คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3063/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมและความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ซึ่งผู้เสียหายถึงแก่ความตายด้วยโรคประจำตัว ผู้บุพการีไม่มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องหรือเข้าร่วมกับพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องแทนผู้เสียหาย เพราะไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของ ป.วิ.อ. มาตรา 3 (2) ประกอบมาตรา 5 (2) ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
จำเลยกับพวกร่วมกันนำเอาโฉนดที่ดินของผู้เสียหายและแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจที่มีเพียงลายมือชื่อของผู้เสียหายลงไว้ในช่องผู้มอบอำนาจไปโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วนำไปกรอกข้อความว่าผู้เสียหายมอบอำนาจให้จำเลยยื่นขอจดทะเบียนโอนที่ดินของผู้เสียหายให้แก่จำเลยโดยเสน่หา เป็นการกระทำความผิดฐานทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 188 และเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 83 แต่การกระทำความผิดดังกล่าวก็เพื่อโอนที่ดินเป็นของจำเลยซึ่งเป็นเจตนาเดียว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 188 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 264, 268, 83, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางถ้ายมารดาของนายวิสุทธิ์ผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 และมาตรา 264 วรรคสอง, 268 วรรคสอง, ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น จำคุก 1 ปี ฐานใช้เอกสารปลอม จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ว่าโจทก์ร่วมเป็นมารดาของนายวิสุทธิ์ผู้เสียหายมีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์แทนผู้เสียหายหรือไม่ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ เห็นว่า ผู้บุพการีมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาหรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้เฉพาะแต่ในความผิดอาญา ซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 3 (2) ประกอบมาตรา 5 (2) แต่คดีนี้เป็นคดีความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมและความผิดเกี่ยวกับเอกสารซึ่งผู้เสียหายถึงแก่ความตายด้วยโรคประจำตัวของผู้เสียหายเอง กรณีของโจทก์ร่วมจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้โจทก์ร่วมมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายโดยเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้นางถ้ายมารดาของผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ จึงให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวเสีย
ปัญหาข้อต่อไปที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 หรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือมอบอำนาจและข้อนำสืบของจำเลยระบุว่ามอบอำนาจวันที่ 25 ธันวาคม 2541 ปรากฏว่าผู้เสียหายป่วยจนแพทย์รับตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลวัฒนแพทย์ตรัง ตามบัตรตรวจโรคระหว่างวันที่ 17 ถึง 24 ธันวาคม 2541 และในวันที่ 25 ธันวาคม 2541 ผู้เสียหายได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลดังกล่าวอีกจนถึงวันที่ 28 ธันวาคม 2541 ซึ่งแพทย์ผู้ทำการตรวจรักษาวินิจฉัยว่าผู้เสียหายเป็นโรคเบาหวานมีไข้สูงเนื่องจากติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งนายศักดิ์ชัยแพทย์ผู้ทำการตรวจรักษาเบิกความยืนยันว่า ตามใบตรวจรักษา ผู้เสียหายมีอาการอ่อนเพลีย มีไข้เล็กน้อย รับประทานอาหารไม่ได้ พยานทำการรักษาโดยให้น้ำเกลือ จากการตรวจผู้เสียหายมีระดับน้ำตาลค่อนข้างสูง ขณะที่ผู้เสียหายเข้ารับการรักษาเป็นเวลานอกเวลาทำการของโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลจะต้องรับตัวผู้เสียหายไว้ที่ห้องฉุกเฉิน บุคคลภายนอกไม่อนุญาตให้เข้าเยี่ยมได้ ที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยไปที่โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ตรัง นำหนังสือมอบอำนาจให้ผู้เสียหายลงลายมือชื่อเวลาประมาณ 16 นาฬิกา จึงเป็นเวลาก่อนที่ผู้เสียหายจะไปถึงโรงพยาบาล นอกจากนั้น ขณะที่ผู้เสียหายอยู่ในห้องฉุกเฉิน ทางโรงพยาบาลไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นเข้าเยี่ยม ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะเข้าไปให้ผู้เสียหายลงลายมือชื่อในขณะอยู่ในห้องฉุกเฉิน นอกจากนั้นในวันดังกล่าวเวลาประมาณ 17 นาฬิกา นางอัมพาอ้างว่าได้ไปเยี่ยมผู้เสียหายที่โรงพยาบาลพร้อมกับนายปรีดา นางราศีและนางประเยี่ยม และให้บุคคลดังกล่าวลงลายมือชื่อเป็นพยานด้วย ไม่น่าเชื่อว่าบุคคลดังกล่าวเข้าไปดำเนินการเกี่ยวกับการมอบอำนาจในขณะดังกล่าวได้ สำหรับการกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจ จำเลยนำสืบว่า จำเลยนำแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจไปให้นางอัมพากรอกรายละเอียดให้ที่เทศบาลนครตรังซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของนางอัมพาเมื่อเวลาประมาณ 11 นาฬิกา ซึ่งในขณะดังกล่าวผู้เสียหายพักอยู่ที่บ้านยังไม่ได้ไปโรงพยาบาล แต่จำเลยกลับบอกว่าผู้เสียหายอยู่ที่โรงพยาบาลจนนางอัมพากับพวกไปเยี่ยมผู้เสียหายที่โรงพยาบาลดังกล่าวในตอนเย็น ยิ่งไปกว่านั้นข้อความที่นางอัมพาเขียนรับรองไว้ที่ด้านหลังหนังสือมอบอำนาจว่า ข้าพเจ้านางอัมพา ตำแหน่ง เจ้าพนักงานทะเบียน 5 ขอรับรองว่า ผู้มอบอำนาจมีความประสงค์จะกระทำการตามที่มอบอำนาจนี้จริง ผู้มอบอำนาจมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์และยังมีชีวิตอยู่ จึงลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน ก็ระบุว่าเขียนที่สำนักงานเทศบาลเมืองตรัง แต่นางอัมพาเบิกความว่า พยานเขียนข้อความดังกล่าวที่โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ตรัง และการมอบอำนาจก็มิได้มีระเบียบให้ต้องมีการรับรองดังกล่าว จึงไม่มีเหตุที่พยานจะต้องเขียนคำรับรองดังกล่าวไว้ ข้อความรับรองดังกล่าวไม่น่าเชื่อว่ากระทำกันที่โรงพยาบาลในขณะที่ผู้เสียหายนอนรับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจริง สำหรับพยานฝ่ายโจทก์มีนางขิ้มพี่สาวของผู้เสียหายซึ่งลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจเบิกความยืนยันว่า พยานไม่ได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในวันที่ระบุในหนังสือมอบอำนาจ แต่ได้ลงลายมือชื่อไว้ก่อนหน้านี้เพื่อขอออกโฉนดที่ดิน แต่เจ้าพนักงานออกโฉนดที่ดินให้ไม่ได้ นอกจากนั้น ผู้เสียหายก็ได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่นำหนังสือมอบอำนาจไปทำให้เสียหายดังกล่าว พยานของโจทก์ประกอบกับข้อพิรุธของหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า จำเลยเอาไปเสียซึ่งเอกสารหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความแต่มีลายมือชื่อของผู้เสียหายในช่องผู้มอบอำนาจ และโฉนดที่ดินเลขที่ 12207 ของผู้เสียหายไปโดยไม่ได้รับอนุญาต ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย อันเป็นความผิดฐานทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียหรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 และร่วมกับพวกกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวว่าผู้เสียหายมอบอำนาจให้จำเลยยื่นขอจดทะเบียนการให้โดยเสน่หาที่ดินของผู้เสียหายแก่จำเลย และใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดตรังให้หลงเชื่อจนจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 12207 แก่จำเลย อันเป็นความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 83 จำเลยจึงกระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่การที่จำเลยกระทำความผิดดังกล่าวก็เพื่อโอนที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยซึ่งเป็นเจตนาเดียว ความผิดของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวกัน และต้องลงโทษจำเลยเพียงกรรมเดียว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมาเป็น 2 กรรม ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ นอกจากนั้นขณะเกิดเหตุจำเลยกับผู้เสียหายอยู่กินฉันสามีภริยากัน ความผิดของจำเลยจึงไม่ร้ายแรงนัก ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไปโดยรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยไว้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วยเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 มาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของนางถ้าย

Share