แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การแบ่งปันทรัพย์มรดกซึ่งอาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัดตามมาตรา 1750 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น เป็นกรณีซึ่งข้อเท็จจริงต้องได้ความชัดแจ้งแล้วว่าทายาทได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยต่างได้เข้าครอบครองทรัพย์มรดกตามส่วนแบ่งนั้นอย่างเป็นส่วนสัดชัดเจนว่าทายาทคนใดเข้าครอบครองที่ดินทรัพย์มรดกนั้นในส่วนใด มีอาณาเขตและเนื้อที่ดินเข้าครอบครองแบ่งแยกกันจนชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์กันได้ เมื่อข้อเท็จจริงจากทางนำสืบไม่ได้ความ เช่นนั้นที่ดินพิพาทจึงยังไม่พ้นสภาพจากการเป็นทรัพย์มรดกของ พ. และกรณีต้องถือว่าการที่ ต. และจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่นั้นเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น ๆ ของ พ. ทุกคน กรณีจึงเข้าเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ที่ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ พ. เพราะเข้าสืบสิทธิในมรดกส่วนของ ต. มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามมาตรา 1754 แล้วก็ตาม ดังนั้น คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 6975 ระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกและในฐานะส่วนตัวและให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยทั้งสอง หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสอง ฉบับลงวันที่ 16 ตุลาคม 2546 ในที่ดินโฉนดเลขที่ 6975 ตำบลอำนาจอำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ และให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินของจำเลยที่ 1ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายแพง ที่จดทะเบียนโอนให้แก่ตนเองในฐานะส่วนตัวฉบับลงวันที่ 23 มกราคม 2538 ในที่ดินโฉนดเลขที่ 6975 ตำบลอำนาจ อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความจำนวน 10,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ตกเป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่านางแตงมารดาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกกันโดยต่างเข้าครอบครองที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 ที่ดินพิพาทจึงพ้นสภาพจากการเป็นทรัพย์มรดกของนายแพงผู้ตายแล้วหรือไม่ เห็นว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกซึ่งอาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัดตามมาตรา1750 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น เป็นกรณีซึ่งข้อเท็จจริงต้องได้ความชัดแจ้งแล้วว่าทายาทได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยต่างได้เข้าครอบครองทรัพย์มรดกตามส่วนแบ่งนั้นอย่างเป็นส่วนสัดชัดเจนว่าทายาทคนใดเข้าครอบครองที่ดินทรัพย์มรดกนั้นในส่วนใดมีอาณาเขตและเนื้อที่ดินเข้าครอบครองแบ่งแยกกันจนชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์กันได้ แต่ทางนำสืบของโจทก์ซึ่งจำเลยทั้งสองมิได้นำสืบโต้เถียงเป็นอย่างอื่นได้ความจากคำเบิกความของโจทก์เพียงว่า หลังจากนายแพงเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 และนางแตงมารดาของโจทก์ตกลงแบ่งการครอบครองที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 6975 ตำบลอำนาจ อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ โดยนางแตงมารดาของโจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาททางทิศตะวันตก เนื้อที่ประมาณ 2 งานเศษ ส่วนจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาททางทิศตะวันออก หลังจากนั้นนางแตงมารดาของโจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์โดยปลูกบ้านพักอาศัย และต่อมานางจันทร์เพ็ญกับนายเฉลิมพล ซึ่งเป็นพี่สาวและพี่ชายของโจทก์ได้เข้าไปปลูกบ้านพักในที่ดินพิพาทบริเวณทางทิศใต้สุดของที่ดินพิพาทติดต่อกันตามลำดับในแผนที่สังเขปของที่ดินพิพาท และต่อมาจำเลยที่ 1 ก็ได้ปลูกสร้างบ้านพักอาศัยบนที่ดินพิพาททางทิศตะวันออก โดยมีถนนสาธารณประโยชน์ตัดผ่านแบ่งที่ดินพิพาทออกเป็นสองส่วน แต่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าได้มีการตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทกันโดยให้ถือเอาถนนสาธารณะผ่ากลางที่ดินพิพาทเป็นสองส่วน คือ ส่วนทางทิศตะวันออกและส่วนทางทิศตะวันตกของถนนสาธารณะที่คั่นกลางนั้นเป็นของจำเลยที่ 1 และของมารดาโจทก์ตามที่แต่ละคนปลูกบ้านพักอาศัยอยู่แต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้น จำเลยที่ 1 ยังเบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ยอมรับว่า หลังจากศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายแพงแล้ว จำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินมรดกจำนวน 3 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 1 คงเหลือเฉพาะที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 6975 ทายาทของนางแตงและนายเคนเคยทวงถามให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปแบ่งปันให้แก่ทายาท แต่จำเลยที่ 1 บอกว่าให้รอก่อนจำเลยที่ 1 จึงโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทไว้แทนทายาทคนอื่นด้วย ตามพฤติการณ์แห่งคดีดังที่ได้วินิจฉัยมา จึงถือไม่ได้ว่านางแตงมารดาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกกันโดยต่างเข้าครอบครองที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 แล้ว ที่ดินพิพาทจึงยังไม่พ้นสภาพจากการเป็นทรัพย์มรดกของนายแพงเจ้ามรดก และกรณีต้องถือว่าการที่นางแตงมารดาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่นั้นเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น ๆ ของนายแพงทุกคน กรณีจึงเข้าเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ที่ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของนายแพงเพราะเข้าสืบสิทธิในมรดกส่วนของนางแตงมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามมาตรา 1754 แล้วก็ตาม ดังนั้น คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า การที่นางแตงมารดาของโจทก์และจำเลยที่ 1 แบ่งแยกกันครอบครองที่ดินโดยนางแตงและบุตรของนางแตงปลูกบ้านพักอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทแปลงด้านทิศตะวันตกตามแผนที่สังเขปของที่ดินพิพาทมาจนถึงปัจจุบัน โดยต่างไม่โต้แย้งการครอบครองซึ่งกันและกันถือว่าเป็นการตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกกันโดยต่างเข้าครอบครองที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 ที่ดินพิพาทจึงพ้นสภาพจากการเป็นทรัพย์มรดกของนายแพงผู้ตายแล้วนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทยังเป็นทรัพย์มรดกของนายแพง และจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทไว้แทนทายาทคนอื่น จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายแพงจึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนโอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ โดยไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทโดยสุจริตหรือไม่แต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