คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 927/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เอาประกันภัยไว้กับจำเลย ข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันภัยมีว่าผู้เอาประกันภัยต้องแจ้งให้จำเลยทราบถึงการประกันซึ่งได้มีไว้แล้ว หรือซึ่งจะมีขึ้นภายหลังในทรัพย์สินซึ่งเอาประกันรายนี้ และเว้นไว้แต่จะได้มีการแจ้งดังกล่าว และจำเลยหรือผู้แทนได้บันทึกหรือสลักหลังไว้ซึ่งรายการเอาประกันนั้นไว้ในกรมธรรม์ฉบับนี้ก่อนเกิดความพินาศหรือความเสียหาย มิฉะนั้นผลประโยชน์ซึ่งจะได้รับตามกรมธรรม์ฉบับนี้เป็นอันล้มล้างไป ดังนี้ เมื่อโจทก์นำเอาทรัพย์สินที่เอาประกันไว้กับจำเลยนั้นไปเอาประกันภัยไว้กับผู้อื่นเพิ่มขึ้นอีก และแจ้งให้จำเลยทราบเท่านั้น แต่ไม่ได้ไปติดต่อกับจำเลยเพื่อสลักหลังกรมธรรม์ซึ่งรายการประกันภัยเพิ่ม การไม่ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามเงื่อนไขทั้ง 2 ประการในกรมธรรม์ ย่อมมีผลทำให้จำเลยหลุดพ้นความรับผิดตามที่ได้ตกลงกันไว้หาจำต้องให้จำเลยบอกเลิกสัญญากับโจทก์เสียก่อนไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องเป็นใจความว่า โจทก์ได้เอาทรัพย์สินของโจทก์ประกันภัยไว้กับจำเลยกำหนดกรณีวินาศภัย เพลิงไหม้หรือฟ้าผ่า จำเลยจะต้องใช้ราคาทรัพย์สินตามจำนวนเงินที่เอาประกันภัยไว้เป็นราย ๆ ไป ต่อมาในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย ได้เกิดเพลิงไหม้โรงสี เครื่องอุปกรณ์และวัสดุที่โจทก์เอาประกันภัยไว้ โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทราบเพื่อให้รับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยแล้วจำเลยสำนวนที่ ๑ เฉยเสีย จำเลยนอกนั้นปฏิเสธความรับผิด ขอให้บังคับให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนที่เอาประกันภัยไว้ พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทุกสำนวนให้การต่อสู้คดี คำให้การที่เป็นปัญหาข้อกฎหมายมาสู่ศาลฎีกาในครั้งนี้ คือ บริษัทไทยพาณิชย์ประกันภัย จำกัด และบริษัทเฉลิมนครประกันภัย จำกัด จำเลยให้การว่า ตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาประกันภัยในระหว่างอายุสัญญาได้ และโจทก์จะเอาทรัพย์สินที่ประกันภัยไว้ไปประกันภัยกับบุคคลอื่น จะต้องแจ้งให้จำเลยทราบก่อน และจำเลยได้บันทึกหรือสลักหลังกรมธรรม์ไว้ มิฉะนั้นจำเลยพ้นความผูกพันตามสัญญาประกันภัยในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย โจทก์ได้แจ้งว่าจะเอาทรัพย์สินที่จำเลยรับประกันไว้ไปประกันแก่บริษัทอื่นอีก ๑๑ บริษัท เมื่อจำเลยทราบ ก็ได้ติดต่อกับผู้รับประโยชน์ ไม่ยอมรับประกันต่อไป ขอถอนเสีย และต่อมาก็ได้มีหนังสือแจ้งไปให้ผู้รับประโยชน์ทราบอีกชั้นหนึ่งที่โจทก์เอาประกันภัยแก่บริษัทอื่นนั้น ไม่ได้มีการบันทึกหรือสลักหลังกรมธรรม์ประกันภัยตามเงื่อนไข ทั้งเมื่อแจ้งมานั้น โจทก์ได้เอาประกันภัยแก่บริษัทอื่นไปแล้วเมื่อเป็นเช่นนี้ จำเลยย่อมหลุดพ้นจากความผูกพันตามสัญญาประกันภัย
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ยังไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องบังคับจำเลยไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่น พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย (ฎีกาที่ ๖๑๖-๖๒๙/๒๕๐๙ย่อข้อกฎหมายไว้แล้ว) แล้วพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงและพิพากษาใหม่โดยเห็นว่า ยังมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยอีก ๔ ข้อ และข้อ ๔ มีประเด็นว่าบริษัทเฉลิมนครประกันภัย จำกัด และบริษัทไทยพาณิชย์ประกันภัยจำกัด จำเลยได้บอกเลิกสัญญากับโจทก์แล้ว หรือว่ายังต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยอยู่
