คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6453/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนว่าการโฆษณาในสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ฉบับหน้าเหลืองภาษาอังกฤษเป็นการโฆษณาของบริษัทอื่นไม่ใช่ของบริษัทจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 กระทำไปโดยปราศจากอำนาจ และจำเลยที่ 1 ไม่ให้สัตยาบัน จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ให้การต่อสู้คดีไว้ตั้งแต่แรกว่าไม่เคยมอบหมายให้จำเลยที่ 2 ทำการใด ๆ แทนจำเลยที่ 1 ผลแห่งการวินิจฉัยดังกล่าวทำให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 มูลความแห่งคดีจึงมิได้เป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ อันจะนำ ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) มาใช้บังคับจึงนำเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ให้การต่อสู้ไว้มิได้
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยของต้นเงินค่าจ้างนับแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2537 ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2537 จึงเป็นการพิพากษากำหนดดอกเบี้ยให้เกินไปกว่า ที่ปรากฏในคำฟ้องต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ก็ตาม แต่ก็เป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคล เมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๓๗ จำเลยทั้งสองร่วมกันว่าจ้างโจทก์ลงโฆษณาในสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์เล่มรวมหมวดธุรกิจฉบับหน้าเหลืองภาษาอังกฤษเขตพระนครหลวง ประจำปี ประเภทธุรกิจดูดความชื้น – อุปกรณ์ ซึ่งเป็นธุรกิจของจำเลยทั้งสอง ตกลงค่าจ้างจำนวน ๗๐,๘๓๐ บาท และจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้ให้โจทก์เมื่อได้มีการตีพิมพ์โดยแบ่งชำระเป็น ๓ งวดเท่า ๆ กัน งวดแรกชำระในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๓๗ งวดที่สองชำระในวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๓๗ และงวดที่สามชำระในวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๓๗ หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งถือว่าผิดนัดทั้งหมด จำเลยทั้งสองยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี จากยอดที่ค้างชำระ ในการว่าจ้างโจทก์ ลงโฆษณาดังกล่าวได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือโดยมีจำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อในใบสั่งโฆษณา โจทก์พิมพ์โฆษณา ใส่สมุดโทรศัพท์ให้จำเลยทั้งสองเรียบร้อยแล้ว เมื่อถึงกำหนดชำระเงิน โจทก์ส่งใบแจ้งหนี้ให้จำเลยทั้งสองเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย จำเลยทั้งสองต้องชำระค่าจ้างจำนวน ๗๐,๘๓๐ บาท และค่าภาษีมูลค่าเพิ่มอีกร้อยละ ๗ จากยอดเงินค่าจ้างจำนวน ๔,๙๕๙ บาท และโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินค่าจ้างตั้งแต่วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๓๗ จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๒๘,๓๓๒ บาท รวมต้นเงินภาษีมูลค่าเพิ่มและดอกเบี้ยเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๐๔,๑๒๑ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสอง ร่วมกันชำระเงินจำนวน ๑๐๔,๑๒๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๗๐,๘๓๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ ๒ รับผิดใช้เงินตามฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๒ ชำระเงินจำนวน ๗๕,๗๘๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ เจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน ๗๐,๘๓๐ บาท นับแต่วันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๓๗ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๒ ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ ๒ เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๘ คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะในข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ ๒ ว่า การที่จำเลยที่ ๑ ยกอายุความขึ้นต่อสู้คดีมีผลไปถึงจำเลยที่ ๒ ซึ่งมิได้ยกเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้คดีไว้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๙ (๑) จึงต้องฟังว่าคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ ขาดอายุความไปด้วยหรือไม่ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓๘ ประกอบมาตรา ๒๔๗ ว่า การโฆษณาในสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ฉบับหน้าเหลืองภาษาอังกฤษตามเอกสารหมาย จ.๗ แผ่นที่ ๒ เป็นการโฆษณาของบริษัทยูบีทีเอนจิเนียริ่ง จำกัด ไม่ใช่บริษัทจำเลยที่ ๑ แต่เป็นบริษัทในเครือของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทของจำเลยที่ ๑ และกระทำไปโดยปราศจากอำนาจ และจำเลยที่ ๑ ไม่ให้สัตยาบัน จำเลยที่ ๒ จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๒๓ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ก็ให้การต่อสู้คดีไว้ตั้งแต่แรกว่าไม่เคยมอบหมายให้จำเลยที่ ๒ ทำการใด ๆ แทน จำเลยที่ ๑ ผลแห่งการวินิจฉัยกล่าวทำให้จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๒ มูลแห่งคดีจึงมิได้เป็นการชำระหนี้แบ่งแยกกันมิได้ อันจะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๙ (๑) มาใช้บังคับ จึงนำเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องจำเลยที่ ๒ ซึ่งมิได้ให้การต่อสู้ไว้มิได้
อย่างไรก็ตาม คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ ๒ ชำระดอกเบี้ยของต้นเงินค่าจ้างนับแต่วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๓๗ แต่ศาลอุทธรณ์กลับพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๓๗ จึงเป็นการพิพากษากำหนดดอกเบี้ยให้เกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ วรรคหนึ่ง แม้จำเลยที่ ๒ จะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ก็ตาม แต่ก็เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกา มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๒ ชำระเงินจำนวน ๗๕,๗๘๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงิน ๗๐,๘๓๐ บาทนับแต่วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๓๗ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ .

Share