แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ความแตกต่างระหว่างความผิดฐานชิงทรัพย์กับความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ตามบทบัญญัติของกฎหมายมิได้อยู่ที่จำนวนทรัพย์สินที่ผู้กระทำผิดได้ไปว่าจะเป็นทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน เพราะไม่ว่าคนร้ายจะได้ทรัพย์สินไปเพียงใด การกระทำความผิดก็เกิดขึ้นแล้วเช่นกัน แต่ข้อสาระสำคัญอยู่ที่ว่าความผิดฐานชิงทรัพย์ต้องมีฐานเดิมจากความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 โดยคนร้ายใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าของหรือมีครอบครองทรัพย์นั้น หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้นตามความใน ป.อ. มาตรา 339 (2) โดยการลักทรัพย์กับการใช้กำลังประทุษร้ายต้องไม่ขาดตอน หรือเป็นการลักทรัพย์ที่ต้องขู่เข็ญให้ปรากฏว่าในทันทีทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายต่อเนื่องกันไป เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่า ถูกจำเลยตบหน้าทันทีที่เปิดประตูห้องเมื่อ ช. ตามเข้าไปปิดประตูห้อง จำเลยก็ล้วงมีดพับออกมาจี้ที่แก้มผู้เสียหายขู่ขอเงินไปซื้อสุรา พฤติการณ์ของจำเลยเช่นนั้นบ่งชี้ไปในทำนองว่าหากผู้เสียหายขัดขืนไม่ให้เงินก็จะถูกประทุษร้ายต่อเนื่องไปในทันใดนั้น แสดงให้เห็นว่ามุ่งหมายมาทำร้ายและขู่เข็ญผู้เสียหายโดยประสงค์ต่อทรัพย์มาแต่แรก ไม่ใช่เป็นการข่มขืนใจให้ผู้เสียหายยอมให้เงินบางส่วนโดยใช้กำลังประทุษร้ายตามที่จำเลยฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 จึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 83
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 ลงโทษจำคุก 10 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ความแตกต่างระหว่างความผิดฐานชิงทรัพย์กับความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ตามบทบัญญัติของกฎหมายมิได้อยู่ที่จำนวนทรัพย์สินที่ผู้กระทำผิดได้ไปว่าจะเป็นทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วนดังที่จำเลยฎีกา เพราะไม่ว่าคนร้ายจะได้ทรัพย์สินไปเพียงใด การกระทำความผิดก็เกิดขึ้นแล้วเช่นกัน แต่ข้อสาระสำคัญอยู่ที่ว่าความผิดฐานชิงทรัพย์ต้องมีฐานเดิมจากความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 โดยคนร้ายใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์นั้นหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้นตามความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 (2) โดยการลักทรัพย์กับการใช้กำลังประทุษร้ายต้องไม่ขาดตอนหรือเป็นการลักทรัพย์ที่ต้องมีการขู่เข็ญให้ปรากฏว่าในทันทีทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายต่อเนื่องกันไป เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่าถูกจำเลยตบหน้าทันทีที่เปิดประตูห้อง เมื่อนายชาคริตตามเข้าไปปิดประตูห้อง จำเลยก็ล้วงมีดพับออกมาจี้ที่แก้มผู้เสียหายขู่ขอเงินไปซื้อสุรา พฤติการณ์ของจำเลยเช่นนั้นบ่งชี้ไปในทำนองว่าหากผู้เสียขัดขืนไม่ให้เงินก็จะถูกประทุษร้ายต่อเนื่องไปในทันใดนั้นแสดงให้เห็นว่ามุ่งหมายมาทำร้ายและขู่เข็ญผู้เสียหายโดยประสงค์ต่อทรัพย์มาแต่แรกไม่ใช่เป็นการข่มขืนใจให้ผู้เสียหายยอมให้เงินบางส่วนโดยใช้กำลังประทุษร้ายตามที่จำเลยฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 จึงชอบแล้ว
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษเพียงสถานเบานั้น ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 9 ลงโทษจำคุกจำเลย 10 ปี ตามอัตราขั้นต่ำของมาตรา 339 วรรคสอง นอกจากนั้นยังลดโทษให้อีกหนึ่งในสาม คงเหลือ 6 ปี 8 เดือน ซึ่งนับว่าเป็นคุณแก่จำเลยมากแล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะลงโทษจำคุกจำเลยในสถานเบากว่านั้นได้ ฎีกาทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน