แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้าพนักงานย่อมหมายถึงบุคคลผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย กล่าวคือในการแต่งตั้งนั้นมีกฎหมายระบุถึงวิธีการแต่งตั้งไว้ และได้มีการแต่งตั้งถูกต้องตามกฎหมายที่ระบุไว้นั้น จำเลยที่ 1เป็นกำนัน จำเลยที่ 2 เป็นแพทย์ประจำตำบล จำเลยที่ 3 เป็นผู้ใหญ่บ้านโดยได้รับการแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ฯ จำเลยทั้งสามจึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน เมื่อจำเลยทั้งสามเป็นกรรมการสภาตำบลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารของตำบล และมีระเบียบของสำนักนายกว่าด้วยการปฏิบัติตามโครงการพัฒนาท้องถิ่นและช่วยประชาชนในชนบทในฤดูแล้ง พ.ศ. 2518 กำหนดให้กำนันแพทย์ประจำตำบล และผู้ใหญ่บ้าน เป็นคณะกรรมการดำเนินการตามโครงการพัฒนาท้องถิ่นและช่วยประชาชนในชนบทฯ เรียกโดยย่อว่าปชลต. ซึ่งระเบียบดังกล่าวนั้นเป็นระเบียบที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมายการที่จำเลยทั้งสามดำเนินการในฐานะเป็นคณะกรรมการ ปชลต.ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการของเจ้าพนักงานผู้มีตำแหน่งหน้าที่ราชการนั้น อันอาจเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการได้
จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นกรรมการสภาตำบลผู้ทรงคุณวุฒิตาม ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 326 หาใช่ข้าราชการหรือได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายอย่างใดไม่ แม้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการดังกล่าวด้วยแต่ระเบียบว่าด้วยการปฏิบัติตามโครงการพัฒนาท้องถิ่นฯ มิใช่กฎหมาย เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย และไม่มีกฎหมายใด บัญญัติไว้ว่าให้เป็นเจ้าพนักงาน ถึงแม้ว่าจำเลยทั้งสองจะได้รับมอบหมาย ให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการก็หาใช่เจ้าพนักงานไม่
ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการนั้น ถึงบุคคลธรรมดากระทำ โดยลำพังจะไม่เป็นความผิด แต่เมื่อร่วมกับเจ้าพนักงานก็อาจเป็น ผู้สนับสนุนได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นกำนัน จำเลยที่ 2 เป็นแพทย์ประจำตำบลจำเลยที่ 3 เป็นผู้ใหญ่บ้าน จำเลยทั้งสามมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นสมาชิกสภาตำบล จำเลยทั้งห้าได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการดำเนินการตามโครงการพัฒนาท้องถิ่นและช่วยประชาชนในชนบทให้มีงานทำในฤดูแล้ง ซึ่งเรียกโดยย่อว่า คณะกรรมการ ป ช ล ต.จำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำการทุจริต โดยร่วมกันลงชื่อในใบตรวจรับงานใบสั่งซื้อและหลักฐานอื่น ๆ เพื่อเบิกเงินรวมทั้งรายงานการตรวจสอบและติดตามผลงานตามโครงการดังกล่าวอันเป็นเท็จว่าได้ดำเนินการตามโครงการเสร็จเรียบร้อยแล้วทุกโครงการ แล้วร่วมกันเบิกเงินไปเต็มตามโครงการตลอดมา การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการเบียดบังทรัพย์เป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ จ่ายทรัพย์เกินกว่าที่ควรจ่ายเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองและผู้อื่นเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ รับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้กระทำการอย่างใดขึ้นและการกระทำอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นเท็จ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147,151, 157, 162, 83, 86 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 162(1)(4), 83
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฐานะของจำเลยทั้งห้าเป็นเพียงบุคคลธรรมดาเท่านั้น หาใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมายไม่ จึงย่อมกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต และปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตไม่ได้ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เจ้าพนักงานย่อมหมายถึงบุคคลผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย กล่าวคือ ในการแต่งตั้งนั้นมีกฎหมายระบุถึงวิธีการแต่งตั้งไว้ และได้มีการแต่งตั้งถูกต้องตามกฎหมายที่ระบุไว้นั้นซึ่งอาจเป็นกฎหมายเฉพาะหรือกฎหมายทั่วไปก็ได้ จำเลยที่ 1 เป็นกำนันจำเลยที่ 2 เป็นแพทย์ประจำตำบล จำเลยที่ 3 เป็นผู้ใหญ่บ้านโดยได้รับการแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 อันเป็นกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคแม้พระราชบัญญัติดังกล่าวจะมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าให้เป็นเจ้าพนักงาน จำเลยทั้งสามก็มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน เพราะได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการให้ปฏิบัติราชการ นอกจากนี้ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 326 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 อันเป็นกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารของตำบล ยังกำหนดให้กำนันเป็นประธานกรรมการสภาตำบล ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านในตำบลและแพทย์ประจำตำบลเป็นกรรมการสภาตำบลโดยตำแหน่ง ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว กำหนดหน้าที่สภาตำบลไว้หลายประการ อาทิ เช่นให้มีหน้าที่บริหารงานของสภาตำบล พิจารณาให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการพัฒนาตำบล และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ทางราชการมอบหมายเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาท้องถิ่นและช่วยประชาชนในชนบทให้มีงานทำในฤดูแล้ง นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจึงได้วางระเบียบการปฏิบัติตามโครงการพัฒนาท้องถิ่นและช่วยประชาชนในชนบทให้มีงานทำในฤดูแล้ง พ.ศ. 2518 ขึ้น โดยกำหนดให้สภาตำบลแต่ละแห่งจัดทำโครงการพัฒนาตำบลในท้องที่ของตนโครงการหนึ่งหรือหลายโครงการ ต่อคณะอนุกรรมการ ป ช ล. ประจำเขตเพื่อพิจารณาอนุมัติ เมื่อโครงการใดได้รับอนุมัติ ก็ให้แจ้งกรมบัญชีกลางจัดสรรเงินอุดหนุนโครงการส่งไปยังจังหวัดทันที และการดำเนินการตามโครงการและการเบิกจ่ายเงิน ให้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตามโครงการพัฒนาท้องถิ่นและช่วยประชาชนในชนบทให้มีงานทำในฤดูแล้งประจำตำบลเรียกโดยย่อว่า “คณะกรรมการ ป ช ล ต.” อันประกอบด้วยกำนัน แพทย์ประจำตำบล ผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งซึ่งสภาแต่งตั้ง และราษฎรผู้ทรงคุณวุฒิสองคนซึ่งเป็นสมาชิกสภาตำบล หรือเป็นคณะกรรมการสภาตำบลซึ่งสภาตำบลแต่งตั้งจำเลยทั้งสามในฐานะประธานกรรมการและกรรมการสภาตำบลได้เป็นผู้ร่วมจัดทำโครงการพัฒนาตำบลรวม16 โครงการซึ่งได้รับอนุมัติ และร่วมเป็นกรรมการ ป ช ล ต. เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามโครงการที่ได้รับอนุมัตินั้น แม้ระเบียบของนายกรัฐมนตรีดังกล่าวจะมิใช่กฎหมาย แต่เงินที่จัดสรรตามโครงการพัฒนาท้องถิ่นและช่วยประชาชนในชนบทให้มีงานทำในฤดูแล้งก็เป็นเงินของแผ่นดินซึ่งจ่ายไปตามนโยบายของรัฐบาล และตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 ข้อ 9 นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อปฏิบัติราชการใด ๆ และมีอำนาจดำเนินการอื่น ๆ ในการปฏิบัติตามนโยบาย ดังนั้น ระเบียบของนายกรัฐมนตรีที่วางไว้ดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย การที่จำเลยทั้งสามดำเนินการในฐานะที่เป็นกรรมการ ป ช ล ต. ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการของเจ้าพนักงานผู้มีตำแหน่งหน้าที่ราชการนั้น อันอาจเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการได้ดังโจทก์ฟ้อง
ส่วนจำเลยที่ 4 ที่ 5 นั้น ตามฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายว่าเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยทั้งสองเป็นเพียงกรรมการสภาตำบลผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งราษฎรในหมู่บ้านเป็นผู้เลือกตามความในประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 326 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 7 จำเลยทั้งสองหาใช่ข้าราชการหรือได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายแต่อย่างใดไม่แม้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจะได้วางระเบียบว่าด้วยการปฏิบัติตามโครงการพัฒนาท้องถิ่นและช่วยประชาชนในชนบทให้มีงานทำในฤดูแล้ง พ.ศ. 2518 กำหนดให้สภาตำบลแต่งตั้งให้จำเลยทั้งสองร่วมเป็นคณะกรรมการป ช ล ต. ระเบียบดังกล่าวก็มิใช่กฎหมาย เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย และไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าให้เป็นเจ้าพนักงาน ถึงแม้จำเลยทั้งสองจะได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ก็หาใช่เจ้าพนักงานไม่ แต่ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการนั้น ถึงหากบุคคลธรรมดากระทำโดยลำพังจะไม่เป็นความผิดแต่เมื่อร่วมกับเจ้าพนักงานก็อาจเป็นผู้สนับสนุนได้ จะด่วนยกฟ้องเพราะเหตุมิใช่เจ้าพนักงานหาได้ไม่
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี