คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 686/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลไม่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่าที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบในประเด็นดังกล่าวเพราะจะเป็นการนำสืบนอกประเด็น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้เข้าครอบครองที่พิพาทซึ่งเป็นของจำเลยมาโดยสงบเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปี โจทก์จึงได้สิทธิครอบครอง ต่อมาจำเลยขอออกโฉนดที่ดินพิพาท เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่พิพาทห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลย โจทก์ได้เช่าที่พิพาทจากจำเลย เมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าจำเลยได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมออกจากที่พิพาท ทำให้จำเลยเสียหาย ขอศาลพิพากษาให้ขับไล่โจทก์และบริวารออกจากที่พิพาทและใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสัญญาเช่าระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ได้อ้างเอกสารและขอให้ศาลหมายเรียกเอกสารที่โจทก์อ้างจากเมืองพัทยา วันที่ 27 กรกฎาคม2531 ปลัดเมืองพัทยามีหนังสือแจ้งต่อศาลชั้นต้นว่า เอกสารเกี่ยวกับเรื่องขอขึ้นทะเบียนผู้เช่าที่สาธารณะรายร้อยตรีประสานและจำเลยยังตรวจไม่พบจึงไม่สามารถจัดส่งให้ทันเวลาได้ วันที่ 6 กันยายน2531 ศาลชั้นต้นเรียกนายจำลอง ปัญจศิริ ปลัดเมืองพัทยามาสอบถามนายจำลองแถลงว่า เอกสารดังกล่าวไม่สามารถส่งต่อศาลได้เพราะยังค้นหาไม่พบ โจทก์แถลงว่ายังติดใจที่จะนำเอกสารดังกล่าวเข้าสืบ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า เมื่อพัทยาได้พยายามค้นหาหลายครั้งแต่ไม่พบคงไม่สามารถนำมาส่งต่อศาลได้ จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานเอกสารดังกล่าว และเห็นว่านายปราโมทย์ นายโชติชัยเคยเป็นปลัดเมืองพัทยา เช่นเดียวกับร้อยตำรวจตรีวิจิตร ซึ่งเบิกความไปแล้วส่วนพันตำรวจโทอุดม สุขุม เป็นผู้จับกุมดำเนินคดีผู้บุกรุกและก่อสร้างที่พิพาท โจทก์จะนำสืบพยานโจทก์ทั้งสามปากในประเด็นว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณะซึ่งศาลไม่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้อันเป็นการสืบนอกประเด็น จึงไม่อนุญาตให้ส่งประเด็นไปสืบนายปราโมทย์ นายโชติชัยและพันตำรวจโทอุดมและมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์ทั้งสามปากดังกล่าว โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้เพียงว่า (1) โจทก์เช่าที่พิพาทจากจำเลยหรือไม่ (2) โจทก์ได้สิทธิครอบครองที่พิพาทโดยแย่งการครอบครองหรือไม่ (3) โจทก์ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้จำเลยหรือไม่เพียงใดโดยไม่ได้กำหนดประเด็นว่าที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ ปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเพียงว่า โจทก์จะนำพยานเข้าสืบในข้อที่ว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินได้หรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเรื่องที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท โจทก์จึงไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบในเรื่องดังกล่าวเพราะจะเป็นการนำสืบนอกประเด็น แม้โจทก์จะได้นำสืบถึงว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินไว้บ้างก็เป็นการนำสืบนอกประเด็นเป็นการมิชอบ ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานเอกสารและงดส่งประเด็นไปสืบพยานบุคคลของโจทก์ที่เกี่ยวกับว่า ที่พิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ จึงเป็นการชอบแล้ว ส่วนที่โจทก์อ้างว่าได้คัดค้านการกำหนดประเด็นข้อพิพาทของศาลชั้นต้นไว้แล้ว และปัญหาว่าที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ เป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย โจทก์สามารถนำพยานเข้าสืบได้นั้นเป็นข้อที่โจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้านไว้เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาจึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาในศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้โจทก์นำพยานเข้าสืบในเรื่องที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share