แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522มาตรา 54 ที่บัญญัติให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานไปยังศาลฎีกานั้น มุ่งหมายให้ใช้เฉพาะแก่คดีแรงงานเท่านั้น คดีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมิใช่คดีแรงงาน แม้คำสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาฐานละเมิดอำนาจศาลจะเป็นคำสั่งของศาลแรงงานกลาง ผู้ถูกกล่าวหาก็ต้องอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์
ย่อยาว
มูลกรณีแห่งคดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลแรงงานกลางได้รับรายงานจากนิติกรของศาลว่า ม. และ ส. ซึ่งมาติดต่อกับนิติกร เพื่อฟ้องคดีได้ชี้แจงต่อนิติกรว่า ได้จ่ายเงินให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาโดยผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่า จะนำไปเสียค่าฟ้องที่ศาลแรงงานกลาง
ศาลแรงงานกลางไต่สวนแล้ววินิจฉัยว่า การฟ้องคดีที่ศาลแรงงานกลางไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมใด ๆ ผู้ถูกกล่าวหาใช้อุบายหลอกลวงเรียกเงินจากม. และ ส. อ้างว่าเพื่อเสียค่าฟ้องที่ศาลแรงงานกลาง และได้พา ส. มาที่ศาลแรงงานกลางชี้ที่โต๊ะของนิติกรของศาลว่าเป็นที่เสียเงินค่าฟ้อง การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมีคำสั่งให้ลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหาฐานกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไว้มีกำหนด 1 เดือน
ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาไม่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ที่บัญญัติให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานไปยังศาลฎีกานั้น มุ่งหมายให้ใช้เฉพาะแก่คดีแรงงานเท่านั้นคดีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล มิใช่คดีแรงงาน แม้คำสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาฐานละเมิดอำนาจศาลจะเป็นคำสั่งของศาลแรงงานกลาง ผู้ถูกกล่าวหาก็ต้องอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ประกอบด้วยมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522
พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหา หากยังติดใจคัดค้านคำสั่งศาลแรงงานกลาง ก็ให้ยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษาศาลฎีกานี้เป็นต้นไป