แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้ศาลจะสั่งให้ริบรถยนต์กระบะของกลางสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2584 มาตรา 29 ทวิ ไม่ได้ เพราะไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้โดยตรงแต่ก็ไม่มีบทบัญญัติใดที่แสดงให้เห็นว่าไม่ต้องการให้นำบทบัญญัติในภาค 1 แห่ง ป.อ. มาใช้บังคับ ทั้งตาม ป.อ. มาตรา 33 ก็ได้บัญญัติให้ศาลมีอำนาจริบทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดได้ นอกเหนือจากอำนาจริบตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ดังนั้น เมื่อรถยนต์กระบะของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 กับพวกได้ใช้ในการกระทำความผิด ศาลก็มีอำนาจริบรถยนต์กระบะของกลางได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) การที่จำเลยที่ 1 กับพวกใช้รถยนต์กระบะของกลางเป็นพาหนะใช้ในการขนกล้วยไม้ป่าจำนวน 320 ต้น น้ำหนัก 31 กิโลกรัม ซึ่งเป็นของป่าหวงห้ามที่มีไว้ในครอบครองเพื่อการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 กับพวก นอกจากเป็นเหตุทำให้กล้วยไม้ป่าอาจสูญพันธุ์ไปจากป่าของประเทศไทยแล้ว ยังมีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพต่างๆ ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ จึงสมควรริบรถยนต์กระบะของกลาง
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2553)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เนื่องด้วยมีพระราชกฤษฎีกากำหนดของป่าหวงห้าม พ.ศ.2530 กำหนดให้กล้วยไม้ป่าเป็นของป่าหวงห้ามตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกา ลำดับที่ 1 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2548 จำเลยทั้งสามมีกล้วยไม้ป่าซึ่งเป็นของป่าหวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสามได้พร้อมด้วยกล้วยไม้ดังกล่าวและรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บต 4782 เชียงราย ซึ่งเป็นพาหนะที่จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ในการขนกล้วยไม้เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 29 ทวิ, 71 ทวิ, 74 จัตวา และริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 29 ทวิ, 71 ทวิ, 74, 74 จัตวา (ที่ถูก ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ด้วย) ให้ปรับคนละ 4,000 บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงปรับคนละ 2,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ศาลมีอำนาจริบรถยนต์กระบะของกลางหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กับพวกกระทำความผิดฐานร่วมมีกล้วยไม้ป่า จำนวน 320 ต้น น้ำหนัก 31 กิโลกรัม ซึ่งเป็นของป่าหวงห้ามไว้ในครอบครองเพื่อการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสามได้พร้อมกล้วยไม้ดังกล่าวและรถยนต์กระบะซึ่งเป็นพาหนะที่จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ในการขนกล้วยไม้เป็นของกลาง และมีคำขอให้ริบของกลาง แม้ศาลจะสั่งให้ริบรถยนต์กระบะของกลางสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 29 ทวิ ไม่ได้ เพราะไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้โดยตรงแต่ก็ไม่มีบทบัญญัติใดที่แสดงให้เห็นว่าไม่ต้องการให้นำบทบัญญัติในภาค 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ ทั้งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ก็ได้บัญญัติให้ศาลมีอำนาจริบทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดได้นอกเหนือจากอำนาจริบตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ดังนั้น เมื่อรถยนต์กระบะของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 กับพวกได้ใช้ในการกระทำความผิด ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่จึงเห็นว่าศาลมีอำนาจริบรถยนต์กระบะของกลางได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) การที่จำเลยที่ 1 กับพวกใช้รถยนต์กระบะของกลางเป็นพาหนะใช้ในการขนกล้วยไม้ป่า จำนวน 320 ต้น น้ำหนัก 31 กิโลกรัม ซึ่งเป็นของป่าหวงห้ามที่มีไว้ในครอบครองเพื่อการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 กับพวก นอกจากเป็นเหตุทำให้กล้วยไม้ป่าอาจสูญพันธุ์ไปจากป่าของประเทศไทยแล้ว ยังมีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพต่างๆ ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ จึงสมควรริบรถยนต์กระบะของกลาง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้ริบรถยนต์กระบะของกลางนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน