แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ไม่มีกฎหมายใดกำหนดให้สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องจำเลยที่ 4 เป็นจำเลยได้ และไม่จำต้องวินิจฉัยถึงจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นตัวแทนว่าจะต้องรับผิดด้วยหรือไม่
มติที่ประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2557 ของนิติบุคคลอาคารชุด ช. ที่ลงมติถอดถอนโจทก์ที่ 1 ให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการและรักษาการผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด และลงมติถอดถอนโจทก์ที่ 2 ให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด นั้น ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 42/2 (3) ไม่ได้กำหนดให้เจ้าของร่วมต้องลงลายมือชื่อแต่งตั้งตัวแทนในการร้องขอเปิดประชุม แต่บัญญัติให้เจ้าของร่วมไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของคะแนนเสียงเจ้าของร่วมทั้งหมดมีสิทธิจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญเองได้ โดยให้แต่งตั้งตัวแทนคนหนึ่งเพื่อออกหนังสือเรียกประชุมเท่านั้น การประชุมใหญ่วิสามัญครั้งนี้ของนิติบุคคลอาคารชุด ช. จึงเป็นการประชุมที่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนการกำหนดวาระการประชุมเป็นเพียงการกำหนดหัวข้อการประชุมว่ามีเรื่องประชุมอะไรบ้าง และไม่จำเป็นต้องประชุมตามวาระการประชุม เนื่องจากต้องพิจารณาความสำคัญของหัวข้อการประชุมและความเกี่ยวพันกัน ประกอบกับผลการลงคะแนนเสียงได้คะแนนเกินกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมดตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 49 ดังนั้น มติเห็นชอบแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด และมติถอดถอนโจทก์ทั้งสองให้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2557 ของนิติบุคคลอาคารชุดเชียงใหม่ริเวอร์ไซด์ คอนโดมิเนียม ฉบับลงวันที่ 10 สิงหาคม 2557 เพิกถอนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดและกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2557 ให้จำเลยทั้งห้าจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดโดยให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดแทนจำเลยที่ 1 และจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด โดยให้โจทก์ทั้งสองเป็นกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดแทนบริษัทเอ็กเซล ทรานสปอร์ต อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสอง 350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งห้าให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ที่ 1 ทำหน้าที่แทนหรือรักษาการตำแหน่งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดเชียงใหม่ริเวอร์ไซด์ คอนโดมิเนียม แทนนายเดวิท ซึ่งป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล โจทก์ทั้งสองเป็นกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นประธานกรรมการ วันที่ 10 สิงหาคม 2557 มีการประชุมใหญ่วิสามัญ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมอาคารชุดได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานที่ประชุม ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดและลงมติถอดถอนโจทก์ทั้งสองให้พ้นจากการตำแหน่งกรรมการ และลงมติถอดถอนโจทก์ที่ 1 จากการรักษาการผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด ตามรายงานการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี ครั้งที่ 1/2557 ต่อมาวันที่ 19 สิงหาคม 2557 จำเลยที่ 1 นำรายงานการประชุมใหญ่วิสามัญดังกล่าว ยื่นขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดและกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่จดทะเบียนให้ในวันเดียวกัน จากนั้นวันที่ 22 สิงหาคม 2557 โจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องคัดค้านการจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าพนักงานที่ดินฝ่ายทะเบียนแจ้งให้โจทก์ที่ 1 นำคำสั่งศาลมาขอเพิกถอนเท่านั้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการแรกว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 และที่ 5 หรือไม่ โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองได้บรรยายถึงจำเลยที่ 4 และที่ 5 ในตำแหน่งเจ้าพนักงานของกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นนิติบุคคล เป็นการฟ้องกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ซึ่งจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้กระทำการแทน เห็นว่า โจทก์ทั้งสองฟ้อง สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ เป็นจำเลยที่ 4 ไม่มีกฎหมายใดกำหนดให้สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองไม่อาจฟ้องจำเลยที่ 4 เป็นจำเลยได้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยถึงจำเลยที่ 5 ว่าจะต้องรับผิดด้วยหรือไม่ เป็นการชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการต่อมาว่า มติที่ประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2557 ของนิติบุคคลอาคารชุดเชียงใหม่ ริเวอร์ไซด์ คอนโดมิเนียม ที่ลงมติถอดถอนโจทก์ที่ 1 ให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการและรักษาการผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด และลงมติถอดถอนโจทก์ที่ 2 ให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดชอบหรือไม่ โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ไม่มีเจ้าของร่วมไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของคะแนนเสียงเจ้าของร่วมทั้งหมดลงลายมือชื่อ ทำหนังสือร้องขอให้เปิดประชุม ซึ่งไม่ปรากฏลายมือชื่อของเจ้าของร่วมอาคารชุด มีเพียงรายชื่อผู้เป็นเจ้าของร่วมอาคารชุด และไม่มีเจ้าของร่วมอาคารชุดลงลายมือชื่อแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนยื่นคำร้องขอให้เปิดประชุมใหญ่วิสามัญ เห็นว่า โจทก์ที่ 1 เบิกความว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2557 โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้จัดการนิติบุคคล ทำหนังสือถึงจำเลยที่ 2 ว่า หนังสือขอให้เปิดประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วม ไม่มีเจ้าของร่วมอาคารชุดลงลายมือชื่อแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนในการร้องขอให้เปิดประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วม คณะกรรมการนิติบุคคลจึงไม่อาจดำเนินการตามคำร้องขอได้ และเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ถามค้านว่า โจทก์ที่ 1 ได้รับหนังสือขอให้เปิดประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วม แม้หนังสือดังกล่าวระบุว่า มีเอกสารลงลายมือชื่อประกอบ แต่ที่ได้รับไม่มีลายมือชื่อของเจ้าของร่วมในห้องชุดทั้งหมดตามกฎหมายแนบมาด้วย จึงไม่จัดประชุมใหญ่ตามที่ร้องขอ ผู้รับเอกสารคือจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการนิติบุคคล และเมื่อทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้โจทก์ที่ 1 ดูเอกสารอาคารชุด โจทก์ที่ 1 เบิกความว่า เคยเห็นในวันที่ 3 สิงหาคม 2557 ซึ่งมีการประชุมคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด คณะกรรมการร่วมกันตรวจสอบมีเอกสารบางส่วนไม่ถูกต้อง เช่น พาสปอร์ตบางส่วนไม่มีการลงลายมือชื่อรับรอง จึงโทรศัพท์ไปยังห้องชุดที่สามารถดำเนินการได้ ส่วนห้องชุดที่ไม่สามารถดำเนินการได้ จึงตัดออกไป แสดงว่าโจทก์ที่ 1 ได้ตรวจสอบเอกสารซึ่งมีลายมือชื่อเจ้าของร่วมในการขอเปิดประชุมใหญ่แล้ว แต่อ้างว่าเอกสารบางส่วนไม่ถูกต้องเท่านั้น ประกอบกับโจทก์ที่ 2 เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ถามค้านว่า เอกสารเป็นแบบฟอร์มของเจ้าของร่วมขอเปิดประชุมใหญ่วิสามัญ และในวันที่ 3 สิงหาคม 2557 คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดจัดประชุมมีการตรวจสอบหนังสือลงลายมือชื่อของเจ้าของร่วมที่ขอเปิดประชุมใหญ่วิสามัญ ดังนั้น หากไม่มีลายมือชื่อเจ้าของร่วมไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของคะแนนเสียงเจ้าของร่วมทั้งหมดหรือมีเจ้าของร่วมลงลายมือชื่อน้อยกว่าร้อยละยี่สิบของคะแนนเสียงเจ้าของร่วมทั้งหมดย่อมเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญที่ไม่ชอบตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 42/2 (3) แต่โจทก์ที่ 1 กลับให้เหตุผลว่า ไม่มีเจ้าของร่วมอาคารชุดลงลายมือชื่อแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนในการร้องขอให้เปิดประชุมวิสามัญเจ้าของร่วม โดยอ้างว่าไม่สามารถดำเนินการเปิดประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมได้ ซึ่งตามมาตรา 42/2 (3) ไม่ได้กำหนดให้เจ้าของร่วมต้องลงลายมือชื่อแต่งตั้งตัวแทนในการร้องขอเปิดประชุม แต่บัญญัติให้เจ้าของร่วมตามจำนวนดังกล่าวมีสิทธิจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญเองได้ โดยให้แต่งตั้งตัวแทนคนหนึ่งเพื่อออกหนังสือเรียกประชุมเท่านั้น จำเลยที่ 2 เบิกความว่า กลุ่มเจ้าของร่วมและจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกันรวบรวมเอกสารเพื่อยื่นหนังสือร้องขอเปิดประชุมใหญ่วิสามัญ โดยแต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนเจ้าของร่วม ดังนั้น แม้ไม่มีเจ้าของร่วมลงลายมือชื่อแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนในการยื่นเรื่องร้องขอให้เปิดประชุมใหญ่วิสามัญ เนื่องจากเป็นเพียงการดำเนินด้านธุรการ จึงไม่ใช่เงื่อนไขที่เป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญตามที่เจ้าของร่วมร้องขอได้ การประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 1/2557 ของนิติบุคคลอาคารชุดเชียงใหม่ริเวอร์ไซด์ คอนโดมิเนียม จึงเป็นการประชุมที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการสุดท้ายว่า การแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า หนังสือเชิญประชุมจะต้องมีวาระการประชุมกำหนดไว้อย่างชัดเจน และการประชุมจะต้องดำเนินไปตามวาระการประชุมที่ถูกกำหนดไว้ในหนังสือเชิญประชุม โจทก์ที่ 2 เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ว่า หนังสือขอเชิญประชุมมีวาระการประชุมเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ โจทก์ที่ 2 เข้าใจว่าปกติการประชุมเพื่อมีมติเลือกคณะกรรมการชุดใหม่จะต้องมีการถอนคณะกรรมการชุดเก่าทั้งหมด ประกอบกับจำเลยที่ 3 เบิกความว่า การแต่งตั้งผู้จัดการนิติบุคคลนั้นไม่จำเป็นต้องทำการถอดถอนโจทก์ที่ 1 ก่อน เนื่องจากโจทก์ที่ 1 เป็นเพียงกรรมการซึ่งทำหน้าที่รักษาการผู้จัดการเท่านั้น ดังนั้น ในการประชุมจึงสามารถแต่งตั้งผู้จัดการนิติบุคคล ประกอบกับผลการลงคะแนนเสียงได้คะแนนเกินกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมด ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 49 ส่วนการกำหนดวาระการประชุมเป็นเพียงการกำหนดหัวข้อการประชุมว่ามีเรื่องประชุมอะไรบ้าง และไม่จำเป็นต้องประชุมตามวาระการประชุม เนื่องจากต้องพิจารณาความสำคัญของหัวข้อการประชุมและความเกี่ยวพันกัน การแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยตามข้อกล่าวอ้างในฎีกาประการอื่นของโจทก์ทั้งสองอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