แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 218 ข้อ 50,51,53 และประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 310 เป็นกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารราชการ และกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด ในการบริหารราชการส่วนจังหวัดเท่านั้น ไม่ได้ให้อำนาจแก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะเป็นผู้ดำเนินการแทนหน่วยราชการ ในส่วนกลางที่เป็นผู้เสียหายด้วย ดังนั้นเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัด โจทก์ที่ 2 ไม่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย จึงไม่ถูกโต้แย้งสิทธิ ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 28,208.61 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 24 เมษายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ส่วนฟ้องโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้ยกฟ้อง โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1รับราชการตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี 2 สำนักงานศึกษาธิการอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี อยู่ในสังกัดของโจทก์ที่ 1ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 โดยทำการเบิกเงินค่าเช่าบ้านไปโดยไม่มีสิทธิ ทำให้โจทก์ที่ 1 เสียหายเป็นเงิน 28,208.61 บาทกรณีพิพาทนี้นอกจากโจทก์ที่ 1 จะได้ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในเงินจำนวนดังกล่าว โจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีซึ่งมีจำเลยที่ 1 รับราชการอยู่ได้ร่วมเป็นโจทก์ฟ้องด้วยปัญหาในชั้นฎีกาตามที่โจทก์ทั้งสองฎีกามีเพียงว่าโจทก์ที่ 2มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ที่ 2 จะเป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการฝ่ายบริหารส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัดนนทบุรี และรับผิดชอบงานบริหารราชการจังหวัดและมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติราชการของจำเลยที่ 1ซึ่งรับราชการอยู่ในจังหวัดนนทบุรีและอยู่ในบังคับบัญชารับผิดชอบของโจทก์ที่ 2 แต่เงินค่าเช่าบ้านที่จำเลยที่ 1 เอาไปนั้นมิใช่เป็นเงินงบประมาณของโจทก์ที่ 2 หากแต่เป็นเงินงบประมาณของโจทก์ที่ 1 เมื่อมีการกระทำละเมิดเอาเงินดังกล่าวไปผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงคือโจทก์ที่ 1 หาใช่โจทก์ที่ 2 ไม่ที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าโจทก์ที่ 2 มีอำนาจฟ้องเพราะถูกโต้แย้งสิทธิตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ข้อ 50, 51, 53 และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 310 นั้น เห็นว่า ประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นเป็นกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารราชการ และกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการส่วนจังหวัดเท่านั้น หาได้ให้อำนาจแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะเป็นผู้ดำเนินการแทนหน่วยราชการในส่วนกลางที่เป็นผู้เสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่ โจทก์ที่ 2จึงไม่ถูกโต้แย้งสิทธิ โจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาในส่วนนี้ชอบแล้ว”
พิพากษายืน