แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้รับประโยชน์แจ้งให้ผู้รับประกันภัยทราบถึงเรื่องรถยนต์หายและขอให้ใช้ค่าทดแทนตามสัญญา ถือได้ว่าแจ้งแทนผู้เอาประกันภัยแล้วทั้งเงื่อนไขในสัญญาก็หาได้กำหนดว่า ถ้าผู้เอาประกันภัยไม่แจ้งให้ทราบในเวลาอันสมควร ผู้รับประกันภัยจะพ้นจากความรับผิด กลับกำหนดไว้ว่าอาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายใด ๆ อันเกิดจากการไม่แจ้งให้ทราบเท่านั้น ผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 56,290 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีเฉพาะจำเลยที่ 3 มีทุนทรัพย์เพียง 25,000 บาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ฎีกาของจำเลยที่ 3 มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยคือฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ การที่จำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยไม่แจ้งเรื่องรถยนต์หายให้จำเลยที่ 3 ทราบโดยตรงแต่กลับให้โจทก์แจ้งแทนจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยหรือไม่ และศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 3 ใช้แทนโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ปัญหาข้อแรกจำเลยที่ 3 อ้างว่าฟ้องเคลือบคลุมเพราะโจทก์ไม่แยกฟ้องตามมูลสัญญาเช่าซื้อและสัญญาประกันภัยออกจากกัน และขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่าข้ออ้างทั้งสองประการนั้นไร้สาระ เพราะฟ้องจะเคลือบคลุมหรือไม่นั้น ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาหรือไม่ หาได้เกี่ยวกับข้อที่จำเลยอ้างเลยไม่ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อ 2 จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยหรือไม่จำเลยที่ 3 ฎีกาอ้างเหตุปฏิเสธความรับผิดว่า เพราะจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยไม่แจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบในเวลาอันสมควรตามเงื่อนไขทั่วไปข้อ 1.3.1 ในสัญญาประกันภัย ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2521รถยนต์ที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้หายไปจากที่จอดประจำ จำเลยที่ 1 ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางกอกใหญ่ในวันเดียวกันตามเอกสารหมาย จ.7 แล้วจำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ทราบโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 23 มิถุนายน 2521 แจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบ จำเลยที่ 3ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 เดียวเดียวกันตามเอกสารหมาย จ.8 จ.9ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้เอาประกันภัยก็ตาม แต่โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ การที่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบถึงเรื่องรถยนต์หายและขอให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าทดแทนตามสัญญาถือได้ว่าแจ้งแทนจำเลยที่ 1ผู้เอาประกันภัยแล้ว ทั้งเงื่อนไขตามข้อ 1.3.1 ก็หาได้กำหนดว่าถ้าผู้เอาประกันไม่ปฏิบัติแล้วจำเลยที่ 3 พ้นจากความรับผิดตามสัญญา กลับกำหนดไว้ว่าอาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายใด ๆ อันเกิดจากการที่ผู้เอาประกันภัยไม่แจ้งให้ทราบเท่านั้น จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย
ปัญหาเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 3เสียแทนโจทก์นั้น เนื่องด้วยคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 3 มีทุนทรัพย์ 25,000 บาทศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ทั้งหมด และศาลอุทธรณ์ให้รับผิดเพียงครึ่งหนึ่งนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมเกินกว่าทุนทรัพย์ที่จำเลยที่ 3 ถูกฟ้องไม่ชอบด้วยพิจารณาศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดเสียใหม่ให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 เสียค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลของทุนทรัพย์ 25,000 บาท โดยกำหนดค่าทนายความ1,000 บาท ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 600 บาทแทนโจทก์”