คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1362/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยฐานซื้อฝิ่นและฐานมีฝิ่นดิบไว้ในครอบครอง ปรากฏว่าระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มี พระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษยกเลิก พระราชบัญญัติฝิ่น เป็นผลให้การซื้อฝิ่นไม่เป็นความผิดอีกต่อไป แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาในข้อนี้ ศาลฎีกาย่อมแก้ไขให้ถูกต้องโดยพิพากษายกฟ้องข้อหาซื้อฝิ่นนั้นเสีย ส่วนความผิดฐานมีฝิ่นดิบไว้ในความครอบครองนั้น พระราชบัญญัติ ฝิ่นซึ่งใช้อยู่ในขณะที่จำเลยกระทำความผิดเป็นคุณแก่จำเลยเพราะกำหนดโทษเบากว่า พระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 5 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษเป็นการฎีกาการใช้ดุลพินิจของศาลอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันจัดการ ติดต่อจัดหา และแนะนำให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก ซื้อและมีฝิ่นดิบ 36 ห่อ หนัก 33 กิโลกรัมไว้ในความครอบครอง ต่อมาจำเลยที่ 1 ที่2 กับพวกร่วมกันซื้อฝิ่นดิบจำนวนดังกล่าวจากผู้มีชื่อ แล้วจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกร่วมกันมีฝิ่นดิบไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติฝิ่น พุทธศักราช 2472 มาตรา 8,51 ทวิ, 53, 69 พระราชบัญญัติฝิ่น (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2502 มาตรา 4, 5ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 33, 91 ริบฝิ่นดิบและรถยนต์ของกลาง
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 แถลงสู้คดี ศาลชั้นต้นให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยทั้งสี่มาใหม่
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติฝิ่น พุทธศักราช 2472 มาตรา 8, 53, 69 พระราชบัญญัติฝิ่น (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2502 มาตรา 5 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกฐานซื้อฝิ่นจำคุก 10 ปี ฐานมีฝิ่นไว้ในครอบครองจำคุก 10 ปี รวมจำคุก 20 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่มากกรณีมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78จำคุก 10 ปีริบฝิ่นดิบและรถยนต์ของกลาง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ลงโทษเบากว่านี้และรอการลงโทษ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ปรากฏว่าระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528 ยกเลิกพระราชบัญญัติฝิ่น พุทธศักราช 2472 และพระราชบัญญัติฝิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2502 เป็นผลให้การซื้อฝิ่นไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกามาด้วยศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานมีฝิ่นดิบไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเพียงกระทงเดียว ซึ่งตามพระราชบัญญัติฝิ่น พุทธศักราช 2472 และพระราชบัญญัติฝิ่น (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2502 ที่ใช้อยู่ในขณะจำเลยที่ 2 กระทำความผิดกำหนดโทษไว้เบากว่าพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2528 เป็นคุณแก่จำเลยอยู่แล้ว และเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 5 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ เป็นฎีกาการใช้ดุลพินิจของศาล จึงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหาซื้อฝิ่นโดยไม่ได้รับอนุญาตนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์’.

Share