แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม ป.อ. มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) บัญญัติว่า ถ้าปรากฏว่าผู้นั้น (1) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน… ศาลจะรอการลงโทษผู้นั้นไว้ก็ได้ นั้น หมายถึงว่า จำเลยไม่ได้รับโทษจำคุกมาก่อนคดีที่ศาลกำลังจะพิพากษา ซึ่งมาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) มิได้ระบุว่าคดีที่จำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อนนั้น ต้องเป็นการกระทำความผิดมาก่อนคดีเรื่องหลัง เมื่อจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและเป็นโทษในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นโทษจำคุกเกินกว่าหกเดือนและมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตาม ป.อ. มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) ที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 317
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6125/2556 ของศาลจังหวัดภูเก็ต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม), 317 วรรคหนึ่ง (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม จำคุก 7 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแล จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่งฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม คงจำคุก 3 ปี 6 เดือน ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแล คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน รวม 2 กระทง คงจำคุก 4 ปี 12 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า คดีอยู่ในเงื่อนไขที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้หรือไม่ และมีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุก 3 ปี 3 เดือน และปรับ 200,000 บาท ในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6125/2556 ของศาลจังหวัดภูเก็ต และจำเลยพ้นโทษจำคุกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2559 คดีดังกล่าวเกิดเหตุเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2556 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยฎีกาว่า คดีนี้เป็นการกระทำความผิดครั้งแรกของจำเลย จึงถือว่าขณะกระทำความผิดคดีนี้ จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ย่อมอยู่ในเงื่อนไขที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) ที่บัญญัติว่า ถ้าปรากฏว่าผู้นั้น (1) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน…ฯลฯ… ศาลจะรอการลงโทษผู้นั้นไว้ก็ได้นั้น หมายถึงว่า จำเลยไม่ได้รับโทษจำคุกมาก่อนคดีที่ศาลกำลังจะพิพากษา ซึ่งตามมาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) มิได้ระบุว่าคดีที่จำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อนนั้น ต้องเป็นการกระทำความผิดมาก่อนคดีเรื่องหลัง จึงไม่อาจแปลกฎหมายดังที่จำเลยอ้างได้ เมื่อจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและเป็นโทษในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นโทษจำคุกเกินกว่าหกเดือนและมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) ที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ ดังนี้ แม้คดีได้ความตามคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 มารดาของผู้เสียหายที่ 1 ว่า หลังเกิดเหตุแล้วผู้เสียหายที่ 1 ได้ไปอยู่กินกับจำเลยฉันสามีภรรยาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และมีบุตรด้วยกัน 2 คน ต่อมาได้จดทะเบียนสมรสกัน ผู้เสียหายที่ 2 ก็ยินยอมและไม่คัดค้านที่ไปอยู่กินด้วยกัน กับผู้เสียหายที่ 2 ไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไปแล้ว อันเป็นพฤติการณ์ที่สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย แต่เนื่องจากจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาคดีนี้จึงไม่สามารถพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่จะรอการลงโทษให้ดังกล่าว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน