คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6456/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

++ เรื่อง ฉ้อโกง (ชั้นไต่สวนมูลฟ้อง) ++
การกระทำอันเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 คือการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และการกระทำดังกล่าวผู้กระทำต้องมีเจตนามาตั้งแต่ต้น ตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 3 มีวัตุประสงค์ในการรับจ้างซ่อมแซมรถยนต์ โดยมีจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่เพียงจัดการซ่อมแซมรถยนต์ที่โจทก์นำไปซ่อมกับจำเลยที่ 3ให้ใช้การได้ดีและปลอดภัยเท่านั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งให้โจทก์ทราบว่ารถยนต์คันที่โจทก์นำไปซ่อมเจ้าของเดิมไม่ยอมซ่อมเพราะราคาสูง การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่แจ้งให้โจทก์ทราบถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์ยี่ห้อออดี้ โดยซื้อมาจากเต็นท์บริการขายรถใช้แล้ว จำเลยที่ ๑ เป็นที่ปรึกษาด้านบริการ จำเลยที่ ๒ เป็นผู้จัดการฝ่ายบริการของจำเลยที่ ๓ และเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ ส่วนจำเลยที่ ๓มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการซื้อขาย และรับซ่อมรถยนต์โดยเฉพาะรถยนต์ยี่ห้อออดี้ รถยนต์ของโจทก์มีอาการกินน้ำมันและควันดำ เกียร์มีอาการกระตุกขณะเปลี่ยนจากเกียร์ ๒ ไปเกียร์ ๓ และจากเกียร์ ๓ ไปเกียร์ ๔โจทก์จึงขับเข้าอู่ของจำเลยที่ ๓ เพื่อทำการตรวจเช็คและขอให้เสนอราคาค่าซ่อมจำเลยที่ ๑ ซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบการตรวจเช็คและเสนอราคาค่าซ่อมรถคันนี้จำเลยที่ ๑ รู้ดีแล้วว่ารถยนต์คันนี้เจ้าของเดิมเคยถูกชนมา และมีประวัติการซ่อมอยู่ที่จำเลยที่ ๓ และเคยแจ้งค่าซ่อมให้แก่เจ้าของเดิมแล้วแต่ไม่ซ่อมเพราะราคาสูงมากซึ่งจำเลยที่ ๑ ควรแจ้งความจริงนั้นให้โจทก์ทราบก่อน แต่ไม่แจ้งกลับปกปิดไว้เพราะรู้ว่าถ้าแจ้งให้โจทก์ทราบก่อน โจทก์อาจไม่ซ่อมเช่นเดียวกับเจ้าของเดิม ต่อมาจำเลยที่ ๑โดยเจตนาทุจริตทำให้โจทก์เชื่อว่าถ้าสั่งซ่อมตามใบเสนอราคาที่จำเลยที่ ๓ โดยจำเลยที่ ๑ ส่งมาให้โจทก์ลงชื่อสั่งซ่อมแล้วรถจะอยู่ในสภาพใช้ได้ดี และจำเลยที่ ๓รับประกันการใช้ให้เป็นเวลา ๑ ปีด้วย โจทก์จึงได้ลงชื่อสั่งซ่อมไปในใบเสนอราคาที่จำเลยที่ ๑ ส่งมาโดยโทรสาร เมื่อหักส่วนลดแล้วคงเหลือจำนวน ๑๐๔,๓๐๔ บาทต่อมาโจทก์ไปขอรับรถ เมื่อโจทก์นำรถไปลองขับร่วมกับจำเลยทื่ ๑ ปรากฏว่ารถยังไม่อยู่ในสภาพใช้ได้ดี จำเลยที่ ๓ จึงไม่สามารถส่งรถได้ในวันนั้น ต่อมาจำเลยที่ ๓โดยจำเลยที่ ๒ ได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าทางโทรสารว่า การซ่อมนั้นเป็นเพียงการซ่อมตามใบเสนอราคาฉบับลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๔๒ เท่านั้น ถ้าจะให้รถอยู่ในสภาพที่ใช้ได้ดี และจำเลยที่ ๓ รับประกันการใช้ให้ด้วย โจทก์จะต้องสั่งซ่อมเพิ่มเติมอีกเป็นเงิน ๑๖๕,๓๗๑ บาท ทั้งนี้เพราะรถคันนี้เคยประสบอุบัติเหตุมาก่อน