มีหน้าที่รวมคะแนนจากรายงานแสดงผลของการนับคะแนน (แบบ ส.ส.๔) ของผู้ร้องผิดไปจากความจริงถึง ๕,๐๐๐ คะแนน, ๑๒,๐๐๐ คะแนน, ๑๐,๐๐๐ คะแนน และ ๑๐,๐๐๐ คะแนน ตามลำดับนั้น ก็เห็นได้ว่าตัวเลขจำนวนคะแนนที่กล่าวอ้างว่านายอำเภอดังกล่าวรวมคะแนนของผู้ร้องผิดพลาด เป็นตัวเลขจำนวนคะแนนเต็มทุกอำเภอ ส่อแสดงว่าเป็นการคาดคะเนเอาเอง มิใช่ตัวเลขจำนวนคะแนนที่รวมผิดพลาดโดยแท้จริง และเห็นได้ว่าเป็นการคิดคำนวณคาดหมายเอาเองตามนัยที่กล่าวมาแล้วเพียงเพื่อจะอ้างเป็นเหตุร้องคัดค้านและเพื่อให้ปรากฏในคำร้องเท่านั้น เมื่อผู้ร้องบรรยายแสดงจำนวนคะแนนที่นายอำเภอดังกล่าวรวมคะแนนผิดพลาดโดยประการที่น่าจะคิดคำนวณประมาณเอาเองเพื่อให้เห็นว่าได้บรรยายจำนวนคะแนนที่นายอำเภอดังกล่าวรวมคะแนนผิดพลาดเป็นเหตุให้ผู้ร้องเป็นฝ่ายเสียคะแนนในคำร้อง และหากศาลวินิจฉัยว่าคำร้องเช่นนี้เป็นคำร้องที่ชอบแล้ว ผลที่ตามมาก็คือผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดที่เพียงแต่สงสัยการรวมคะแนนของนายอำเภอผู้มีหน้าที่รวมคะแนนจากรายงานแสดงผลของการนับคะแนน (แบบ ส.ส.๔) ก็อาจยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งเพื่อให้ศาลทำหน้าที่รวมคะแนนจากรายงานแสดงผลของการนับคะแนน (แบบ ส.ส.๔) ให้ใหม่ได้ทุกรายไป คำร้องของผู้ร้องข้อนี้จึงเลื่อนลอย ย่อมเป็นคำร้องที่เคลือบคลุมอีกเช่นเดียวกัน
เมื่อคำร้องของผู้ร้องที่คัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต ๑ ของจังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๓๑ ทุกข้อเป็นคำร้องที่เคลือบคลุม ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒ วรรคสองดังได้วินิจฉัยมาแล้ว จึงไม่อาจรับคำร้องไว้พิจารณาได้
มีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

Share