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทุกสำนวนชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นจำนวนต่าง ๆ กัน
จำเลยสำนวนที่ ๑ ไม่อุทธรณ์ โจทก์กับจำเลยสำนวนอื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ โดยเฉพาะคดีที่บริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด บริษัทเฉลิมนครประกันภัย จำกัด และบริษัทไทยพาณิชย์ประกันภัย จำกัด เป็นจำเลย ศาลอุทธรณ์แก้เป็นให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา และจำเลยเพียง ๑๐ สำนวนก็ฎีกา
ประเด็นข้อ ๔ เป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าบริษัทเฉลิมนครประกันภัยจำกัด และบริษัทไทยพาณิชย์ประกันภัย จำกัด จำเลย ได้บอกเลิกสัญญากับโจทก์แล้ว หรือว่ายังต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยอยู่ ศาลฎีกาฟังว่าโจทก์ได้เอาโรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง มีอาคารตัวโรงสีที่ทำการบริษัท และบ้านพักคนงาน กับเครื่องจักร ประกันภัยไว้กับบริษัทเฉลิมนครประกันภัยจำกัด และบริษัทไทยพาณิชย์ประกันภัย จำกัด มีกำหนด ๑ ปี นับแต่๑๖ มีนาคม ๒๔๙๙ ถึง ๑๖ มีนาคม ๒๕๐๐ กำหนดให้ธนาคารอุตสาหกรรมโจทก์ร่วมเป็นผู้รับประโยชน์ ต่อมาวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๐๐ โจทก์ได้นำโรงสีและเครื่องจักรดังกล่าวไปทำสัญญาประกันภัยเพิ่มกับบริษัทประกันภัยอื่นอีก ๘ บริษัท และในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ โจทก์ได้นำเอาโรงสีและเครื่องจักรนั้นไปประกันภัยเพิ่มกับบริษัทอื่นอีก ๒ บริษัทนอกจากโรงสีและเครื่องจักรแล้ว โจทก์ได้เอาข้าวเปลือก ข้าวสารและรำไปประกันภัยไว้กับบริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด ด้วยโจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ แจ้งให้บริษัทเฉลิมนครประกันภัย จำกัด จำเลย และบริษัทไทยพาณิชย์ประกันภัยจำกัด จำเลยทราบเรื่องที่โจทก์เอาประกันภัยเพิ่มแก่บริษัท ๑๑ บริษัทดังกล่าวนั้น แต่โจทก์ไม่ได้ไปติดต่อกับบริษัทเฉลิมนครฯ จำเลย และบริษัทไทยพาณิชย์ฯ จำเลย เพื่อสลักหลังกรมธรรม์สำหรับการประกันเพิ่ม เนื่องจากข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันภัยข้อ ๒ ของบริษัทเฉลิมนครฯ และบริษัทไทยพาณิชย์ฯ ซึ่งโจทก์เอาประกันภัย มีข้อความตามคำแปลว่า “ผู้เอาประกันภัยต้องแจ้งให้บริษัททราบถึงการประกันซึ่งได้มีไว้แล้วหรือซึ่งจะมีขึ้นภายหลัง ในทรัพย์สินซึ่งเอาประกันรายนี้และเว้นไว้แต่จะได้มีการแจ้งดังกล่าว และบริษัทหรือผู้แทนได้บันทึกหรือสลักหลังไว้ซึ่งรายการเอาประกันนั้นไว้ในกรมธรรม์ฉบับนี้ ก่อนเกิดความพินาศหรือความเสียหาย (มิฉะนั้น) ผลประโยชน์ซึ่งจะได้รับตามกรมธรรม์ฉบับนี้เป็นอันล้มล้างไป” ศาลฎีกาเห็นว่าเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยข้อ ๒ คู่สัญญาตกลงกันไว้ชัดแจ้งแล้ว การที่โจทก์จะนำเอาโรงสีและเครื่องจักรไปประกันภัยเพิ่ม จะต้องแจ้งให้บริษัทจำเลยทั้งสองนี้ทราบประการหนึ่งกับจะต้องให้บริษัทจำเลยหรือผู้แทนบันทึกหรือสลักหลังซึ่งรายการที่เอาประกันภัยเพิ่มไว้ในกรมธรรม์ด้วยอีกประการหนึ่งการไม่ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามเงื่อนไขทั้ง ๒ ประการในกรมธรรม์ข้อนี้ย่อมมีผลทำให้บริษัทจำเลยทั้งสองหลุดพ้นความรับผิดตามที่ได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้า หาจำต้องให้บริษัทจำเลยบอกเลิกสัญญากับโจทก์ผู้เอาประกันภัยเสียก่อนไม่ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่าบริษัทเฉลิมนครประกันภัย จำกัด จำเลย และบริษัทไทยพาณิชย์ประกันภัย จำกัด จำเลยไม่ต้องรับผิด เพราะบริษัททั้งสองยังไม่ได้บันทึกหรือสลักหลังซึ่งรายการเอาประกันเพิ่มไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้
พิพากษายืน

Share