แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามฟ้องของโจทก์ตั้งประเด็นให้จำเลยรับผิดใช้เงินในฐานะเป็นลูกจ้างและตัวแทนของโจทก์ ซึ่งมีผลเท่ากับกล่าวว่าจำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน โดยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้ตกลงจ้างทำให้เงินของโจทก์ผู้เป็นนายจ้างขาดหายไปหรือจำเลยผิดสัญญาตัวแทน โดยทำให้โจทก์ซึ่งเป็นตัวการเสียหาย แม้โจทก์จะกล่าวมาในฟ้องไม่ชัดเจนว่า จำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือผิดสัญญาตัวแทน แต่เมื่อโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงมาให้เป็นที่เข้าใจตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรแล้ว ก็ตกเป็นหน้าที่ของศาลที่จะนำตัวบทกฎหมายมาปรับแก่คดีได้ โจทก์หาได้ตั้งประเด็นฟ้องจำเลยว่ากระทำละเมิดต่อโจทก์ฟ้องของโจทก์จึงไม่ใช่เรื่องฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิด
ระเบียบการปฏิบัติงานของโจทก์กำหนดหน้าที่ของผู้จัดการโรงพิมพ์ข้อ 3 มีว่า ‘ผู้จัดการเป็นผู้อำนวยการและรับผิดชอบในกิจการทั่วไป’นอกจากนี้ก็ได้วางระเบียบแบ่งงานไว้เป็นหมวดต่าง ๆ มีหมวดกลางหมวดคลัง และหมวดโรงงาน ซึ่งทุกหมวดจะต้องอยู่ในอำนาจหน้าที่บังคับบัญชาและควบคุมดูแลของผู้จัดการทั้งสิ้น โดยได้บัญญัติไว้ในระเบียบข้อ 45 ว่า ‘ให้ผู้จัดการรักษาการให้เป็นไปตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจออกคำสั่งกำหนดวิธีปฏิบัติงานในโรงพิมพ์การศาสนาเป็นการภายในได้โดยไม่ขัดแย้งต่อระเบียบนี้’ ในเรื่องระเบียบเกี่ยวแก่การเงินก็ได้บัญญัติไว้ในระเบียบข้อ 18 ว่า ‘เงินรายได้ของโรงพิมพ์เมื่อได้รับไว้เกินกว่า 2,000 บาทขึ้นไป ให้นำส่งกองศาสนสมบัติกรมการศาสนา’ และได้บัญญัติวิธีรักษาเงินไว้ในข้อ 21 ว่า ‘เงินของโรงพิมพ์การศาสนาให้เก็บรักษาไว้ในตู้นิรภัยโดยมีผู้จัดการหรือผู้ทำการแทนผู้จัดการ หัวหน้าหมวดคลัง และหัวหน้าหมวดโรงงานเป็นคณะกรรมการรักษากุญแจตู้นิรภัยร่วมกัน เมื่องบบัญชีเงินสดประจำวันให้มีการตรวจนับตัวเงินเมื่อตรวจนับถูกต้องตามบัญชีเงินสดแล้ว ให้นำเก็บไว้ในตู้นิรภัย แล้วตีตราประตูห้องเก็บตู้นิรภัยไว้ด้วย ฯลฯ’ดังนี้ จะเห็นได้ว่าโจทก์ได้กำหนดหน้าที่ของผู้จัดการไว้ให้มีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมดูแลเกี่ยวกับการเงินของโจทก์โดยใกล้ชิดด้วย เช่นต้องมีการตรวจบัญชีเงินสดและนับตัวเงินสดทุกวัน เป็นต้น ดังนั้นการที่ พ. สมุหบัญชีรับเงินเป็นตัวเงินสดไว้ถึง124,552 บาทแล้วไม่นำส่งโจทก์ได้นั้น ย่อมแสดงว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่โจทก์จ้าง กล่าวคือไม่ควบคุมตรวจบัญชีเงินสดเป็นการกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามจำนวนเงินของโจทก์ที่ขาดหายไปได้