จำเลยที่ ๓ได้เคยแจ้งให้เจ้าของเดิมซ่อมแล้วไม่ยอมซ่อม จึงแสดงว่าเมื่อตอนที่จำเลยที่ ๓ โดยจำเลยที่ ๑ เสนอราคาให้โจทก์สั่งซ่อมตามใบเสนอราคาลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๔๒กลับปกปิดความจริงเรื่องนี้ไว้โดยมีเจตนาจะให้โจทก์หลงเชื่อว่าถ้าสั่งซ่อมตามนั้นแล้วรถยนต์จะอยู่ในสภาพใช้ได้ดี ครั้นเมื่อโจทก์ไปขอรับรถ ปรากฏว่ารถไม่อยู่ในสภาพดีตามที่จำเลยที่ ๓ รับรองให้ซ่อม และเมื่อโจทก์ไม่ยอมสั่งซ่อมเพิ่มเติมตามที่จำเลยที่ ๒เสนอมา แต่ขอให้จำเลยที่ ๓ ส่งมอบรถคืนในสภาพเดิม จำเลยที่ ๓ ไม่ยอมส่งมอบรถคืน แต่กลับให้จำเลยที่ ๒ แจ้งมาว่า จำเลยที่ ๓ ได้ซ่อมตามใบเสนอราคาลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๔๒ แล้ว ถ้าโจทก์ไม่ยอมจ่ายค่าซ่อมจำนวน ๑๕๓,๒๒๖ บาทจำเลยที่ ๓ จะไม่คืนรถให้ การกระทำของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีเจตนาเพื่อจะให้จำเลยที่ ๓ ได้รับประโยชน์โดยทุจริต ทำให้โจทก์หลงเชื่อจึงได้ลงชื่อในใบเสนอราคาสั่งซ่อมรถยนต์ของโจทก์ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๔๒ อันถือเป็นเอกสารสิทธิให้แก่จำเลยที่ ๓ ไป แล้วจำเลยที่ ๓ ได้อ้างเอกสารสิทธิฉบับนี้มายึดครองรถยนต์ของโจทก์ไว้เพื่อจะบีบบังคับเอาเงินจำนวน ๑๕๓,๒๒๖ บาท จากโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะโจทก์ได้ทำเอกสารสิทธินั้นให้จำเลยไว้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑, ๘๓, ๙๑ และให้คืนรถยนต์ยี่ห้อออดี้ หมายเลขทะเบียน ภค – ๘๒๓๑ กรุงเทพมหานคร แก่โจทก์
ศาลชั้นต้นงดไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามตามฟ้องครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ หรือไม่ เห็นว่า การกระทำอันเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ คือการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และการกระทำดังกล่าวผู้กระทำต้องมีเจตนามาตั้งแต่ต้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๕๙ วรรคหนึ่งด้วย คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ ๓ มีวัตุประสงค์ในการรับจ้างซ่อมแซมรถยนต์ โดยมีจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นลูกจ้างดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ ๓ ดังกล่าว จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จึงมีหน้าที่เพียงจัดการซ่อมแซมรถยนต์ที่โจทก์นำไปซ่อมกับจำเลยที่ ๓ ให้ใช้การได้ดีและปลอดภัย จำเลยที่ ๑และที่ ๒ หามีหน้าที่ต้องแจ้งให้โจทก์ทราบว่ารถยนต์คันที่โจทก์นำไปซ่อมดังกล่าวมีประวัติอยู่ที่จำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๓ เคยแจ้งให้เจ้าของเดิมทราบแล้ว แต่เจ้าของเดิมไม่ยอมซ่อมเพราะราคาสูงแต่ประการใดไม่ การที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่แจ้งให้โจทก์ทราบดังกล่าวถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งตามที่โจทก์ฎีกา การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑
พิพากษายืน.

Share