กรณีที่โจทก์ฟ้องเป็นเรื่องเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่ลูกหนี้ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ ซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 215 ซึ่งเป็นบทบัญญัติของลักษณะหนี้ หาใช่เป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของโจทก์จากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้จ้างจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการโรงพิมพ์และจ้างนายพาเป็นสมุหบัญชีแผนกโรงพิมพ์ มีหน้าที่รับเงิน จ่ายเงิน เก็บรักษาเงินและนำเงินส่งโจทก์ภายใต้การควบคุมของจำเลยที่ 1 ครั้นเมื่อปลาย พ.ศ. 2502 ได้มีการตรวจสอบบัญชีเงินของโรงพิมพ์ ปรากฏว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 ถึง พ.ศ.2502 ได้มีผู้ว่าจ้างโรงพิมพ์ 6 รายได้ชำระค่าจ้างรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 124,552 บาท แก่นายพาและจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และนายพาได้ร่วมกันรับไว้แล้วไม่นำส่งโจทก์ ทำให้เงินขาดบัญชี ซึ่งตามกฎหมายบุคคลทั้งสองในฐานะเป็นลูกจ้างและตัวแทนโจทก์จะต้องส่งมอบเงินนี้แก่โจทก์ แต่ขณะนี้นายพาได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภรรยาและรับมรดกนายพาจะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้เงินให้โจทก์ จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธความรับผิดว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบในทางการเงิน จำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมรับเงินกับนายพาดังโจทก์กล่าวหาความจริงเงินตามจำนวนที่โจทก์ฟ้อง นายพาเป็นผู้รับไว้และได้ยักยอกเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย จำเลยที่ 1 ให้การตัดฟ้องของโจทก์ว่า คดีนี้เป็นกรณีเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดไม่ใช่กรณีเรียกร้องให้ตัวแทนรับผิดเพราะความเสียหายเกิดขึ้นแก่ตัวการอันเนื่องจากความประมาทเลินเล่อของตัวแทน โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 1 เมื่อพ้น 1 ปีนับแต่โจทก์ทราบถึงการกระทำละเมิด คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองในคดีนี้ร่วมกันใช้เงิน 124,552 บาทให้แก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ย
นายทรงวุฒิจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามฟ้องของโจทก์ได้ตั้งประเด็นให้นายทรงวุฒิจำเลยรับผิดใช้เงินจำนวนนี้ในฐานะเป็นลูกจ้างและตัวแทนของโจทก์ ซึ่งมีผลเท่ากับกล่าวหาว่านายทรงวุฒิจำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน โดยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้ตกลงจ้าง ทำให้เงินของโจทก์ผู้เป็นนายจ้างขาดหายไป หรือนายทรงวุฒิจำเลยผิดสัญญาตัวแทน โดยทำให้โจทก์ซึ่งเป็นตัวการเสียหาย แม้โจทก์จะกล่าวมาในฟ้องไม่ชัดเจนว่า จำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือผิดสัญญาตัวแทน แต่เมื่อโจทก์ก็บรรยายข้อเท็จจริงมาให้เป็นที่เข้าใจตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรแล้ว ก็ตกเป็นหน้าที่ของศาลที่จะนำตัวบทกฎหมายมาปรับแก่คดีได้คดีนี้ โจทก์หาได้ตั้งประเด็นฟ้องนายทรงวุฒิจำเลยว่ากระทำละเมิดต่อโจทก์ไม่ ดังนั้นข้อที่นายทรงวุฒิจำเลยฎีกาขึ้นมาว่าฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิด คดีของโจทก์ขาดอายุความ 1 ปีแล้ว จึงตกไป
ปัญหาอันดับต่อไปจึงมีว่า นายทรงวุฒิจำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ ปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า นายทรงวุฒิจำเลยก็ยอมรับอยู่ว่าโจทก์ได้จ้างนายทรงวุฒิจำเลยเป็นผู้จัดการโรงพิมพ์ของโจทก์ทำหน้าที่ดำเนินกิจการแผนกโรงพิมพ์และบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่คนงานแผนกนี้ตามระเบียบข้อบังคับของกรมการศาสนา หากแต่เถียงว่านายทรงวุฒิ จำเลยไม่มีหน้าที่รับผิดชอบในทางการเงิน เพราะโจทก์ได้จ้างนายพาเป็นสมุหบัญชีทำหน้าที่เกี่ยวกับการเงินอยู่แล้ว ศาลฎีกาได้พิเคราะห์ระเบียบกรมการศาสนาว่าด้วยการปฏิบัติงานของโรงพิมพ์การศาสนา พ.ศ. 2510 เห็นว่าระเบียบการปฏิบัติงานข้อ 3 มีว่า”ผู้จัดการเป็นผู้อำนวยการและรับผิดชอบในกิจการทั่วไป”นอกจากนี้ก็ได้วางระเบียบแบ่งงานไว้เป็นหมวดต่าง ๆ มีหมวดกลาง หมวดคลังและหมวดโรงงาน ซึ่งทุกหมวดจะต้องอยู่ในอำนาจหน้าที่บังคับบัญชีและควบคุมดูแลของผู้จัดการทั้งสิ้น โดยได้บัญญัติไว้ในระเบียบข้อ 45 ว่า “ให้ผู้จัดการรักษาการให้เป็นไปตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจออกคำสั่งกำหนดวิธีปฏิบัติงานในโรงพิมพ์การศาสนา เป็นการภายในได้โดยไม่ขัดแย้งต่อระเบียบนี้” ในเรื่องระเบียบเกี่ยวแก่การเงินก็ได้บัญญัติไว้ในระเบียบข้อ 18 ว่า “เงินรายได้ของโรงพิมพ์ เมื่อได้รับไว้เกินกว่า 2,000 บาทขึ้นไป ให้นำส่งกองศาสนาสมบัติ กรมการศาสนา” และได้บัญญัติวิธีรักษาเงินไว้ในข้อ 21 ว่า “เงินของโรงพิมพ์การศาสนาให้เก็บรักษาไว้ในตู้นิรภัย โดยมีผู้จัดการหรือผู้ทำการแทนผู้จัดการหัวหน้าหมวดคลัง และหัวหน้าหมวดโรงงานเป็นคณะกรรมการรักษากุญแจตู้นิรภัยร่วมกัน เมื่องบบัญชีเงินสดประจำวัน ให้มีการตรวจนับตัวเงิน เมื่อตรวจนับถูกต้องตามบัญชีเงินสดแล้ว ให้นำเก็บไว้ในตู้นิรภัย แล้วตีตราประตูห้องเก็บตู้นิรภัยไว้ด้วย ฯลฯ” ดังนี้ จะเห็นได้ว่าโจทก์ได้กำหนดหน้าที่ของผู้จัดการไว้ให้มีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมดูแลเกี่ยวกับการเงินของโจทก์โดยใกล้ชิดด้วย เช่นต้องมีการตรวจบัญชีเงินสดและนับตัวเงินสดทุกวัน เป็นต้น ดังนั้น การที่นายพารับเงินเป็นตัวเงินสดไว้ถึง 124,552 บาทแล้วไม่นำส่งโจทก์ได้นั้น ย่อมแสดงว่านายทรงวุฒิจำเลยละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่โจทก์จ้างกล่าวคือ ไม่ควบคุมตรวจบัญชีเงินสดนับตัวเงินสดและนำเงินส่งโจทก์เมื่อรับเงินไว้เกินกว่า 2,000 บาท เป็นการกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์จึงย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามจำนวนเงินของโจทก์ที่ขาดหายไปได้
กรณีที่โจทก์ฟ้องนี้เป็นเรื่องฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่ลูกหนี้ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ ซึ่งโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 215 ซึ่งเป็นบทบัญญัติของลักษณะหนี้หาใช่เป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของโจทก์จากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ไม่
พิพากษายืน